“ภาคธุรกิจ” ต้องมีสมรรถนะในการจัดการมากที่สุด ถ้าไม่มีก็ต้องล้มละลายเพราะทำอะไรไม่สำเร็จ ขณะนี้ภาคธุรกิจเป็นภาคที่มีคนเก่งๆมากที่สุด มีการจัดการดีที่สุด มีความคล่องตัวสูง
“ยามวิกฤติชาติ” เพราะ “ขาดสมรรถนะ” ในการจัดการเช่นนี้ ภาคธุรกิจจึงไม่อาจไม่ทำอะไรต้องเข้ามามีบทบาทในการแก้ไข เช่น ในยามประเทศมีสงครามคับขัน แม้แต่นักโทษยังต้องออกจากคุกพระสงฆ์ยังต้องสลัดผ้าเหลืองช่วยกันป้องกันบ้านเมือง
ประเวศ วะสี ราษฎรอาวุโส กล่าวย้ำไว้ในเรื่อง “ทางแก้วิกฤติ 1,000 บริษัท 1,000 สถาบันพัฒนาประเทศไทย” พร้อมย้ำแนวทางที่อาจทำได้ดังนี้ เริ่มจาก...แต่ละบริษัทตั้งสถาบันพัฒนาประเทศไทย
“การทำความดีไม่ต้องขออนุมัติสามารถลงมือทำได้เลย โดยบริษัทที่มีกำลังซึ่งคงจะมีไม่น้อยกว่า 1,000 บริษัท ตั้งมูลนิธิ และภายใต้มูลนิธิมีสถาบันเพื่อพัฒนาประเทศไทยหรือชื่ออะไรก็ได้”

...
วิธีการ...“ซีอีโอ” ของบริษัทดำรงตำแหน่งประธานของสถาบันซีอีโอของบริษัทที่มีความสำเร็จล้วนมีสมรรถนะในการจัดการสูง 1,000 บริษัท ก็เท่ากับประเทศมีซีอีโอเก่งๆเข้ามาช่วยเรื่องการจัดการถึง 1,000คน สมรรถนะในการจัดการประเทศพุ่งขึ้นทันที
ถัดมา...แต่ละบริษัทสนับสนุนให้พนักงานของบริษัทได้เรียนรู้ปัญหาของบ้านเมือง และร่วมคิดวิธีการแก้ไข พนักงานของบริษัทล้วนเก่งๆ ถ้าเข้ามาสนใจปัญหาของบ้านเมือง 1,000 บริษัท หรือกว่า...
...ก็เท่ากับมี “สมองก้อนโต” เข้ามาคิดเรื่อง “บ้านเมือง”
แน่นอนว่า...เมื่อแต่ละบริษัทคัดเลือกคนที่ฉลาดที่สุด กระตือรือร้นที่สุดประมาณ 5-7 คน มาทำงานในสถาบันเพื่อพัฒนาประเทศไทยของบริษัทโดยยังทำงานเป็นพนักงานของบริษัท วิธีนี้เท่ากับว่ามีคนที่เก่งที่สุดของบริษัท 1,000 บริษัท รวมประมาณ 5-7 พันคน เข้ามาร่วมสนับสนุนการพัฒนาประเทศไทย
“เหตุวิกฤติชาติ”...ขาดสมรรถนะในการจัดการคือ ปัญหาสำคัญวันนี้ อาจารย์หมอประเวศ บอกว่า การจัดการคือ อิทธิปัญญา หรือปัญญาที่ทำให้เกิดความสำเร็จ
“อะไรที่ทำไม่สำเร็จ ถ้าใส่การจัดการเข้าไปจะสำเร็จเสมอ”...จนมีคำกล่าวว่า “การจัดการทำให้สิ่งที่เป็นไปไม่ได้ เป็นไปได้ Management makes the impossible possible”
ประเทศไทยทำให้สิ่งที่เป็นไปได้ เป็นไปไม่ได้...เพราะขาดภูมิปัญญาในการจัดการเกือบจะโดยสิ้นเชิง เพราะเหตุสองประการคือ ระบบการศึกษาที่เน้นการท่องวิชาเป็นวิชาๆที่ดำเนินมากว่า 100 ปี
“ทำให้คนไทยจัดการไม่เป็นเพราะการจัดการคือการเชื่อมโยงองค์ประกอบต่างๆของความสำเร็จอย่างเหมาะสม ไม่ใช่การท่องวิชา มหาวิทยาลัยทั้งหมดก็ขาดสมรรถนะในการคิดเชิงระบบและการจัดการ”

ประการถัดมา...“ระบบราชการ” ซึ่งเป็นระบบบริหารอำนาจมากกว่าระบบการจัดการ การขาดสมรรถนะในการจัดการจึงเป็นไปอย่างทั่วถึงทั้งในระบบการเมือง ราชการ การศึกษา องค์กรพัฒนาเอกชน
มีผู้เตือนมานานแล้วว่า...การที่ประเทศไทยภูมิปัญญาในการจัดการอันตรายยิ่งนัก แต่ก็เป็นเสียงที่ไม่ค่อยมีใครได้ยิน วิกฤติโควิดมาเผยให้เห็นอย่างโจ่งแจ้งว่า ประเทศไทยขาดสมรรถนะในการจัดการ
เอาล่ะครับ ตัดกลับมาที่...“พลังบวก” ที่ประเทศกำลังต้องการยามวิกฤติ พุ่งเป้าไปที่หลักการการทำงานของ “มูลนิธิเพื่อพัฒนาประเทศไทย”
หัวใจสำคัญที่ต้องเน้นภาพให้เข้าใจกันชัดๆคือ “สนับสนุนการร่วมจัดการการพัฒนาในเรื่องต่างๆ” ทั้งในพื้นที่ ในองค์กร และตามประเด็น งานต่างๆที่ไม่ประสบความสำเร็จเพราะมีแต่การบริหารตามโครงสร้าง แต่ขาดการจัดการ สถาบันเข้าไปสนับสนุนส่วนขาดคือ “การจัดการ”
แยกย่อยลงลึก...“ตามพื้นที่” บริษัทอาจเข้าไปสนับสนุนได้ทุกระดับตามกำลัง เช่น ระดับหมู่บ้าน ตำบล อำเภอ จังหวัด ที่ผ่านมา...ในระดับต่างๆเหล่านี้มีโครงสร้างหรือองค์กรที่ทำหน้าที่อยู่แล้ว แต่ที่ไม่สัมฤทธิผลเท่าที่ควรเพราะการจัดการ

การมีบริษัทที่มีความคล่องตัวและมีสมรรถนะในการจัดการสูง เข้าไปสนับสนุนการร่วมจัดการเพื่อพัฒนา จะทำให้เกิดความสำเร็จทุกกรณีไม่มีข้อยกเว้นเพราะ “การจัดการทำให้สิ่งที่เป็นไปไม่ได้เป็นไปได้”...วิธีนี้การพัฒนาอย่างบูรณาการจะเกิดขึ้นเต็มพื้นที่ประเทศไทยคือ ทุกหมู่บ้าน ตำบล อำเภอ จังหวัด
โดยที่...เศรษฐกิจ จิตใจ สังคม สิ่งแวดล้อม วัฒนธรรม สุขภาพ การศึกษา ประชาธิปไตย ทั้ง 8 มิติบูรณาการอยู่ในกันและกัน บูรณภาพทำให้เกิดดุลยภาพและความยั่งยืน นั่นคือ...สังคมศานติสุข
สิ่งที่เกิดขึ้น...ที่เคยกล่าวถึงไปบ้างแล้วในหลายๆครั้งที่มีโอกาสสะท้อนมุมมองออกสู่สาธารณะบริษัทอาจร่วมกันศึกษาและนิยามว่าประเทศไทยมี ประเด็นใหญ่ อะไรบ้าง ซึ่งอาจมี 20-25 ประเด็น...ล้วนสำคัญอย่างยิ่งยวด ยากและทำไม่สำเร็จ ทำให้ประชาชนประสบความทุกข์ยากหรือเสียชีวิตโดยไม่สมควร

บริษัทใช้สมรรถนะในการจัดการ รวมผู้เชี่ยวชาญตามประเด็นจากทั้งภาคการเมือง ภาคราชการ ภาคธุรกิจ ภาคประชาสังคม ภาคสื่อมวลชนหรือใดอื่นที่เกี่ยวข้องเป็น กลุ่มงานตามประเด็น ใหญ่ข้างต้น
“กลุ่มงานตามประเด็นที่มีสมรรถนะสูงจะทำให้เกิดความสำเร็จในทุกประเด็นใหญ่ ทำให้ประชาชนพ้นจากความทุกข์ยากและเสียชีวิตโดยไม่สมควร”
ยกตัวอย่างประเด็นใหญ่ เช่น ความยุติธรรมและความเป็นธรรม...“คนจน” ที่เข้าไม่ถึง “ความยุติธรรม” นั้นเจ็บใจเป็นอย่างยิ่ง เจ็บกายยังไปโรงพยาบาล เจ็บใจเพราะไม่ได้รับความยุติธรรม จะไปรับการเยียวยาจากที่ใด...ความเหลื่อมล้ำสุดๆหรือการขาดความเป็นธรรม นำไปสู่ปัญหาทั้งปวง แต่ก็แก้ไขยากสุดๆ

“ประเด็นใหญ่ประเทศไทย” คือกุญแจสำคัญ ด้วยเพราะเป็นประเด็นนโยบายสาธารณะของประเทศไทยที่ทุกภาคส่วนเห็นตรงกัน ทั้งภาคการเมือง ราชการ วิชาการ สังคม ธุรกิจ พระศาสนา สื่อสารมวลชน
การมีเป้าหมายและวิสัยทัศน์ร่วม...จะเหมือนการจูนคลื่นแสงเลเซอร์มีพลังทะลุทะลวงไปสู่ความสำเร็จ ถ้าภาคธุรกิจสามารถเข้ามา “สนับสนุนการร่วมจัดการพัฒนา” ก็จะประสบความสำเร็จอย่างก้าวกระโดด
น่าสนใจอีกว่า...การเรียนรู้ร่วมกันในการปฏิบัติในสถานการณ์จริง เป็นกระบวนการที่ทรงพลังที่สุดในการเปลี่ยนผ่าน ที่ยิ่งทำ...ยิ่งรักกันมากขึ้น...ยิ่งเชื่อถือไว้วางใจกันมากขึ้น...ยิ่งฉลาดมากขึ้นและฉลาดร่วมกัน...เกิดปัญญาร่วม ทำให้ฝ่าความยากไปสู่ความสำเร็จ และ...เกิดความสุขประดุจบรรลุนิพพาน
ใน “วิกฤติความซับซ้อน” การใช้อำนาจไม่ได้ผล การปฏิวัติรัฐประหาร นอกจากไม่ได้ผลแล้ว ยังทำให้เกิดวิกฤติซ้อนวิกฤติ แต่กระบวนการเรียนรู้ร่วมกันในการปฏิบัติในสถานการณ์จริงนี้เป็นสันติวิธี
เป็น...กระบวนการทางปัญญาแบบมีส่วนร่วมที่ทรงพลังในการเปลี่ยนผ่าน ทุกมิติทั้งที่ตัวคน องค์กร สังคม ครบเครื่อง จัดการเชื่อมโยงให้เป็น...“องค์รวม” ประกอบเครื่อง “ประเทศไทย” ใหม่ให้อัตราเร่งดีขึ้น...เกิดคุณสมบัติใหม่อันมหัศจรรย์
ตั้งหวังเป็นอย่างยิ่งว่า พลังบวกภาคธุรกิจ...“ผู้นำ” เก่งๆจะร่วมด้วยช่วยกันเปลี่ยนผ่านเพิ่ม “สมรรถนะประเทศไทย” ฝ่าวิกฤติชาติในวันนี้ไปให้ได้.