ภาควิชาเทคโนโลยีการอาหารฯ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม เผยกรรมวิธีทำข้าวเหนียวหมู โครงการกล่องข้าวน้อยช่วยแม่ ช่วยน้ำท่วมอุบลฯ ยืนยันปลอดภัย อยู่นอกตู้เย็นได้ 2 ปี

จากกรณี โครงการ "กล่องข้าวน้อยให้แม่" ของภาควิชาเทคโนโลยีการอาหารและโภชนศาสตร์ คณะเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยมหาสารคาม ซึ่งเป็นการผลิต ข้าวเหนียวหมูย่าง สเตอริไลซ์ เป็นข้าวเหนียว 120 กรัม และหมูย่าง 50 กรัม บรรจุในบรรจุภัณฑ์ที่เล็ก ขนส่งง่าย เพื่อนำไปแจกจ่ายให้ผู้ประสบภัยน้ำท่วม 

ซึ่งหลังจากผ่านกระบวนการทั้งหมดแล้ว "ข้าวเหนียวหมูย่าง" จะเก็บนอกตู้เย็นได้ถึง 2 ปี โดยผู้ประสบภัยสามารถกินได้เลย โดยไม่ต้องอุ่น แต่ข้าวเหนียวอาจจะแข็งเป็นปกติ หรือจะนำไปต้มทั้งถุง ในน้ำเดือด 3-5 นาที หรือนำไปอุ่นในไมโครเวฟ 1-2 นาที 

อย่างไรก็ตาม หลังจากที่มีการนำเสนอเรื่องนี้ออกไป ก็มีคนในโลกโซเชียลไม่น้อย ตั้งคำถามว่า ข้าวเหนียวหมู จะสามารถอยู่นอกตู้เย็นได้นานถึง 2 ปี โดยที่ไม่เสียจริงหรือ

ทั้งนี้ เฟซบุ๊ก "Foodtech MSU" ของภาควิชาเทคโนโลยีการอาหารและโภชนศาสตร์ คณะเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยมหาสารคาม ได้ยืนยันว่า ข้าวเหนียวหมู ในโครงการกล่องข้าวน้อยให้แม่ ปลอดภัย และสามารถเก็บนอกตู้เย็นได้มากกว่า 2 ปี

...

พร้อมอธิบายขั้นตอนการผลิตว่า ก่อนที่แรงงานจิตอาสา จะเข้าไปแพ็กของต้องผ่านขั้นตอนก่อนการฆ่าเชื้อ ทั้งล้างมือ ใช้เน็ตคลุมผม ส่วนโต๊ะมีการเช็ดทำความสะอาดด้วยน้ำยาฆ่าเชื้อ โดยมีอาจารย์และนักวิทยาศาสตร์อยู่กับน้องนิสิตด้วย

โดยผู้สัมผัสอาหาร เป็นปี 3 ขึ้นไป ผ่านรายวิชา food micro, food processing แล้ว ส่วนน้องๆ ปี 1 และ 2 มีความรู้ด้านวิทย์เบื้องต้น เป็นฝ่ายสวัสดิการดูแลน้ำท่า อำนวยความสะดวกให้พี่ๆ 

หลังการบรรจุ ปิดผนึกให้ปิดสนิท มีการ QC รอยซีล โดยอาจารย์ทางด้าน food processing ซึ่งทั้งหมดมีการทดลอง ก่อนที่จะมีการลงมือทำจริง

และเมื่อเข้าสู่กระบวนการฆ่าเชื้อ retort หรือเรียกกันง่ายๆ ว่า หม้อรีทอร์ท จะถูกควบคุมโดย อ.ดร.อัศวิน อมรสิน ที่มีใบอนุญาตผ่านการอบรม การเป็นผู้ควบคุมเครื่องมือฆ่าเชื้อด้วยความร้อน ระดับอุตสาหกรรม processauthoriy มีพี่ๆ ปี 4 คอยเฝ้าระวังอุณหภูมิอย่างใกล้ชิด ซึ่งข้าวเหนียวหมูจะถูกบรรจุลงในถุงทนความร้อนสูง ที่เรียกว่า retortpouch หลังการฆ่าเชื้อ จะไม่มีเชื้อจุลินทรีย์หลงเหลืออยู่ หากถุงไม่รั่วซึม ก็ไม่เน่าเสีย

ด้าน อาจารย์ ดร.อัศวิน อมรสิน กล่าวว่า จุดเริ่มต้นของการทำ “กล่องข้าวน้อยให้แม่” หรือข้าวเหนียวหมูย่างสเตอริไลซ์ มาจากติดตามข่าวน้ำท่วมในหลายพื้นที่ โดยเฉพาะจังหวัดอุบลราชธานี ที่ค่อนข้างหนัก และยาวนาน จึงอยากใช้ความรู้ความสามารถที่มีในเรื่องของการถนอมอาหาร และบรรจุภัณฑ์ มาเป็นส่วนหนึ่งในการช่วยเหลือ และเกิดไอเดีย ทำข้าวเหนียวหมูย่าง สเตอริไลซ์ ที่เก็บไว้ได้นาน 2 ปีขึ้นมา และตั้งชื่อว่า “กล่องข้าวน้อยให้แม่” โดยมีแรงบันดาลใจมาจากนิทานท้องถิ่นเรื่อง "ก่องข้าวน้อยฆ่าแม่" จังหวัดยโสธร ที่ลูกหิวโมโหเพราะเห็นก่องข้าวน้อยของแม่ เป็นแค่ก่องข้าวเล็กๆ คิดว่าตัวเองจะกินไม่อิ่มแน่ๆ แล้วลูกก็ฆ่าแม่ สุดท้ายแล้วก็กินไม่หมด 

สำหรับขั้นตอนการผลิตเริ่มจาก เตรียมวัสดุ อุปกรณ์ เปิดรับเงินบริจาคเพื่อเป็นทุนในการจัดซื้อวัตถุดิบ เช่น หมู ข้าวเหนียว เครื่องปรุงหมักหมู บรรจุภัณฑ์สำหรับห่อ จากนั้นเข้ามาสู่กระบวนการผลิต โดยตั้งเป้าจะผลิตให้ได้ 10,000 ชุด แต่เนื่องจากกำลังการผลิตทั้งแรงคน และ เครื่องมืออุปกรณ์ของเราไม่เพียงพอ สามารถผลิตได้เพียง 2,000 ชุด ซึ่งจะได้เดินทางนำส่งผู้ประสบภัยน้ำท่วมในวันพรุ่งนี้ (16 ก.ย.62) ที่จังหวัดอุบลราชธานี และเงินบริจาคที่เหลือ ได้จัดเป็นชุดยา “กล่องยาน้อยให้แม่” 1,000 ชุด ส่งไปพร้อมกับชุดข้าวเหนียวหมูย่างด้วย.

ที่มาจาก เฟซบุ๊ก Foodtech MSU

ข่าวที่เกี่ยวข้อง