นายสยาม นนท์คำจันทร์ โฆษกประจำสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) หรือ พอช. เปิดเผยว่า หลัง พอช.ได้ลงนามบันทึกความร่วมมือกับ 8 ภาคีเครือข่าย เพื่อสำรวจแจงนับจำนวนคนไร้บ้านครอบคลุมพื้นที่ทุกจังหวัดของประเทศไทย สำรวจในเดือน เม.ย.-พ.ค.62 โดยเก็บข้อมูลในเขตเทศบาลขนาดเล็กและขนาดกลางแต่ละจังหวัดและเขตเทศบาลขนาดใหญ่ครอบคลุม 16 จังหวัด ผลสำรวจพบคนไร้บ้านทั้งในพื้นที่สาธารณะและศูนย์พักคนไร้บ้านแบบเปิดทั้งของภาคประชาสังคมและภาครัฐ ทั้งสิ้น 2,719 คน จำแนกเป็นเพศชาย ร้อยละ 86 และเพศหญิงร้อยละ 14 ช่วงอายุที่พบส่วนใหญ่ร้อยละ 57 อยู่ในช่วงวัยแรงงานตอนปลายอายุ 40-59 ปี และมีสัดส่วนผู้สูงอายุอายุ 60 ปีขึ้นไปร้อยละ 18 ประเด็นการอยู่อาศัยส่วนใหญ่เป็นการอยู่ตัวคนเดียวประมาณร้อยละ 52

นายสยามกล่าวว่า ผลสำรวจได้นำมาวิเคราะห์พบข้อมูลที่น่าสนใจดังนี้ คนไร้บ้านส่วนใหญ่อาศัยอยู่ในเมืองใหญ่ กรุงเทพฯเป็นจังหวัดที่มีคนไร้บ้านมากที่สุด ร้อยละ 38 รองลงมานครราชสีมา ร้อยละ 5 เชียงใหม่ สงขลา ร้อยละ 4 ชลบุรีและขอนแก่น ร้อยละ 3 ที่น่าสนใจคือพบคนไร้บ้านในพื้นที่ของทุกจังหวัด ทั้งยังพบว่ามีคนไร้บ้านที่มีความพิการที่เห็นได้ชัด ร้อยละ 4 มีปัญหาสุขภาพจิตร้อยละ 7.6 นอกจากนี้ คนไร้บ้านสูงอายุมีสัดส่วนอยู่คนเดียวร้อยละ 60 มากกว่าคนไร้บ้านกลุ่มอื่น ส่วนหนึ่งสะท้อนให้เห็นถึงการไม่มีที่พึ่งพิงในภาวะหรือช่วงวัยที่ต้องการ ส่วนคนไร้บ้านเพศหญิงส่วนใหญ่จะมีลักษณะการอยู่เป็นครอบครัวหรืออยู่รวมกับคนไร้บ้านอื่นๆมากกว่าคนไร้บ้านเพศชาย

ส่วนหนึ่งมาจากต้องการการปกป้องหรือพึ่งพิง การแจงนับคนไร้บ้านชี้ให้เห็นว่าภาวะไร้บ้านเป็นเพียงช่วงหนึ่งของชีวิต และประเด็นคนไร้บ้านอาจมิใช่ปัญหาในตนเอง แต่สะท้อนให้เห็นหรือเป็นผลลัพธ์ปัญหาทางสังคม ทั้งความเหลื่อมล้ำ ความยากจน และความรุนแรงในครอบครัว ทั้งนี้ ข้อมูลที่ได้จะนำมาเป็นข้อเสนอเชิงนโยบายเพื่อพัฒนาคนไร้บ้านให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น เพื่อลดความเหลื่อมล้ำตามนโยบายของรัฐบาล และสอดคล้องวิสัยทัศน์ของกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ที่กำหนด “คนไทยทุกคนมีที่อยู่อาศัยถ้วนทั่วและมีคุณภาพชีวิตที่ดีในปี 2579”.

...