ศน.คาดใช้เม็ดเงิน 80 ล้านบาท รุกจัดทำคู่มือแนะนำประกอบศาสนพิธี
นายกิตติพันธ์ พานสุวรรณ อธิบดีกรมการศาสนา (ศน.) เปิดเผยว่า จากการประชุมเกี่ยวกับมาตรการช่วยเหลือเยียวยาศาสนสถานของศาสนาต่างๆที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ซึ่งมีนายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน พร้อมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ สำนักนายกรัฐมนตรี และสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ (พศ.) โดยในส่วนของการเยียวยาพระภิกษุสงฆ์ และวัดของศาสนาพุทธนั้น นายเทวัญ ลิปตพัลลภ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ได้เสนอมาตรการเยียวยาให้ปัจจัยพระภิกษุสงฆ์ 60 บาท/รูป เป็นเวลา 3 เดือน ซึ่งขณะนี้ยังอยู่ระหว่างการพิจารณาของคณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) รวมถึงการพิจารณาการช่วยเหลือเยียวยาของคณะกรรมการย่อยที่จะพิจารณาช่วยเหลือกรณีลดค่าน้ำ ค่าไฟให้กับวัดจากการไฟฟ้านครหลวง และการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค รวมถึงค่าน้ำประปาของการประปานครหลวง และการประปาส่วนภูมิภาคอีกด้วย
อธิบดีกรมการศาสนา กล่าวอีกว่า สำหรับในส่วนของกรมการศาสนาได้มีการเสนอมาตรการในการเยียวยาศาสนสถานของ 4 ศาสนา ได้แก่ โบสถ์คริสต์ มัสยิดของศาสนาอิสลาม เทวสถานและโบสถ์พราหมณ์ รวมถึงวัดซิกข์ ที่อยู่ในความดูแลรวมทั้งหมดกว่า 8,000 แห่ง โดยเสนอในวงเงินแห่งละ 5,000 บาท เป็นเวลา 2 เดือน รวมจำนวน 80 ล้านบาท สำหรับใช้เป็นค่าบริหารจัดการของศาสนสถานแต่ละแห่ง โดยอยู่ระหว่างการพิจารณา ของ สศช. รวมถึงกรณีการพิจารณาเรื่องการช่วยเหลือเรื่องค่าไฟฟ้า และค่าน้ำประปาเช่นเดียวกันกับการช่วยเหลือวัดของศาสนาพุทธ หากมีการลดค่าใช้จ่ายค่าน้ำและค่าไฟฟ้าของศาสนสถานลงได้ ก็อาจจะมีการพิจารณาปรับลดงบประมาณที่จะมีการเสนอขอไปในเบื้องต้นลงมาอีก ทั้งนี้ คาดว่าจะรับทราบความชัดเจนกรณีดังกล่าวนี้ได้ภายในสัปดาห์หน้า
...
“จากการที่ศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือ ศบค. ได้มีการผ่อนปรนมาตรการระยะที่ 4 ทำให้สามารถมีการจัดกิจกรรม และการประกอบพิธีกรรมทางศาสนาผ่อนคลายด้วยนั้น ทางกรมการศาสนาจึงประสานกับเครือข่ายองค์กรทั้ง 5 ศาสนา ในการกำกับดูแลการประกอบศาสนพิธีต่างๆ ทั้งวัดสำคัญทางศาสนาของศาสนาพุทธ รวมถึงอีก 4 ศาสนา ให้สามารถจัดกิจกรรมและปฏิบัติศาสนกิจทางศาสนาได้ แต่ให้ปฏิบัติตามมาตรการควบคุมโรคอย่างเคร่งครัด โดยเฉพาะการเว้นระยะห่าง มีระบบการลงทะเบียน ตรวจวัดไข้ นอกจากนี้ ยังได้มีการหารือกับทางกรมการอนามัย ในการจัดทำคู่มือคำแนะนำเกี่ยวกับการประกอบศาสนพิธี และพิธีกรรมของทั้ง 5 ศาสนาตามแบบวิถีใหม่ คาดว่าจะแล้วเสร็จเร็วๆนี้” นายกิตติพันธ์กล่าว.