เมื่อแต่ละวันมี “อุบัติเหตุทางบก ทางนํ้า และอัคคีภัย” เกิดขึ้นอยู่ทั่วประเทศ ที่มักมีผู้ประสบเหตุประสบภัยเผชิญ “ความเป็นความตาย” รอคอยความช่วยเหลือให้รอดพ้นวิกฤติชีวิตอันเลวร้ายมากมาย

เหตุเช่นนี้ “ทุกวินาที” ล้วนมีความสำคัญต่อ “ผู้ป่วยฉุกเฉิน” ต้องการความช่วยเหลือจาก “หน่วยแพทย์” เร่งด่วน แต่ด้วย “ขาดแคลนบุคลากรกู้ชีพ” การช่วยเหลือก็ต้องล่าช้าไม่ทันต่อเหตุการณ์ตามมา ทำให้ก่อกำเนิดเกิดเป็น “อาสาสมัครกู้ชีพกู้ภัย” ผู้ยอมเสียสละเวลาส่วนตัวช่วยเหลือสังคมโดยไม่หวังผลตอบแทน

กลายเป็นผู้มีบทบาทหน้าที่หลัก “ทีมชุดแรก” ในการออกปฏิบัติหน้าที่ “เสี่ยงเป็นเสี่ยงตาย” เข้าเผชิญเหตุให้การช่วยเหลือผู้ประสบภัย ทั้งคนเจ็บและเก็บคนตายกระจายอยู่ทั่วทุกสารทิศของประเทศไทย

ภายใต้ “ระเบียบข้อบังคับตามกฎหมาย” บนพื้นฐานความเป็น “อาสากู้ภัย” ที่ต้องเสียสละให้ความช่วยเหลือเพื่อนร่วมโลกด้วยความเสมอภาค ปฏิบัติต่อผู้อื่นเสมือนเป็นญาติ พัฒนาความรู้ความสามารถเสมอ โดยไม่ต้องการสิ่งตอบแทนใดๆ

ไม่นานนี้ “ทีมสกู๊ปหน้า 1” มีโอกาสไปเยือน “มูลนิธิป่อเต็กตึ๊ง” ชมการสาธิตเตรียมอุปกรณ์ใช้เครื่องมือตัดถ่างและการออกช่วยเหลือผู้ประสบเหตุ ยุทธพฤทธิ์ พูลเกษ หน.อาสาฯป่อเต็กตึ๊ง จุด สภ.ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ทำงานมา 30 ปี บอกว่า สมัยวัยรุ่นเคยมีส่วนร่วมช่วยเหลือผู้ประสบภัย เขตลาดกระบัง กทม. ประจำอยู่แล้ว

...

จนเป็นจุดเริ่มต้นนำมาสู่การเข้าร่วมทำงาน “อาสาฯป่อเต็กตึ๊ง” ที่ยิ่งได้ ทำงานช่วยเหลือผู้ประสบภัยทุกรูปแบบ ตั้งแต่เหตุทางบก น้ำ อากาศ และอัคคีภัย ทั้งต้องออกให้ “ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติธรรมชาติ” ในต่างจังหวัด ถิ่นทุรกันดาร และประเทศเพื่อนบ้านหลายเหตุการณ์ ในการนำข้าวของเครื่องใช้สิ่งจำเป็นแจกจ่ายนี้

สมัยราว 30-40 ปีก่อน...“การทำงานอาสาสมัครกู้ภัย” มีรูปแบบหน้างานไม่มีกฎระเบียบยุ่งยากซับซ้อนมากเท่าทุกวันนี้ “บทบาทหน้าที่อาสาฯ” เสมือนเป็นผู้ช่วยเจ้าพนักงานตำรวจ ลักษณะรับรู้กันในพื้นที่ แม้แต่ “ฝึกอบรมด้านช่วยเหลือผู้ประสบเหตุ” ก็ไม่เคยมีเจอ “อุบัติเหตุ” สามารถเคลื่อนย้ายคนเจ็บส่งโรงพยาบาลทันที

ตอนนี้ทำเช่นนั้นไม่ได้แล้วเพราะ “อาสากู้ภัย” ต้องผ่านฝึกอบรมรับรองจากสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติตาม พ.ร.บ.การแพทย์ฉุกเฉิน พ.ศ.2551 เพื่อให้การปฏิบัติงานมีความปลอดภัย ทั้งผู้เข้าช่วยเหลือและผู้ประสบภัย ในส่วน “มูลนิธิป่อเต็กตึ๊ง” จัดฝึกอบรมหลักสูตรสนับสนุนตามสายงานเพิ่มเติมให้อาสาฯอีกทางด้วย

ทั้งภาคทฤษฎี และภาคปฏิบัติ ที่มีผู้ทรงคุณวุฒิจาก “หน่วยงานภาครัฐ และเอกชน” เข้ามาให้ความรู้นำไปใช้ในเหตุการณ์คาดว่าจะเจออย่างถูกต้องปลอดภัยที่สุด ตั้งแต่การบรรเทาทุกข์งานสังคมสงเคราะห์ กลุ่มสนับสนุนงานนิติเวชวิทยา การเก็บศพ การกู้ภัยการกู้ชีพจากอุบัติเหตุอุบัติภัย งานบรรเทาทุกข์จากโรคระบาด เป็นต้น

ปกติส่วนตัว...“ประกอบธุรกิจขนส่งและเป็นผู้ใหญ่บ้าน เขต จ.สมุทรปราการ” ในการทำงานอาสาฯจำเป็นต้องแบ่งเวลาให้เหมาะสมไม่กระทบธุรกิจและครอบครัว ด้วยการแบ่งความรับผิดชอบ “ทีมอาสากู้ภัยมีอยู่ 50 คน” ทำงานร่วมกับ “มูลนิธิร่วมกตัญญู” มีข้อตกลงสลับ “วันคู่ และวันคี่” เพื่อป้องกันเหตุขัดแย้งต่อกันด้วย

อีกทั้งเคย “ทำงานอาสากู้ภัย” มานานส่งผลให้ “ครอบครัว” มีความเข้าใจกันดี แต่ว่า “วันหยุดยาว” อาจต้องแบ่งเวลาพา “ลูกเมีย” ไปท่องเที่ยวอยู่บ้าง ยกเว้นกรณี “เกิดเหตุใหญ่” ต้องปฏิบัติงานต่อเนื่องหลายวัน เช่น เขื่อนเซเปียนเซน้ำน้อยแตก สปป.ลาว ที่ไม่อยู่บ้าน 10 กว่าวัน เมื่อกลับมาก็ชดเชยพาครอบครัวไปเที่ยวดังเดิม

ในเรื่อง...“เทคนิคทำงานปลอดภัย” มักแลกเปลี่ยนประสบการณ์กับเพื่อนมูลนิธิฯอื่น ทั้งหมั่นฝึกอบรมงานกู้ชีพกู้ภัยให้เกิดความชำนาญเสมอ เพื่อให้มีสติไม่ประมาท อย่างกรณี “เหตุเพลิงไหม้อาคารที่พักถล่ม เขตทวีวัฒนา” มองว่า “ขาดผู้ชำนาญควบคุม” ถ้าผู้มีประสบการณ์ต้องปฏิบัติตามหลักในการตั้งผู้ควบคุมเหตุการณ์

และ “ผู้ปฏิบัติทุกนาย” ต้องรายงานตัวต่อ “ผู้ควบคุมฯ” เพื่อวางงานตามความชำนาญ “กำหนดผู้ประเมินสถานการณ์นาทีต่อนาที” แต่ครั้งนี้ต่างคนต่างทำจนทำให้โครงสร้างบิดตัวเสียงลั่นดัง 3 ครั้งก่อนทรุดตัวลง แต่กลับไม่มีใครแจ้งเตือนกัน ดังนั้น “หน่วยงานรัฐ” ต้องเป็นผู้ทำหน้าที่สั่งการควบคุมวางแผนระงับเหตุดีที่สุด

เช่นเดียวกับ “งานกู้ภัยอุบัติเหตุ” เมื่อถึงจุดเกิดเหตุแล้วต้องเริ่ม “ประเมินพื้นที่” จัดกำลังดูแลความปลอดภัยเหตุซ้ำซ้อนก่อนเข้า “ประเมินผู้บาดเจ็บ” สามารถถามตอบรู้เรื่องเข้าใจหรือไม่ ถ้าหากมีอาการตั้งแต่ระดับหมดสติต้องแจ้ง “กู้ชีพ EMT–B หรือผู้อบรม 110 ชม.” ทำหน้าที่ช่วยเหลือเคลื่อนย้ายผู้บาดเจ็บส่งโรงพยาบาล

แต่ในส่วน “อาสากู้ภัยอบรม 24 ชม.ขึ้นไป” เคลื่อนย้ายไม่ได้ ยกเว้นกรณี “เหตุเสียชีวิต” ต้องเกื้อกูลด้วยการ “เก็บศพตามขั้นตอน” ดูแลเสมือนเป็นญาติที่ไม่รังเกียจผู้เสียชีวิตเด็ดขาด และมีคำถามว่า “เจอผีวิญญาณหรือไม่” ในส่วนตัว “ไม่เคยเจอ” แต่คนรอบข้างเจอบ่อย เช่น มีคนเห็นวิญญาณนั่งอยู่ในรถกู้ภัยในช่วงเวลาค่ำคืนดึกดื่น

เหตุนี้ “ญาติที่เชื่อเกี่ยวกับผีวิญญาณ” มักเตือนอยู่เสมอ ถ้านำศพผู้เสียชีวิตส่งถึงจุดหมายเสร็จแล้วต้องบอกกล่าวให้ “เขาลงจากรถด้วย” เรื่องนี้ก็เป็นความเชื่อส่วนบุคคล แต่สิ่งหนึ่งที่คุ้มครองตัวอยู่ตลอด คือการตั้งใจทำงานช่วยเหลือชีวิต ไม่ใช่เป็นการคิดร้ายแก่เขา ทำให้เป็นเกราะป้องกันสิ่งไม่ดีที่หวังมาทำร้ายเรามาตลอด

ด้าน น.ท.บรรเจิด เปรมจิตต์ หน.อาสาสมัครป่อเต็กตึ๊ง จุดโยธิน จ.ปทุมธานี ก้าวเข้ามาทำงาน “อาสาฯป่อเต็กตึ๊ง” เป็นครั้งแรก ตั้งแต่ปี 2529 ตอนนี้มีทีมงานอาสากู้ภัยราว 100 กว่าคน เล่าให้ฟังว่า

หลักทำงาน “อาสากู้ภัย” ส่วนใหญ่ใช้รถส่วนตัวติดตั้งอุปกรณ์ปฐมพยาบาล อีกทั้งต้องผ่านการอบรม 24-40 ชม. ในการปฏิบัติงานจุดเกิดเหตุเบื้องต้นต้องประเมินการช่วยเหลือ และเคลื่อนย้ายผู้บาดเจ็บเล็กน้อยได้เท่านั้น แต่ถ้า“ผู้บาดเจ็บมาก” ต้องประสานความช่วยเหลือจากกู้ชีพ EMT-B อบรม 110 ชม. ทำหน้าที่ช่วยผู้บาดเจ็บนี้

ถ้าหากเป็น “ผู้บาดเจ็บหนักยื้อชีวิต” ต้องประสาน “รถพยาบาลกู้ชีพระดับ EMT–I มีพยาบาลวิชาชีพประจำรถ” ที่มีอุปกรณ์ช่วยชีวิตขั้นสูง เพราะ “การช่วยเหลือผู้ประสบเหตุ” ต้องเป็นไปตามขั้นตอนกฎระเบียบกำหนดไว้เสมอ “อาสากู้ภัยอบรม 24 ชม.” ไม่อาจทำเกินหน้าที่ได้เด็ดขาด

แม้ว่าวินาทีนั้นอยากช่วยเหลือ “ผู้บาดเจ็บ” ก็ไม่อาจทำได้ แต่เรื่องนี้ “ญาติ ผู้บาดเจ็บ” มักไม่เข้าใจในหลักขั้นตอน ส่งผลให้เกิดข้อพิพาทกับ “อาสากู้ภัย” อยู่เสมอ จนกลายเป็นการฟ้องร้องคดีเกิดขึ้นอยู่บ่อยด้วยซ้ำ ดังนั้น “การปฏิบัติหน้าที่อาสากู้ภัย” ต้องเผชิญกับสภาวะกดดันของเงื่อนไขข้อจำกัดค่อนข้างมากตลอดมา

ซ้ำร้าย...ในการปฏิบัติหน้าที่ยังมี “ความเสี่ยงอุบัติเหตุซ้ำซ้อน” จากกรณีเข้าช่วยเหลือผู้ประสบภัยทางถนนอยู่เสมอ โดยเฉพาะ “เสี่ยงโรคติดต่อ” อันเกิดจาก “ศูนย์วิทยุสั่งการ” ไม่มีระบบการซักประวัติข้อมูลผู้ป่วยให้ชัดเจนก่อนสั่งการ และมักส่งผลให้ “อาสากู้ภัย” ไม่สามารถเตรียมชุดอุปกรณ์ป้องกันได้ทันท่วงที

อีกสิ่งสำคัญมักถูกกล่าวหา “ขโมยทรัพย์สินผู้บาดเจ็บ” ส่วนใหญ่แล้วก็เป็นความเข้าใจผิดกันทั้งสิ้น เพราะ “อุบัติเหตุทางถนน” มีโอกาสทำให้ “ทรัพย์สินกระเด็น” ออกจากตัวสูญหายอยู่แล้ว ล่าสุดอาสากู้ภัยถูกตำรวจเรียกสอบเงิน 2 หมื่นบาท ของผู้เสียชีวิตสูญหาย จนต้องเปิดกล้องวงจรปิดยืนยันความบริสุทธิ์ครั้งนี้ด้วยซ้ำ

ประเด็นนี้ส่งผลให้ “รู้สึกท้อแท้” เสมือนคำกล่าวหานี้เป็น “มารร้าย” กำลังเข้ามา “ขัดขวางไม่ให้คนทำดี” จึงย้อนกลับมา “ทบทวนอุดมการณ์” เพราะบางครั้ง “ประชาชน” อาจไม่เข้าใจ “คนอาสากู้ภัย” เข้ามาทำงานด้วยหัวใจไม่มีผลประโยชน์จริงๆ ทำให้ฝ่าฟันอุปสรรคนี้ไปได้ กลายเป็นแรงผลักดันมุ่งมั่นทำความดีมาจนวันนี้

ย้ำว่าบางครั้ง “ทำงานอาสากู้ภัย” มากกว่าอยู่กับ “ครอบครัว” ด้วยซ้ำ กระทั่งทำให้ “ภรรยาเกิดความระแวงทะเลาะเบาะแว้งกันบ่อย” แต่สุดท้ายแล้ว “ภรรยาและลูก” ก็ได้เข้ามาร่วมทำงานนี้ด้วยกัน จนเริ่ม “ซึมซับงานอาสาฯ” มุ่งทำงานช่วยเหลือ “ผู้ทุกข์ร้อนยากไร้” เพื่อบรรเทาสาธารณภัยมาจนถึงปัจจุบันนี้เช่นกัน

ตลอดเวลา 35 ปี ในการทำงาน “อาสากู้ภัย” เผชิญความทุกข์ความสุขร่วมกับเพื่อนอาสาฯมากมาย ตั้งแต่เหตุเครื่องบินตกบนยอดเขาพุเตย จ.สุพรรณบุรี สึนามิ โรงแรมถล่ม จ.นครราชสีมา เครื่องบินตก จ.สุราษฎร์ธานี ในการทำงานตรงนี้ทุกคนล้วนมี “ความภาคภูมิใจ” และครอบครัวก็เห็นด้วยในการช่วยเหลือผู้อื่นมาตลอดด้วย

นี่คือเสียงสะท้อนเส้นทางชีวิตของ “คนอาสาเข้ามาทำงานกู้ภัย” ต่างเสียสละทุ่มเททำงานแข่งกับเวลา “ความเป็นความตาย” เพื่อมุ่งมั่นช่วยเหลือรักษาชีวิตผู้ประสบเหตุให้ปลอดภัยมากที่สุด...