ก่อนจะเข้าสู่ยุคที่ทุกคนมีสมาร์ทโฟน ซึ่งเหมือนกับคอมพิวเตอร์ขนาดพกพานั้น การจะเล่น “เกม” จำเป็นจะต้องลงทุนทั้งเวลาและเงินตรา

ไม่สามารถที่จะเชื่อมต่ออินเตอร์เน็ตแล้วดาวน์โหลดลงในอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ได้โดยตรง จำเป็นต้องเดินทางไปที่ร้านขาย และซื้อเครื่องพร้อมตลับหรือแผ่นซีดีเกม เพื่อในกลับมาเล่นที่บ้าน ทำให้เกิดปัญหาแจ็กพอตบ่อยครั้ง ว่าเกมที่เราซื้อมามันไม่ได้สนุกขนาดนั้น

แม้ต่อมาเริ่มเข้าสู่ยุคมีอินเตอร์เน็ตแล้ว แต่การหาข้อมูลก็ทำได้ยาก ไม่ได้มีเว็บไซต์หรือยูทูบเบอร์ มาบรรยายวิเคราะห์วิจารณ์เกม นอกจากนี้ หากเทียบกับค่าขนมที่ได้ไปโรงเรียนต่อวันแล้ว การจะซื้อเกมหนึ่งนั้นช่างแพงแสนแพง ต้องรอวันที่พ่อแม่หรือญาติผู้ใหญ่อารมณ์ดีเพียงอย่างเดียว

ทำให้สมัยนั้น ได้ตัดสินใจเลือกเล่นเกมผ่านคอมพิวเตอร์หรือพีซีเป็นส่วนใหญ่ เพราะค่ายผู้ผลิตเกมเครื่องพีซีจะมีการปล่อยเกมในรูปแบบสาธิตมาให้ทดลอง เรียกว่า “เดโม” (Demo Version) คือผู้เล่นจะได้ลองเล่นเกมจริงๆแบบจำกัดเนื้อหา สมมติเกมนี้มี 30 ด่าน เราก็จะเล่นได้เพียงด่านแรกด่านเดียว

...

แถมบางครั้งบางครา ค่ายผู้ผลิตบางรายเกิดความใจดีเป็นพิเศษ ปล่อยเกมในเวอร์ชันทดสอบ เรียกว่า “ไทรเอิล” (Trial Version) มาให้ลิ้มลอง ซึ่งรูปแบบนี้จะเล่นได้นานกว่า จากหนึ่งด่านจบกลายเป็น 6-7 ด่าน ยืดระยะเวลาความสนุกออกไปอีก แบบไม่ต้องควักกระเป๋าสตางค์

แน่นอนว่าจุดประสงค์ของการปล่อยตัวอย่างเกม ก็เพื่อให้ผู้ซื้อตัดสินใจง่ายขึ้น อย่างไรก็ตาม การก้าวเข้าสู่ยุคที่ทุกสิ่งทุกอย่างอยู่บนอินเตอร์เน็ต หรือไอโอที (Internet of Things) ทำให้เกิดการตลาดเกมรูปแบบใหม่คือ “เกมเล่นฟรี” ไม่ต้องเสียเงินซื้อ เชื่อมต่อออนไลน์ กดติดตั้งสมัครแอ็กเคานต์ทุกอย่างก็จบ

ยกตัวอย่างเกมที่ดังติดท็อปชาร์ต และมีการจัดการแข่งขันอีสปอร์ตมากมายจากค่ายสหรัฐฯ เช่นโดต้า Dota 2 (เราเรียกดอทเอ) ลีค ออฟเลเจนส์ League of Legends หรือเกมค่ายจีน แอเรียนา ออฟ แวเลอร์ Arena of Valor (เราเรียกอาร์โอวี ROV) โดยเกมดังกล่าวจะสุ่มจับคู่กับผู้เล่นทั่วโลก แบ่งเป็น 2 ทีม ทีมละ 5 คน จากนั้นก็เลือกตัวละครหลากหลายความสามารถ ทั้งสายอึดบุกตะลุย สายสังหาร และสายเวท-สนับสนุน เป้าหมายคือทำอย่างไรก็ได้ให้ป้อมปราการของอีกฝ่ายถูกทลายแตกพ่าย

หรือจะเป็นเกมสงครามจากเบลารุส เวิลด์ ออฟ แท้งส์ World of Tanks ที่ผู้เล่นจะต้องเลือกรถถังของชาติต่างๆที่ต้องการ และนำออกต่อสู้ในสมรภูมิ ทีมละ 15 คน ซึ่งหากผู้เล่นทำผลงานดี สังหารคู่แข่ง หรือยึดฐานศัตรู ก็จะได้รางวัลในเกมนำไปอัปเกรดรถถังเป็นรุ่นใหม่กว่า หรือให้มีความสามารถสูงกว่าเดิม

ไปจนถึงเกมผจญภัยไซไฟค่ายแคนาดาวอร์เฟรม Warframe ที่ผู้เล่นจะสวมบทบาทนักรบอวกาศ บุกตะลุยทำภารกิจข้ามจักรวาล หรือเกมไพ่ ฮาร์ธสโตน Hearthstone ซึ่งสร้างจากเกมดังวอร์คราฟ ที่ผู้เล่นจะต้องเล่นเก็บสะสมไพ่ จัดชุดไพ่ของตัวเอง และวางกลยุทธ์ให้เหมาะสมเพื่อเอาชนะผู้เล่นคนอื่นๆ

และเกมฟรีอื่นๆอีกมากมาย ที่พร้อมจะตอบโจทย์ความชอบของผู้เล่นว่าอยากได้เกมแบบไหน เบาสมองหรือต้องทุ่มเทกับการเล่นสไตล์ฮาร์ดคอร์ แต่แน่นอนคำถามย่อมเกิดขึ้นว่า ผลิตเกมให้เล่นกันฟรีๆ แล้วรายได้ของผู้สร้างเกมจะมาจากไหน?

คำตอบคือ เกมเหล่านี้จะมีส่วนที่ผู้เล่นจะต้องใช้เงินจริงๆในการซื้อของหรืออุปกรณ์ในเกม อย่าง Dota 2 จะมีเสื้อผ้าหรืออาวุธที่สวยงามให้เลือกซื้อ พอเวลาเริ่มเล่นเกม ผู้เล่นคนอื่นๆก็จะเห็นว่าเราไม่เหมือนใคร หรือถึงขั้นอุทานว่ารวยเว้ย เพราะเสื้อผ้าบางชุดขายกันเซตละพันกว่าบาท

...

อย่าง ROV ที่นิยมในไทย ก็จะมีตัวละครที่ความสามารถเก่งกว่าตัวอื่นๆให้เลือกซื้อ ตัวละหลักร้อยถึง 500 กว่าบาทขึ้นไป หรือขนาดเกมรถถังเองก็ตาม ที่หากผู้เล่นยอมจ่ายเงินจริงก็จะมีกระสุนเจาะเกราะชนิดพิเศษ หรืออุปกรณ์เสริมที่ทำให้ยิงเร็ว-เคลื่อนที่เร็ว-ซ่อมแซมรถเร็วกว่าชาวบ้าน จนเกิดคำพูดในวงการออนไลน์ขึ้นมาว่า ไม่ต้องใช้ฝีมือ แต่จ่ายเพื่อชนะ หรือเพย์ ทู วิน (Pay to win)

แน่นอนการจ่ายเงินในเกมนั้นง่ายนิดเดียว เพียงแค่กดซื้อปุ๊บตัวเกมก็จะตัดเงินจากบัตรเครดิตที่ผูกไว้กับแอ็กเคานต์ปั๊บ จนเกิดกรณีที่เป็นข่าวพ่อแม่ร้องจ๊ากเพราะลูกซื้อของในเกมเป็นหลักหมื่นหลักแสนบาท จึงควรตรวจทานให้มั่นใจสม่ำเสมอ ว่าไม่มีความเคลื่อนไหวในบัญชีเครดิตที่ผิดปกติ

หรือง่ายๆลบรหัสบัตรออกจากแอ็กเคานต์เสีย แต่ตอนนี้เห็นว่ามีปัญหาอีกประการคือ การเติมเงินจริงเป็นครั้งๆผ่านระบบอี-วอลเล็ต ซึ่งป้องกันได้ยากกว่าหากติดจนงอมแงม เพราะเอะอะก็วิ่งเข้าร้านสะดวกซื้อเติมเงินอยู่นั่นไม่รู้จบ รับสภาพกระเป๋าฉีกกันได้เลย.

พจน์ พลวัต

...