ดร.อัมพร พินะสา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) เปิดเผยภายหลังการประชุมผู้บริหารระดับสูงของสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ผ่านระบบออนไลน์ว่า เป็นการซักซ้อมเตรียมความพร้อมรองรับการเปิดภาคเรียนในวันที่ 1 มิ.ย.64 ซึ่ง สพฐ.จะมีการประเมินสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ตามการแบ่งพื้นที่ที่ศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัส โคโรนา 2019 (ศบค.) กำหนด โดยจะมีการสำรวจความพร้อมเชิงพื้นที่ว่าแต่ละสถานศึกษาจะเปิดให้นักเรียนไปเรียนที่โรงเรียนได้ตามปกติกี่แห่ง หรือถ้าเปิดไม่ได้จะมีวิธีจัดการเรียนการสอนกี่วิธีโดยยึดความพร้อมของนักเรียนเป็นหลัก

ซึ่งขณะนี้ สพฐ.ได้ข้อมูลมาแล้วว่าจะจัดการเรียนการสอนได้กี่วิธีและมีเด็กที่เข้าเรียนแต่ละวิธีจำนวนเท่าใด หรือมีเด็กที่สามารถเรียนหลายวิธีได้เท่าไหร่ ขณะเดียวกันก็ได้มีการถอดบทเรียนว่าปัญหาอุปสรรคที่พบจากการจัดการเรียนการสอนแต่ละวิธีมีอะไรบ้าง โดยจากวันนี้ถึงวันที่ 16 พ.ค.นี้ สพฐ.จะปรับคลังสื่อและคลังแพลตฟอร์มที่มีอยู่ เพื่อจัดหมวดหมู่และจำแนกให้โรงเรียนสามารถเข้าถึงและดึงสื่อ อุปกรณ์การเรียน แพลตฟอร์มไปใช้ได้คล่องตัวมากขึ้น สำหรับการจัดการสอนออนแอร์ สพฐ.จะประสานมูลนิธิการศึกษาทางไกลผ่านดาวเทียม ในพระบรมราชูปถัมภ์ (DLTV) ในการจัดตารางสอนให้เชื่อมโยงกับตารางเรียนปกติ โดยเริ่มวันที่ 1 มิ.ย. นอกจากนี้จะหาวิธีที่จะหาอุปกรณ์ให้นักเรียนปลายทางได้เรียนออนแอร์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ อย่างไรก็ตามถ้าเรียนในโรงเรียนได้จะใช้ออนไซท์เป็นฐาน

“รมว.ศึกษาธิการ ห่วงใยเด็กๆว่า แทนที่จะได้เรียนตั้งแต่วันที่ 17 พ.ค. เมื่อเลื่อนเปิดเทอมไปวันที่ 1 มิ.ย. ช่วงเวลาวันที่ 17-31 พ.ค. เด็กๆจะทำอะไร สพฐ.ก็ได้เตรียมหากิจกรรมทางเลือกผ่านระบบออนไลน์ที่เป็นทักษะชีวิตให้เด็กได้เรียนรู้ โดยเปิดให้เด็กเข้าไปเรียนรู้ตามความสมัครใจไม่บังคับ ไม่นับหน่วยกิต”

...

เลขาธิการ กพฐ. กล่าวและว่า สำหรับการรับนักเรียน ม.1 ม.4 ที่มีการเลื่อนปฏิทินออกไปนั้น สพฐ.ได้ทำมาตรการเพื่อขอให้ ศบค.ชุดเล็กให้ความเห็นชอบ เรื่องการจับฉลากนักเรียน ม.1 แล้ว เชื่อว่าเมื่อถึงวันที่ 14 พ.ค.ทุกอย่างน่าจะคลี่คลายลงก็จะเปิดช่องให้มีการจับฉลาก ทั้งนี้ตนคิดว่าคงจะไม่เลื่อนอีกแล้วเพื่อไม่ให้กระทบกับการเรียนของนักเรียนทั้งระบบ.