คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) อ้างว่าระบบการเลือกตั้งตามรัฐธรรมนูญใหม่จะทำให้ทุกคะแนนเสียงของประชาชนมีค่า ไม่มีสูญหาย ไม่มีคะแนนตกนํ้าแม้คะแนนเดียว เป็นคำกล่าวอ้างที่ไม่มีใครเถียง จนกระทั่ง ศ.ดร.เรืองวิทย์ เกษสุวรรณ อดีตอธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏชัยภูมิ เขียนบทความแสดงความคิดเห็นยืนยันว่าระบบใหม่จะมีคะแนนตกนํ้า

บทความของ ศ.ดร.เรืองวิทย์กล่าวว่า ผู้ร่างรัฐธรรมนูญสร้างความเข้าใจผิดให้คนไทยมาตลอด แต่แท้ที่จริงระบบใหม่จะทำให้คะแนนตกนํ้า จากการได้คะแนนไม่ถึงเกณฑ์จะได้ ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ เช่น ในเขตเลือกตั้งหนึ่ง พรรค ก.ได้ 63,526 คะแนน พรรค ข.ได้ 60,000 คะแนน พรรค ก.ได้เป็น ส.ส.เขต ส่วนพรรค ข.แม้จะสอบตก แต่นำคะแนนไปคิดเป็น ส.ส.บัญชีรายชื่อ

ถ้าผลการเลือกตั้งเป็นอย่างที่กล่าวข้างต้น จะไม่มีคะแนนตกนํ้า แต่ถ้าพรรค ก.ได้ 90,000 คะแนน แต่พรรค ข.ได้แค่ 3,000 คะแนน แบบนี้สุ่มเสี่ยงจะเป็นคะแนนตกนํ้า ถ้าพรรค ข.แพ้แบบหลุดลุ่ยในเขตอื่นๆด้วย จนไม่อาจนำคะแนนไปรวมคิดเป็น ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อได้ และความเชื่อที่ว่าพรรคที่ได้ ส.ส.เขตมาก จะได้ ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อน้อย ก็เป็นการเข้าใจผิด

มีเสียงตอบโต้จากอดีตโฆษก กรธ.ว่า การเลือกตั้ง ส.ส.แบบเขตตามระบบเดิม ผู้ที่ได้คะแนนสูงสุดเป็นผู้ชนะ ได้เป็น ส.ส.เพียงคนเดียว ส่วนคะแนนของคนที่สอบตกเป็นคะแนนตกนํ้า แต่ในระบบใหม่ คนที่ได้คะแนนสูงสุดเป็นผู้ชนะ แต่คะแนนของผู้ที่สอบตกไม่ได้หายไป เพราะจะเอาคะแนนไปรวมกันทั่วประเทศ เป็นคะแนนพรรค และเป็นคะแนน ส.ส.แบบบัญชี

เป็นข้อถกเถียงทางวิชาการที่น่าสนใจ ทำให้ประชาชนได้รับฟังแง่มุมใหม่ๆ ส่วนระบบการเลือกตั้งไม่ว่าจะเป็นระบบเดิม หรือระบบจัดสรรปันส่วนผสม ที่ กรธ.อ้างว่าดีวิเศษ ต่างมีทั้งจุดดีและจุดเสีย ระบบเดิมทำให้พรรคที่ไม่ได้ ส.ส.เขตเลย แต่ได้ ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อมาถึง 8 ที่นั่ง ในการเลือกตั้ง 2554 เช่น พรรครักประเทศไทยได้ ส.ส.แบบบัญชีถึง 4 ที่นั่ง

...

ระบบการเลือกตั้งแบบเดิม แก้ปัญหาคะแนนตกนํ้าได้บางส่วน เพราะใช้บัตรเลือกตั้ง 2 ใบ ใบแรกเลือก ส.ส.เขต ใบที่ สองเลือกพรรคได้ ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ ผู้สมัครของพรรคใดแพ้เลือกตั้งในเขต แต่ก็ยังมีคะแนนพรรคจากบัตรเลือกตั้งใบที่สอง นำไปคิดเป็น ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ ระบบเดิมยังสนองความต้องการของคนบางกลุ่ม ที่ชอบ “เลือกคนที่รักเลือกพรรคที่ชอบ”

คนบางส่วนอาจจะชอบผู้สมัครของพรรค ก. จึงเลือกเป็น ส.ส.เขต แต่ไม่ชอบพรรคของ ก. จึงมีทางเลือกให้เลือกพรรคอื่นๆที่ชอบได้ ส่วนระบบใหม่บังคับให้เลือกคนหรือพรรคที่ไม่ชอบ และส่งเสริมให้เลือกตัวบุคคลมากกว่าเลือกพรรค สวนทางกับประชาธิปไตยระบบรัฐสภา เพราะทำให้พรรคอ่อนแอ และทำให้ได้รัฐบาลที่อ่อนแอ.