คนไทยอาจจะโล่งใจไปได้ระยะหนึ่ง หลังจากที่โฆษกรัฐบาลชี้แจงว่านายกรัฐมนตรีได้ทราบถึงความกังวลของประชาชน จึงให้ฝ่ายกฎหมายไปตรวจสอบเพื่อดูว่าร่างกฎหมายไซเบอร์ให้อำนาจเจ้าหน้าที่รัฐตรวจค้นข้อมูลส่วนตัว และดักฟังข้อความการสนทนาของประชาชน หรือให้ บุกค้นและยึดอุปกรณ์คอมพิวเตอร์ได้โดยไม่ต้องมีหมายศาล และเลขาธิการมีอำนาจมากเกินไปหรือไม่
แสดงว่านายกรัฐมนตรีสั่งให้ทบทวนร่างกฎหมายที่มีชื่อเต็มว่า ร่าง พ.ร.บ.ว่าด้วยการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ที่ถูกตีความว่าให้อำนาจเจ้าหน้าที่รัฐดักฟังการสนทนาของโทรศัพท์ของประชาชนได้ บุกตรวจค้นและยึดโทรศัพท์มือถือได้ นายกรัฐมนตรีบอกผ่านโฆษกรัฐบาลว่าอย่าเพิ่งหวั่นไหว เพราะร่าง พ.ร.บ.นี้จะต้องผ่าน การพิจารณาของ สนช.ถึง 3 วาระ
เท่ากับปลอบใจให้ใจเย็นๆ เพราะ ยังมีเวลาอีกนานกว่าร่าง พ.ร.บ.นี้จะเป็นกฎหมาย และรัฐบาลก็ให้ทบทวนในเรื่องที่ประชาชนกังวล แต่อาจจะไม่มีเวลามากนัก เพราะ สนช.ซึ่งมาจากการแต่งตั้งของ คสช. เคยสร้างปาฏิหาริย์ผ่านร่างกฎหมาย 3 วาระรวดภายในไม่กี่ชั่วโมง แม้แต่ร่างกฎหมายสำคัญ คือ พ.ร.บ.อนุมัติงบประมาณรายจ่ายกว่า 2 ล้านล้านบาท
ในโลกยุคเทคโนโลยีสารสนเทศ ก้าวหน้า รัฐบาลอาจจำเป็นต้องมีกฎหมายเพื่อรักษาความมั่นคงและความปลอดภัยจากภัยไซเบอร์ แต่จะต้องปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญอย่างเคร่งครัด เพราะเป็นร่างกฎหมายจำกัดสิทธิเสรีภาพประชาชน จะต้องจัดการรับฟังความเห็นของผู้เกี่ยวข้อง คือประชาชนทั้งประเทศ และวิเคราะห์ผลกระทบรอบด้านตาม ม.77 ของรัฐธรรมนูญ
นับแต่เข้าบริหารประเทศเป็น ต้นมา รัฐบาลได้ออกกฎหมายลิดรอนเสรีภาพประชาชนมาหลายฉบับ โดยไม่มีการรับฟังความคิดเห็นประชาชนอย่างแท้จริง เช่น พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ แทนที่จะปกป้องเสรีภาพในการชุมนุมโดยสงบ และปราศจากอาวุธ กลายเป็นให้เจ้าหน้าที่รัฐมีอำนาจปิดกั้นการชุมนุม รวมทั้ง พ.ร.บ.ความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ ที่ใช้ปิดปากผู้ที่เห็นต่างรัฐบาลได้
...
กฎหมายไซเบอร์จะต้องไม่ขัดต่อ ม.36 ของรัฐธรรมนูญ ซึ่งบัญญัติไว้ว่าบุคคลย่อมมีเสรีภาพในการสื่อสารถึงกัน
ไม่ว่าในทางใดๆ การตรวจ การกัก หรือการเปิดเผยข้อมูลที่บุคคลสื่อสารถึงกัน รวมทั้งการกระทำใดๆเพื่อให้ล่วงรู้ หรือได้มาซึ่งข้อมูลที่บุคคลสื่อสารถึงกัน จะกระทำมิได้ เว้นแต่จะมีคำสั่งหรือหมายของศาล นี่คือบทบัญญัติของกฎหมายสูงสุด
รัฐธรรมนูญระบุว่า ก่อนออกกฎหมายใดๆ นอกจากจะต้องจัดการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนแล้ว ยังต้องมี
การวิเคราะห์ผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจากกฎหมาย ฉบับนั้นอย่างรอบด้านและอย่างเป็นระบบ ไม่ใช่ทำแค่เป็นพิธีกรรม ทางที่ดีที่สุด รัฐบาลควรจะรอให้รัฐสภาชุดใหม่เป็นผู้พิจารณาหรือให้ความเห็นชอบ โดยเฉพาะสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งเป็นตัวแทนประชาชนที่แท้.