นายปรเมธี วิมลศิริ ปลัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) เปิดเผยว่า โครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ (ยูเอ็นดีพี) ได้คัดเลือกและสนับสนุน พม.ในการศึกษาแนวทางระบบสวัสดิการประเทศไทยแบบครอบคลุม ทั่วถึงและยั่งยืน โดยเป็นโครงการศึกษาระยะ 2 ปี ตั้งแต่ พ.ศ.2563-2564 ที่มีโจทย์การออกแบบระบบสวัสดิการสังคมให้สามารถดูแลคนทุกช่วงวัย ตั้งแต่เกิดจนตาย อย่างเช่น การเรียนที่มีข้อเสนอให้มีกองทุนช่วยเหลือค่าเล่าเรียน เพื่อลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา การทำงานที่มีข้อเสนอให้ส่งเสริมการออม การทำให้แรงงานนอกระบบได้เข้ามาในระบบมากขึ้น เพื่อจะได้รับสิทธิประโยชน์ต่างๆ โดยเฉพาะสิทธิประโยชน์จากการว่างงาน เนื่องจากยุคดิสรัปชันได้ทำให้ระบบจ้างงานเกิดการเปลี่ยนแปลง ทั้งยังส่งผลกระทบให้คนตกงานมากขึ้น ส่วนผู้สูงอายุก็ยังไม่สามารถจัดการเงินออมได้ทั่วถึง แม้จะมีเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุจากภาครัฐให้ และมีการเรียกร้องให้มีระบบบำนาญแห่งชาติ
ปลัด พม. กล่าวอีกว่า การศึกษานี้จะมาดูระบบสวัสดิการแบบถ้วนหน้าว่าจะมีขึ้นได้อย่างไร มีอะไรที่จะต้องปรับปรุง ซึ่งต้องรับฟังความคิดเห็นในวงกว้าง และจากสถานการณ์การระบาดของโรคโควิด-19 ทำให้เห็นถึงปัญหาการจัดการระบบสวัสดิการสังคมที่ยังมีช่องโหว่และจุดบอดในหลายประเด็น จำเป็นต้องให้ความสำคัญในระบบสวัสดิการที่เท่าเทียมและเหมาะสมมากยิ่งขึ้น เพื่อจะไม่ต้องมาลงทะเบียนขอรับการช่วยเหลือ แบ่งอาชีพ และต้องพิสูจน์ในช่วงที่มีวิกฤติต่างๆ อย่างไรก็ตาม การจัดระบบสวัสดิการแบบถ้วนหน้าจะส่งผลให้ประชาชนจะต้องจ่ายภาษีเพิ่มหรือไม่นั้น เบื้องต้นต้องไปพิจารณาลดความซ้ำซ้อนการช่วยเหลือก่อน เช่นงบสนับสนุนอาชีพ งบสนับสนุนราคาต่างๆ เชื่อว่าหากมีการจัดระบบทุกอย่างให้มีประสิทธิภาพมากขึ้นก็อาจมีเงินพอมาใช้ บริหารจัดการที่สอดคล้องมากขึ้น แต่แม้จะต้องจ่ายภาษีเพิ่มจริงๆ ก็คงต้องรับฟังความคิดเห็นประชาชนก่อน ซึ่งที่ผ่านมาบางคนก็ไม่ขัดข้องกับการจ่ายภาษีเพิ่ม หากสามารถสร้างความมั่นใจว่าเขาจะได้รับการดูแลที่ดีจากภาครัฐในยามสูงวัย.
...