สพฐ.เข้มกำหนด "6 มิติ-44 มาตรการ" รับมือเปิดเทอมใหม่ยุค "NEW Normal"

1 กรกฎาคม 2563

วันเปิดภาคเรียนที่ 1 ประจำปีการศึกษา 2563 ท่ามกลางสถานการณ์ที่ไม่ปกติ จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโควิด-19 ที่ต่อเนื่องมาตั้งแต่ปลายปี 2562

ถือเป็นครั้งแรกที่กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) มีการประกาศขยับวันเปิดภาคเรียนที่ 1 ออกไปยาวนานถึง 45 วัน จากเดิมที่กำหนดเปิดเทอมในช่วงกลางเดือนพฤษภาคมของทุกปี

และนับจากนี้อีกเพียง 8 วัน ก็จะถึงวันเปิดภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2563 ตามที่กำหนด แม้สถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ในประเทศไทยจะคลี่คลายลงตามลำดับ ทำให้ศูนย์บริหารสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบค.) ประกาศผ่อน คลายมาตรการการเฝ้าระวังต่างๆ จนถึงระยะที่ 4 รวมถึงการยกเลิกเคอร์ฟิวไปแล้วทั่วประเทศ แต่ ศบค.เองก็ยังคงกังวล และย้ำเตือนให้ประชาชนคนไทยทุกคนห้ามการ์ดตก หรือประมาทกับการใช้ชีวิตในช่วงผ่อนคลายมาตรการต่างๆอย่างเด็ดขาด

...

โดยเฉพาะอย่างยิ่งเด็กนักเรียนที่กำลังจะเปิดเทอมใหม่นี้ หากชะล่าใจแม้แต่น้อย จนเกิดการแพร่ระบาดเกิดขึ้นภายในโรงเรียน ถึงตอนนั้นคงกลายเป็นฝันร้ายของประเทศไทยอย่างที่หลายๆฝ่ายกังวลแน่นอน

เพราะนั่นย่อมหมายถึงการระบาดในรอบ 2 ทั้งเชื้อไวรัสมรณะนี้จะสามารถแพร่กระจายอย่างรวดเร็วแบบ Super spread หรือ “ไฟลามทุ่ง” ไปยังบุคคลในบ้าน และผู้ใกล้ชิดของเด็กนักเรียน ทั้ง ครู พ่อแม่ ญาติพี่น้อง โดยเฉพาะผู้สูงอายุซึ่งเป็นกลุ่มเสี่ยงต่อการมีอาการหนักถึงขั้นสูญเสียชีวิต

และก่อนถึงวันเปิดภาคเรียนในอีกไม่กี่วันข้างหน้านี้ ทีมข่าวการศึกษา ขอนำเสนอมาตรการเตรียมความพร้อมรับเปิดเทอมใหม่แบบ “New Normal” ในส่วนของ ศธ. โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ที่มีโรงเรียนในสังกัดเกือบ 3 หมื่นแห่งทั่วประเทศ

ดร.อำนาจ วิชยานุวัติ เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) เปิดเผยว่า สพฐ. มีโรงเรียนในสังกัด จำนวน 29,467 แห่ง แยกเป็นโรงเรียนประถมศึกษา 27,109 แห่ง แบ่งเป็นโรงเรียนขนาดเล็กมีนักเรียน 1-120 คน 14,665 แห่ง ขนาดกลาง 121-600 คน 11,588 แห่ง ขนาดใหญ่ 601-1,500 คน 689 แห่ง และขนาดใหญ่พิเศษ 1,501 คนขึ้นไป 167 แห่ง โรงเรียนมัธยมศึกษา 2,358 แห่ง แบ่งเป็นขนาดเล็ก 1-499 คน 1,168 แห่ง ขนาดกลาง 500-1,499 คน 687 แห่ง ขนาดใหญ่ 1,500-2,499 คน 264 แห่ง และขนาดใหญ่พิเศษ 2,500 คนขึ้นไป 239 แห่ง

“...เปิดเทอมใหม่วันที่ 1 กรกฎาคมนี้ สพฐ.กำหนดรูปแบบในการจัดการเรียนการสอนไว้ 3 รูปแบบ 1.การเรียนในชั้นเรียน (On-Site) การเรียนการสอนที่เน้นการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ในโรงเรียนหรือในชั้นเรียนเป็นหลัก 2.การเรียนผ่านโทรทัศน์ (On-Air) การเรียนการสอนทางไกลผ่านโทรทัศน์ในระบบดิจิทัล และระบบดาวเทียม เพื่อให้นักเรียนเข้าถึงการเรียนรู้ในทุกครัวเรือน และ 3.การเรียนการสอนแบบออนไลน์ (Online) เป็นการศึกษาผ่านเครือข่ายอินเตอร์เน็ต โดยนักเรียนสามารถเลือกเรียนตามความสนใจ หรือครูอาจกําหนดเนื้อหาการเรียนรู้เพื่อให้นักเรียนเข้าถึงเนื้อหาด้วยตนเองได้ทุกที่ทุกเวลา นักเรียน ครู และเพื่อนร่วมชั้นเรียน สามารถติดต่อ สื่อสาร ปรึกษา หรือแลกเปลี่ยนความคิดเห็นแบบเดียวกับการเรียนในชั้นเรียนทั่วไป” ดร.อำนาจ ฉายภาพรูปแบบการจัดการเรียนการสอน ในยุค “New Normal”

เลขาธิการ กพฐ. ยังเน้นย้ำด้วยว่า สำหรับ โรงเรียนขนาดเล็กที่มีนักเรียน 1-120 คน เปิดเทอมใหม่ 1 กรกฎาคมนี้ ไม่มีปัญหาในการจัดการเรียนการสอน สามารถจัดการเรียนแบบในชั้นเรียนปกติ (On-Site) ได้ เนื่องจากมีนักเรียนต่อห้องไม่เกิน 20 คน สามารถปฏิบัติตามหลัก Social distancing และคู่มือการปฏิบัติสำหรับสถานศึกษาในการป้องกันการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ของกรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ได้ ส่วนโรงเรียนอื่นๆ โดยเฉพาะ โรงเรียนขนาดใหญ่ และขนาดใหญ่พิเศษอาจจะมีปัญหาอยู่บ้าง เพราะมีจำนวนนักเรียนต่อห้องเกิน 20 หรือ 25 คน สพฐ.ได้เสนอรูปแบบการจัดการเรียนการสอนที่หลากหลาย เช่น การสลับชั้น จันทร์/พุธ/ศุกร์ หรือ อังคาร/ พฤหัสบดี, การสลับชั้นเข้ามาเรียนวันคู่ วันคี่ หรือการสลับกลุ่มแบ่งนักเรียนในห้องเรียนเป็น 2 กลุ่มแยกเรียนเช้าบ่าย หรือรูปแบบอื่นๆ ตามที่โรงเรียนเห็นสมควร แต่จะต้องเป็นไปตามมาตรการป้องกันทางด้านสาธารณสุข และจะต้องนำเสนอรูปแบบการจัดการเรียน การสอน และได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการศึกษาธิการจังหวัด (กศจ.) และศูนย์ปฏิบัติการควบคุมโรคจังหวัด (ศปก.จ.) ก่อน ซึ่งเท่าที่ สพฐ.ได้เปิดให้แต่ละโรงเรียนประเมินตนเองว่ามีความพร้อมที่จะจัดการเรียนการสอนในวันที่ 1 กรกฎาคมนี้หรือไม่ ส่วนใหญ่ต่างพร้อมแบบในชั้นเรียน (On-Site) ตามแนวปฏิบัติ 6 มิติ 44 มาตรการสำคัญ อาทิ การวัดไข้, ใส่หน้ากากอนามัย, ล้างมือ, เว้นระยะห่าง, ทำความสะอาด และลดแออัด เป็นต้น...

“สิ่งที่ สพฐ.เน้นย้ำเป็นพิเศษ นอกเหนือจากเรื่องความปลอดภัยของเด็กนักเรียนแล้ว โรงเรียนจะต้องจัดการเรียนการสอนให้ครบหลักสูตรตามความเหมาะสม เช่น กรณีมาเรียนที่โรงเรียนควรมุ่งเน้นกิจกรรมการเรียนรู้ที่มีเนื้อหาซับซ้อน และภาคปฏิบัติ ที่ต้องใช้อุปกรณ์และมีครูดูแล ส่วนการเรียนอยู่ที่บ้าน ควรเน้นเนื้อหาที่สามารถเรียนรู้ได้ด้วยตนเอง และปฏิบัติงานตามที่ครูมอบหมาย เช่น เรียนรู้จากแบบเรียน ใบความรู้ DLTV สื่อการสอนทางไกลผ่านโทรทัศน์ หรือทาง Online และทั้งหมดที่ สพฐ.กำหนดขึ้นมานี้ หลายคนอาจจะมองว่าขั้นตอนดูยุ่งยากเยอะแยะ แต่เพราะเราต้องการให้การเปิดเรียนครั้งนี้ทุกอย่างราบรื่น ทุกภาคส่วนได้มีส่วนร่วมในการป้องกันปัญหาอย่างแท้จริง โดยเฉพาะอย่างยิ่งมาตรการต่างๆ ของแต่ละจังหวัด เพื่อให้เด็กได้รับความปลอดภัยห่างไกลจากการติดเชื้อโรคโควิด-19 ที่สำคัญไปกว่านั้น คือ ให้เด็กนักเรียนได้มีโอกาสเรียนที่โรงเรียนทุกคนอย่างครอบคลุม เท่าเทียม ทั่วถึง ครบถ้วน รอบด้าน และได้เรียนในชั้นต่อไปในปีการศึกษาหน้า หรือเด็กที่จะจบ ม.6 ก็สามารถเรียนในระดับที่สูงขึ้นต่อไปได้” ดร.อำนาจ กล่าวทิ้งท้าย

“ทีมการศึกษา” เชื่อว่าจากมาตรการต่างๆ ของ สพฐ.คงทำให้ผู้ปกครองที่รู้สึกกังวลใจในความปลอดภัยของลูกหลานใจชื้นขึ้นมาบ้าง

แต่เหนือสิ่งอื่นใด มาตรการต่างๆที่ออกมานี้จะประสบความสำเร็จได้หรือไม่ คงไม่ได้ขึ้นอยู่กับสถานศึกษา ครู หรือผู้บริหารสถานศึกษาเพียงฝ่ายเดียว แต่ต้องอาศัยความร่วมมือจากพ่อแม่ ผู้ปกครอง และสังคมที่ จะต้องช่วยกันขับเคลื่อนและลงมือปฏิบัติอย่างเคร่งครัด

เป็นโจทย์ที่ท้าทายกระทรวงศึกษาธิการ และสังคมไทยที่จะพลิกวิกฤติการศึกษายุค “New Normal” ให้ปลอดภัย และมีคุณภาพอย่างแท้จริง.

ทีมการศึกษา

เปรียบเทียบราคาทุกร้าน >>> คลิกที่นี่