ผศ.มานพ กาญจนบุรางกูร ผู้อำนวยการองค์การสะพานปลา (อสป.) เผยว่า จากการที่รัฐบาลเร่งปลดล็อกปัญหา IUU ด้วยการจดทะเบียนเรือ นอกจากแก้ปัญหาการทำประมงที่ผิดกฎหมาย แก้ปัญหาด้านแรงงานในภาคอุตสาหกรรมประมง ยังช่วยแก้ปัญหาการสวมทะเบียน สวมสิทธิ์ เพื่อขอกู้วงเงินช่วยเหลือภาคประมงซ้ำซ้อน และเพื่อให้อาชีพ รวมทั้งอุตสาหกรรมการทำประมงไทยเกิดความยั่งยืน ปริมาณสัตว์น้ำทะเลเพิ่มปริมาณมากขึ้น ส่งผลให้ อสป. และกรมประมง ได้นำระบบตรวจสอบย้อนกลับมาใช้อีกครั้ง

“ระบบการตรวจสอบย้อนกลับ ทำให้เรารู้ว่า เรือที่ขนสัตว์น้ำมาขึ้นท่าเรือสะพานปลาทั้งของรัฐ เอกชน มีการขนสัตว์น้ำเข้ามาจำนวนมากน้อยแค่ไหน สามารถสืบค้นที่มาของสัตว์น้ำที่นำเข้า มาจากน่านน้ำทะเลไทยหรือจากฟาร์มเพาะเลี้ยง จึงทำระบบการบันทึกข้อมูลสัตว์น้ำทุกขั้นตอน ตั้งแต่แหล่งที่มา การเข้าสู่ระบบแปรรูป และการส่งไปจำหน่ายปลายทาง แล้วนำข้อมูลดังกล่าวส่งไปยังกรมประมง ควบคู่กับเอกสารรับรอง ซึ่งแบ่งเป็น 3 ประเภทคือ เอกสารรับรอง IMD เป็นสัตว์น้ำจากทะเลนำเข้าที่ได้รับอนุญาต สัตว์น้ำจากทะเลไทยจะมีเอกสารรับรอง MCPD และสัตว์น้ำที่มาจากฟาร์มเลี้ยงจะมีเอกสารรับรอง MD แนบมาด้วย”
...
ผอ.อสป.บอกว่า เอกสารรับรองดังกล่าว นอกจากทำให้รู้แหล่งที่มาของสัตว์น้ำ ยังช่วยให้การส่งออกสัตว์น้ำแปรรูปที่ส่งไปยังกลุ่มประเทศในแถบอียู ไปได้ง่ายสะดวกรวดเร็ว เพราะเอกสารรับรองดังกล่าว แจ้งแหล่งที่มาของสัตว์น้ำที่นำมาแปรรูป กระทั่งถึงโรงงาน ทำให้ อสป.และกรมประมง ให้การรับรองเพื่อส่งออก เป็นไปอย่างรวดเร็วและได้ง่ายขึ้น

สำหรับการออกเอกสารรับรอง ผศ.มานพ บอกว่า เดิมจะเขียนด้วยมือ ซึ่งทำให้บางครั้งข้อมูลเกิดการผิดเพี้ยน ใช้เวลานาน ส่งผลให้คุณภาพสัตว์น้ำลดลง เกิดความเสียหายกับอุตสาหกรรมอาหารทะเล เพื่อแก้ปัญหาดังกล่าว อสป.จึงได้จัดทำแอพพลิเคชั่น FMO e-MCPD นำไปใช้กับทุกท่าเทียบเรือ ทำให้สามารถสืบค้น ตรวจสอบจากประมงจังหวัด รวมไปถึงทำให้รู้ข้อมูลการบันทึกสัตว์น้ำแต่ละประเภทในแต่ละวันที่เรือประมงเข้าเทียบท่าได้แบบ Real time ต่างจากในอดีตที่จะรวบรวมข้อมูลได้ปีละ 1-2 ครั้ง ล่าสุดฟิลิปปินส์ให้ความสนใจ พร้อมขอให้ไทยเป็นพี่เลี้ยงแนะนำการใช้ระบบดังกล่าวแล้วด้วย.