ท่ามกลางสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 ยังมีสงครามอีกสมรภูมิที่ต่อสู้กันอย่าง ดุเดือด นั่นก็คือ “สงครามวัคซีน” ที่ทั้งโลกกำลังทั้งตื่นเต้นและสับสนในเวลาเดียวกัน
สำหรับประเทศไทย เป็นที่แน่ชัดแล้วว่า วัคซีนที่รัฐบาลจัดซื้อเพื่อนำมาฉีดให้กับประชาชน มี 2 ยี่ห้อหลักๆ คือ ซิโนแวค และแอสตราเซเนกา ส่วน Johnson&Johnson เพิ่งได้รับการขึ้นทะเบียนจาก อย.
แต่ที่มาแรงแซงโค้ง เห็นจะเป็นวัคซีน Sputnik V อ่านว่า “สปุตนิก” สัญชาติรัสเซีย ที่ประธานาธิบดีวลาดิเมียร์ ปูติน ยินดีให้การสนับสนุนรัฐบาลไทย ภายหลังการหารือระหว่างกระทรวงการต่างประเทศกับรัฐบาลรัสเซียโดยตรง
...
Sputnik V เป็นวัคซีนผลิตโดยใช้เทคโนโลยีเวกเตอร์ไวรัส (Viral Vector) เหมือนวัคซีน AstraZeneca (AZ) ทั้งวัคซีน Sputnik V และวัคซีน J&J ใช้ไวรัส Ad26 เป็นพาหะเหมือนกัน แต่วัคซีน J&J ฉีดเพียงเข็มเดียว ในขณะที่วัคซีน Sputnik V ต้องฉีด 2 เข็ม เลยต้องเปลี่ยนไปใช้ไวรัส Ad5 เพื่อหลบเลี่ยงภูมิคุ้มกันที่สร้างขึ้นจากเข็มแรก ส่วนวัคซีน AZ ใช้การเว้นระยะห่างระหว่างเข็มให้นานขึ้นแทน
สำหรับเทคโนโลยี Viral Vector เป็นการใช้ไวรัสชนิดอื่นเป็นพาหะนำสารพันธุกรรมของไวรัสโควิด-19 เข้าสู่ร่างกาย เมื่อเข้าไปแล้วร่างกายจะถอดรหัสออกมาเป็นโปรตีนส่วนหนาม (Spike Protein) เพื่อกระตุ้นการสร้างภูมิคุ้มกันโรค
สำหรับ “สปุตนิก” แม้จะใช้อะดิโนไวรัสเหมือนกับแอสตราเซเนกา แต่เป็นอะดิโนไวรัสก่อโรคในมนุษย์ ขณะที่แอสตราใช้อะดิโนไวรัสก่อโรคในลิงชิมแปนซี
ผลการทดลองล่าสุดในเฟส 3 ของวัคซีนสปุตนิก ที่ได้รับการตีพิมพ์ในวารสารการแพทย์ Lancet เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2564 จากการทดลองในเบลารุส สหรัฐ-อาหรับเอมิเรตส์ เวเนซุเอลา และอินเดีย ระบุว่า วัคซีนมีประสิทธิภาพสูงถึง 91.6% โดยเป็นประสิทธิภาพของการป้องกันการติดเชื้อแบบมีอาการ เป็นการประเมินประสิทธิภาพในวันที่ 21 หลังจากได้รับวัคซีนเข็มแรก ต่างจากวัคซีนอื่นที่จะประเมินหลังจากได้รับวัคซีนเข็มที่ 2 ไปแล้ว
ส่วนประสิทธิภาพในการป้องกันอาการปานกลางถึงรุนแรงนั้น วารสาร Lancet ระบุว่า มีประสิทธิภาพในส่วนนี้ถึง 100% โดยกลุ่มที่ได้รับวัคซีนมีอาการเล็กน้อยโดยผล ข้างเคียง ส่วนใหญ่ ถ้าเป็นในกลุ่มผู้สูงอายุจะพบอาการคล้ายไข้หวัดใหญ่ 15.2% ปวดบริเวณที่ฉีด 5.4% ปวดศีรษะ 2.9% อ่อนเพลีย 2.5% ส่วนผลข้างเคียงรุนแรง รวมถึงเสียชีวิต 4 รายพบทั้งในกลุ่มที่ได้รับวัคซีนและกลุ่มควบคุม จึงสรุปว่าไม่มีความสัมพันธ์กับวัคซีน
ปัจจุบัน มีผู้ได้รับการฉีดวัคซีนสปุตนิก ไปแล้วใน 60 ประเทศทั่วโลก รวมถึงลาว เมียนมา และเวียดนาม ยกเว้นบราซิล ที่ระงับการฉีดชั่วคราวเนื่องจากยังขาดข้อมูลบางส่วน
ล่าสุด เยอรมนีได้สั่งซื้อวัคซีน Sputnik V จำนวน 30 ล้านโดส แต่องค์การยาแห่งสหภาพยุโรป (EMA) ยังอยู่ในระหว่างการพิจารณาว่าจะอนุมัติให้ใช้หรือไม่
ส่วนอินเดียได้อนุมัติให้มีการฉีดวัคซีนสปุตนิกในประเทศแล้ว ภายหลังการระบาดรุนแรงขึ้นอย่างมาก และพบว่า สปุตนิกใช้สร้างภูมิคุ้มกันได้ดี กับโคโรนาไวรัสสายพันธุ์ G ซึ่งเป็นสายพันธุ์ดั้งเดิม และสายพันธุ์อังกฤษซึ่งระบาดในวงกว้าง รวมถึงสายพันธุ์บางสายพันธุ์ที่มีการกลายพันธุ์ในส่วนของสไปค์โปรตีน แต่ไม่ได้ผลดีในสายพันธุ์แอฟริกา.