เมื่อโควิด-19 มาแรงกว่าที่คิด 5 จีที่เคยถูกมองว่าเป็นเรื่องไกลตัว จึงกลายเป็นเทคโนโลยีที่ตอบโจทย์วิถีชีวิตยุคโควิดได้อย่างปัจจุบันทันด่วน โดยเฉพาะบริการด้านสาธารณสุข ซึ่งนอกจากช่วยลดความเสี่ยงในการสัมผัสคนไข้ของบุคลากรทางการแพทย์แล้ว 5 จียังช่วยสร้างโอกาสในการเข้าถึงบริการทางการแพทย์ของคนในพื้นที่ห่างไกลได้อย่างเท่าเทียมยิ่งขึ้น

โรงพยาบาลต้นแบบแห่งการรักษาพยาบาลผ่านเทคโนโลยี 5 จีรายแรกของไทย เกิดขึ้นจากความร่วมมือระหว่างราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ และบริษัทแอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือเอไอเอส ร่วมกันพัฒนาโซลูชันส์ 5 จีสำหรับการแพทย์ทางไกล (5 G Total Telemedicine Solutions) เต็มรูปแบบขึ้นที่โรงพยาบาลจุฬาภรณ์ ถนนแจ้งวัฒนะ กรุงเทพมหานคร

ภายใต้โซลูชันส์ดังกล่าว มีการใช้หุ่นยนต์ 5 จีช่วยดูแลผู้ป่วย, ระบบประมวลผล AI (ปัญญาประดิษฐ์) ที่ช่วยให้การวินิจฉัยโรคเร็วขึ้นหลายเท่าตัว, ระบบการปรึกษาแพทย์ทางไกล (Telemedicine) หรือปรึกษาหมอออนไลน์จากที่บ้าน เพื่อประโยชน์สูงสุดในการดูแลรักษาผู้ป่วยโควิด-19

...

เริ่มจากหุ่นยนต์บริการทางการแพทย์ 5 G ROBOT FOR CARE ทำหน้าที่เป็นผู้ช่วยแพทย์ในการดูแลพยาบาลผู้ป่วยโควิด-19 ใช้เทคโนโลยีขั้นสูงหลากหลาย อาทิ เทคโนโลยีอินฟราเรด ตรวจวัดอุณหภูมิร่างกายได้อย่างแม่นยำ (เมื่ออยู่ในตัวอาคารและอยู่ห่างจากหุ่นยนต์ประมาณ 30 เซนติเมตรโดยไม่มีวัตถุหรือบุคคลอื่นอยู่ในรัศมีใกล้เคียง), เทคโนโลยี 3 D Mapping กำหนดแผนที่เส้นทางเดินของหุ่นยนต์ ให้เคลื่อนที่เข้าหาผู้ป่วยได้โดยอัตโนมัติ, ระบบปรึกษาแพทย์ทางไกล (Telemedicine) ผ่าน Video Call เพื่อให้แพทย์ที่อยู่ด้านนอกห้องใช้สมาร์ทดีไวซ์ เชื่อมต่อมาที่ตัวหุ่นยนต์ พูดคุยและดูอาการคนไข้ภายในห้องพักได้ ช่วยหลีกเลี่ยงการเข้ามาสัมผัสหรือใกล้ชิดกับผู้ป่วยโดยตรง โดยขณะนี้หุ่นยนต์ได้ถูกนำไปใช้งาน ณ หอผู้ป่วยในโควิด-19 โรงพยาบาลจุฬาภรณ์

ต่อมาเป็นการนำ 5 จีไปใช้สนับสนุนระบบประมวลผลปัญญาประดิษฐ์ หรือ AI อัจฉริยะสำหรับเครื่อง CT Scan ปอด ผ่าน 5 จีเครื่องแรกของประเทศไทย ช่วยให้เครื่อง CT Scan สามารถส่งภาพปอดที่มีไฟล์ขนาดกว่า 300 MB ขึ้นไป ประมวลผลผ่านระบบ AI-assisted Medical Imaging Solutions for COVID-19 ได้อย่างรวดเร็ว โดยระบบ AI จะทำการเปรียบ เทียบภาพปอดของผู้ป่วยโควิด-19 ในประเทศจีนและไทยที่มีอยู่หลากหลายเคส บน Cloud Computing และประมวลผลว่าปอดของผู้ป่วยรายนี้มีแนวโน้มที่จะติดเชื้อโควิด-19 หรือไม่ และอยู่ในระยะไหน ซึ่งให้ผลแม่นยำ 96% ภายใน 30 วินาที จากที่เคยต้องใช้เวลาประมวลผลราว 1 ชั่วโมง ช่วยลดเวลาทำงานของบุคลากรทางการแพทย์ลงได้มาก นอกจากการวินิจฉัยที่แม่นยำและรวดเร็วขึ้น

และไม่ว่าโรงพยาบาลจะอยู่ในพื้นที่ใด ห่างไกลแค่ไหน หากมีการติดตั้งเครือข่าย 5 จี และนำเครื่องมือและอุปกรณ์ทางการแพทย์ไปใช้ ก็จะสามารถส่งภาพ CT Scan ขึ้นไปประมวลผลบน Cloud Computing และรับทราบผลการติดเชื้อโควิด-19 ได้ภายใน 30 วินาทีเช่นกัน

นอกจากนั้นโรงพยาบาลจุฬาภรณ์ยังได้เปิดบริการผ่านแอปพลิเคชัน “ME-MORE” (มีหมอ) ซึ่งเป็นแอปพบแพทย์ออนไลน์ ด้วยระบบ Video Call ถูกนำไปใช้งานที่ศูนย์บริการ COVID-19 Call Center ของโรงพยาบาลจุฬาภรณ์ เพื่อให้คนไข้หรือผู้สงสัยว่ามีความเสี่ยงติดเชื้อไวรัสโควิด-19 สามารถปรึกษาแพทย์ทางไกลจากที่บ้านได้โดยไม่จำเป็นต้องไปโรงพยาบาล เพียงลงทะเบียนแอป ME-MORE จากนั้นระบบจะจัดสรรคิวเพื่อพบและพูดคุยกับแพทย์ พร้อมรับคำแนะนำในการดูแลรักษาได้ทันที

...

ส่วนในกรณีที่มีแนวโน้มว่าจะติดเชื้อและจำเป็นต้องได้รับการรักษา โรงพยาบาลจะนัดเข้ามาตรวจรักษาที่โรงพยาบาล ซึ่งในอนาคตยังสามารถขยายผลไปสู่การดูแลรักษาโรคอื่นๆ เต็มรูปแบบได้อีก ศาสตราจารย์ นายแพทย์นิธิ มหานนท์ เลขาธิการราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ กล่าวว่า ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ เป็นสถาบันการศึกษาวิจัยด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และการแพทย์ชั้นนำของภูมิภาค มีเป้าหมายสูงสุดคือการนำวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีไปใช้เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชน

...

จากการนำแพลตฟอร์มดิจิทัลรูปแบบต่างๆ มาช่วยในการดูแลรักษาผู้ป่วยโควิด-19 รวมถึงผู้ป่วยกลุ่มเสี่ยงสงสัยติดเชื้อ และผู้ป่วยโรคเรื้อรังอื่นๆ ที่ยังจำเป็นต้องได้รับการรักษาอย่างต่อเนื่อง ให้ได้สามารถพบแพทย์อยู่ที่บ้านไม่จำเป็นต้องเดินทางมาโรงพยาบาลในช่วงนี้นั้น พบว่าการให้คำปรึกษาทางไกล หรือหาหมออยู่ที่บ้าน สามารถให้ภาพและเสียงที่คมชัด ช่วยให้แพทย์ทำงานได้สะดวกยิ่งขึ้นและวินิจฉัยได้อย่างแม่นยำ, ระบบ AI บนเครื่องเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ชนิดความเร็วสูง หรือ CT Scan ปอดผ่าน 5 จีช่วยให้รักษาได้ทันท่วงทียิ่งขึ้น

ขณะเดียวกัน หุ่นยนต์ 5 G ROBOT FOR CARE ซึ่งสามารถตรวจวัดอุณหภูมิร่างกาย และใช้ Video Call ติดตามและเฝ้าดูอาการผู้ป่วยโควิด-19 ได้อย่างต่อเนื่อง ลดความเสี่ยงในการติดต่อระหว่างคนไข้ติดเชื้อกับบุคลากรทางการแพทย์ ช่วยหยุดยั้งการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ให้ได้เร็วที่สุด.