รัฐบาล คสช.เขียนนโยบายขจัดความเหลื่อมล้ำและสร้างความเป็นธรรมไว้ในรัฐธรรมนูญชั่วคราว 2557 และในยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ก็มียุทธศาสตร์การสร้างความเสมอภาคในสังคม แต่ไม่มีแผนปฏิบัติการสู่เป้าหมายที่เป็นรูปธรรม จึงมีเสียงวิจารณ์ว่ารัฐบาลมีนโยบายลดความเหลื่อมล้ำ น้อยกว่านโยบายเพิ่มช่องว่างระหว่างคนรวยกับคนจน
นักวิชาการบางคนวิจารณ์ทีมเศรษฐกิจของรัฐบาล ที่อ้างว่าความเหลื่อมล้ำจะลดลงเอง เมื่อเศรษฐกิจโตเร็วจากโครงการขนาดใหญ่ของรัฐ เช่น โครงการระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก หรืออีอีซี โดยไม่ต้องใช้นโยบายพิเศษ คล้ายกับจะบอกว่าเมื่อน้ำในเขื่อนใหญ่ล้น จะไหลทะลักสู่ที่นาของชาวบ้านเองโดยไม่ต้องมีคลองส่งน้ำ ถ้าเป็นเขื่อนที่ไม่รู้จักเต็มจะทำอย่างไร
ในการแสดงปาฐกถาในวาระ 45 ปี 14 ตุลา เมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมา ดร.ประสาร ไตรรัตน์วรกุล อดีตผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย และประธานคณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านเศรษฐกิจ กล่าวว่า 45 ปี ที่ผ่านมา เศรษฐกิจไทยขยายตัวเกือบ 10 เท่า แต่มีปัญหามากมาย มีอาการเหมือนกับผู้ป่วยเรื้อรัง แม้รัฐบาลจะให้ยาหลายขนาน แต่อาการกลับไม่ตอบสนอง
อดีตผู้ว่าการ ธปท.ระบุความเหลื่อมล้ำเป็นปัญหาสำคัญ ไทยมีปัญหาในอันดับต้นๆของโลก สาเหตุของความเหลื่อมล้ำ มาจากการพัฒนาที่เน้นปริมาณอย่างหยาบๆ เน้นแต่จีดีพีที่โตปีละมากๆ โดยไม่ได้ดูคุณภาพ การใช้นโยบายเศรษฐกิจเสรีที่ไร้กติกา คนมีทุนและโอกาสไม่เท่าเทียมกัน เศรษฐกิจยิ่งโตผู้ที่มีทุนมากกว่ายิ่งได้เปรียบ เข้าทำนองมือใครยาวสาวได้สาวเอา
แม้แต่การเติบโตของจีดีพีที่เน้นหนัก และรัฐบาลออกอาการดีใจอย่างออกหน้าออกตา เมื่อตัวเลขจีดีพีพุ่งขึ้นเป็น 4% ในไตรมาสแรกของปีนี้ เป็นครั้งแรกใน 5 ปี แต่โดยภาพรวมจีดีพีของไทยยังโตในอัตราที่ต่ำกว่าเพื่อนบ้านทุกประเทศ จากที่เคยโตเฉลี่ย 9% ก่อนที่จะเกิดวิกฤติต้มยำกุ้ง 2540 จากนั้นจีดีพีไทยโตเฉลี่ยแค่ 3.2% ติดกับดักประเทศที่มีรายได้ปานกลาง
...
นักวิชาการเตือนว่าความเหลื่อมล้ำ เป็นมรดกตกทอดที่สืบทอดกันจากรุ่นสู่รุ่น จากรุ่นปู่ย่าตายายจนถึงรุ่นลูกรุ่นหลาน ถ้าปล่อยทิ้งไว้จะกลายเป็นปัญหาร้ายแรง เป็นมูลเหตุของความขัดแย้งในสังคม และเป็นตัวถ่วงการพัฒนาเศรษฐกิจ จึงเสนอแนะแนวทางแก้ไข ให้เร่งสร้างความเสมอภาคด้านโอกาสการศึกษา การกระจายอำนาจและกระจายรายได้สู่ส่วนภูมิภาค
การแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำ ด้วยการแจกบัตรสวัสดิการเป็นค่าเดินทาง ค่าสินค้าอุปโภคบริโภคเพียงเดือนละไม่กี่ร้อยบาท ไม่อาจแก้ปัญหาได้อย่างยั่งยืน และไม่ต่างจากนโยบายประชานิยม หรือลดแลกแจกแถมในอดีต ที่มุ่งคะแนนนิยมทางการเมือง เป็นวิธีการที่คล้ายกับงานประชาสงเคราะห์หรือการกุศลที่มาจากภาษีของประชาชน.