สุดสัปดาห์นี้ 12–14 ตุลาคม กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) กับ ธนาคารโลก จะไปประชุมประจำปีกันที่ เกาะบาหลี อินโดนีเซีย มี รัฐมนตรีคลัง ผู้ว่าการแบงก์ชาติ จากสมาชิก 189 ประเทศไปร่วมประชุมกันอย่างคับคั่ง เมื่อวันอังคาร ดร.วิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการแบงก์ชาติ เลยถือโอกาสเชิญผู้ว่าการแบงก์ชาติยุโรปหลายคนไปร่วมเสวนากันที่แบงก์ชาติในหัวข้อ Shaping the Future of Central Bank การปรับตัว ของ แบงก์ชาติในอนาคต ท่ามกลางเทคโนโลยีทางการเงินใหม่ๆที่เข้ามาท้าทายมากมาย

ในวันเดียวกัน ไอเอ็มเอฟ ได้เปิดเผย รายงานคาดการณ์เศรษฐกิจโลกฉบับใหม่ อ่านแล้วก็ว้าเหว่ สุขยังไม่ทันจะได้เสพโลกจะเข้าสู่เศรษฐกิจขาลง อีกแล้ว

รายงานไอเอ็มเอฟฉบับใหม่ ได้ปรับลดการขยายตัวของเศรษฐกิจโลกจาก 3.9% เมื่อ 3 เดือนก่อน ลงมาเหลือ 3.7% ในปีนี้และปีหน้า เป็นการปรับลดเศรษฐกิจโลกลงครั้งแรกของไอเอ็มเอฟ นับแต่เดือนกรกฎาคม 2016 แต่ยังไม่ปรับลดการขยายตัวของเศรษฐกิจสหรัฐฯในปีนี้ คาดว่าจะปรับลดลงในปีหน้า เป็นผลพวงจาก สงครามการค้าจีน สหรัฐฯ ที่บานไม่หุบ โดย ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ผู้นำสหรัฐฯ

ถ้าสงครามการค้ายังดำเนินไปอย่างต่อเนื่อง ไอเอ็มเอฟ คาดว่า ปี 2020 ผลผลิตโลกจะลดลงกว่า 0.08% ในระยะยาวจะตํ่ากว่าปกติ 0.4% ผลผลิตจีนก็จะลดลงกว่า 1.6% ผลผลิตสหรัฐฯในปีหน้าก็จะลดลงกว่า 0.9% จากการคำนวณด้วยโมเดลของไอเอ็มเอฟ ทำให้จีดีพีสหรัฐฯปีหน้าลดเหลือ 2.5% จีดีพีจีนปีหน้าก็ลดเหลือ 6.2% มีเพียง ญี่ปุ่น เท่านั้นที่จีดีพีขยายตัวเพิ่มขึ้นเป็น 1.1% ในปีนี้

ส่วน ตลาดเกิดใหม่ ก็จะเผชิญกับสภาวะ เงินทุนไหลออก ทำให้เศรษฐกิจมีความยากลำบากมากขึ้น เช่น อาร์เจนตินา บราซิล อิหร่าน ตุรกี รวมทั้ง ไทย ด้วย

อ่านคำพยากรณ์เศรษฐกิจโลกของไอเอ็มเอฟแล้ว ผมก็นึกถึงคำทำนายของ ศ.Nouriel Roubini จากนิวยอร์กยู ที่ผมเขียนถึงเมื่อเดือนก่อน ท่านทำนายว่า ในปี 2020 เงื่อนไขต่างๆของ “วิกฤติการเงินรอบใหม่” จะสุกงอมเต็มที่ และตามมาด้วย “ภาวะเศรษฐกิจถดถอยทั่วโลก” เป็นคำทำนายที่น่าสะพรึงกลัว สอดคล้องกับพยากรณ์ของ ไอเอ็มเอฟ โดย ศาสตราจารย์รูบินี ให้เหตุผลถึง 10 ข้อที่ทำให้วิกฤติการเงินสุกงอม

...

ลองไปอ่านคำทำนายของ ศาสตราจารย์รูบินี กันสักเล็กน้อยดูนะครับ

ประการแรก แรงกระตุ้นทางการเมืองการคลังในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา ผลักดันให้เศรษฐกิจสหรัฐฯขยายตัวสูงกว่า 2% แต่แนวโน้มไม่มั่นคงปี 2020 เงินกระตุ้นเศรษฐกิจหลายล้านล้านดอลลาร์จากธนาคารกลางจะยุติลง ซึ่งจะดึงให้การเติบโตของเศรษฐกิจสหรัฐฯลดลงจาก 3% ลงมาตํ่ากว่า 2%

ประการที่สอง จากการอัดฉีดเงินกระตุ้นเศรษฐกิจอย่างมากมาย ทำให้เศรษฐกิจสหรัฐฯในปัจจุบันอยู่ในสภาวะที่ร้อนแรงเกินไป (overheating) และ เงินเฟ้อขยับขึ้นไปอยู่เหนือเป้าหมาย ขณะเดียวกัน เฟด หรือ ธนาคารกลางสหรัฐฯ ก็ยังปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอ้างอิงอย่างต่อเนื่อง คาดว่าจะขึ้นไปถึง 3.5% ในปี 2020 ผลักดันให้ดอกเบี้ยระยะสั้นและระยะยาวขยับขึ้นไปด้วย รวมทั้งการแข็งค่าของเงินดอลลาร์ เงินเฟ้อจะเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ส่งผลให้ดัชนีเศรษฐกิจตัวอื่นๆขยับขึ้นไปด้วย ราคานํ้ามันก็จะปรับเพิ่มขึ้น และกลายเป็นแรงกดดันอีกปัจจัยที่ทำให้เงินเฟ้อเพิ่มขึ้น

ประการที่สาม การที่ ประธานาธิบดีทรัมป์ ทำสงครามการค้ากับ จีน ยุโรป เม็กซิโก แคนาดา และประเทศอื่นๆ จะกดดันให้เศรษฐกิจสหรัฐฯเติบโตช้าลง แต่ เงินเฟ้อเพิ่มขึ้น

เงินเฟ้อเป็นเรื่องน่ากลัว เมื่อเงินเฟ้อเพิ่มขึ้น ค่าเงินก็เล็กลง ราคาสินค้าก็แพงขึ้น ให้ดู เวเนซุเอลา เป็นตัวอย่างที่เงินเฟ้อพุ่งขึ้นไปถึง 500,000% ไก่ 1 ตัวหนัก 2.4 กก. ราคา 14.6 ล้านโบลิวาร์ จะอยู่กันยังไง รัฐบาลเลยต้องพิมพ์ธนบัตรใหม่ตัดศูนย์ออกไป 5 ตัว

เศรษฐกิจโลกวันนี้ ไม่ได้สวยงามอย่างที่ฝัน ที่ผมเป็นห่วงก็คือการลงทุนอย่างไม่บันยะบันยังของรัฐบาล ระมัดระวังหน่อยก็ดีนะครับ.

“ลม เปลี่ยนทิศ”