เป็นโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์แบบคงเส้นคงวา ด้วยเหตุที่ไม่ว่าจะมีการพัฒนาเชื้อโรคใหม่ๆยาใหม่ๆ หรือแม้แต่วิธีการตรวจคัดกรอง ป้องกัน และรักษาแบบใหม่ๆ ขนาดไหน “ซิฟิลิส” ก็ยังคงเป็นปัญหาโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์แบบคงสถิติ คือ มีการตรวจพบอยู่เรื่อยๆในผู้ป่วยกลุ่มต่างๆทั้งชาย หญิง หรือแม้แต่เพศที่สาม
ในช่วง 2-3 ปี มานี้ มีการตรวจพบซิฟิลิสในกลุ่มวัยรุ่นอายุ 15-20 ปีเพิ่มมากขึ้น สาเหตุส่วนหนึ่งน่าจะมาจากการมีเพศสัมพันธ์เร็วขึ้นของวัยรุ่น กลุ่มอายุที่พบมากที่สุด คือ 15-24 ปี รองลงมา คือ 25-34 ปี และ 65 ปีขึ้นไป แต่ที่น่าเป็นห่วงอีกกลุ่มหนึ่ง คือ เด็กทารก ซึ่งพบว่ามีการติดเชื้อซิฟิลิสจากมารดาที่ป่วยด้วยโรคนี้ และถ่ายทอดจากแม่สู่ลูกมากขึ้น โดยในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา พบทารกป่วยด้วยโรคซิฟิลิสแต่กำเนิดเพิ่มมากขึ้นถึงปีละมากกว่า 100 ราย นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ อธิบายว่า ซิฟิลิสเป็นโรคซึ่งเกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรียที่ติดต่อได้ทางเพศสัมพันธ์ สารคัดหลั่งรวมทั้งทางเลือด และสามารถติดต่อจากแม่ผ่านทางรกไปสู่ทารกในครรภ์

...
“ทารกที่ป่วยโรคซิฟิลิสส่วนหนึ่งเป็นจากหญิงตั้งครรภ์ที่ไม่ได้รับการฝากครรภ์ จึงไม่ได้รับการตรวจคัดกรองหาการติดเชื้อซิฟิลิส หรือบางรายรับการฝากครรภ์แล้วไม่มีการติดตามผลเลือด แม้จะพบการติดเชื้อแต่ก็ไม่ได้รับการรักษา ทำให้มีการถ่ายทอดเชื้อจากแม่สู่ลูกผ่านทางรก จะตรวจพบก็ต่อเมื่อเข้ารับบริการคลอดในสถานพยาบาล” คุณหมอโอภาส บอกและว่า ทารกที่ติดเชื้อซิฟิลิสจากมารดาจะมีความผิดปกติทางระบบประสาท เช่น หูหนวก ตาบอด และอาจเป็นสาเหตุให้ทารกเสียชีวิต ขึ้นอยู่กับความรุนแรงและระยะเวลาที่ได้รับเชื้อ
อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์บอกว่า การติดเชื้อซิฟิลิสในหญิงตั้งครรภ์เป็นปัญหาสาธารณสุขที่สำคัญและพบได้บ่อยในประเทศไทย องค์การอนามัยโลกจึงมีเป้าหมายกำจัดการติดเชื้อซิฟิลิสจากแม่สู่ลูกให้หมดภายในปี 2563 “การจะทำให้การติดเชื้อซิฟิลิสจากแม่สู่ลูกหมดไปได้ภายใน 1 ปี นับจากปัจจุบัน ตามที่ WHO กำหนด สิ่งสำคัญคือ การตรวจหาเชื้อให้เจอเพื่อวินิจฉัย ซึ่งปัจจุบันสถานพยาบาลต่างๆ ได้มีการใช้ผลิตภัณฑ์น้ำยาวินิจฉัยการติดเชื้อควบคู่ไปกับการวินิจฉัยของแพทย์อยู่แล้ว”



คุณหมอโอภาสบอกว่า วิธีการป้องกันและลดความเสี่ยงต่อการติดโรคซิฟิลิสก่อนการตั้งครรภ์ คือ ควรตรวจร่างกายสามีและภรรยาทั้งก่อนแต่งงานและก่อนมีเพศสัมพันธ์ มีคู่นอนเพียงคนเดียว และใช้ถุงยางอนามัยก่อนมีเพศสัมพันธ์กับคู่นอนที่ไม่มั่นใจว่าปลอดโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ สำหรับหญิงตั้งครรภ์ หากพบว่าเป็นซิฟิลิสควรรีบไปพบแพทย์เพื่อวินิจฉัยและรักษาให้ทันท่วงที
ทั้งนี้ ล่าสุดอธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์แนะนำว่า สถาบันชีววัตถุ ซึ่งเป็นหน่วยงานควบคุมคุณภาพชุดน้ำยาวินิจฉัยโรคติดต่อทางเลือดของกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ได้มีการวางแผนและกำหนดมาตรฐานการประเมินคุณภาพและประสิทธิภาพของชุดน้ำยาตรวจวินิจฉัยโรคซิฟิลิสที่จำหน่ายในประเทศ โดยเฉพาะชุดตรวจแบบรวดเร็วที่มีการใช้งานอย่างแพร่หลาย

คุณหมอโอภาสบอกว่าประเทศไทยมีโอกาสสูงที่จะสามารถกำจัดโรคซิฟิลิสแต่กำเนิดได้ เพราะระบบที่มีอยู่เอื้อต่อการดำเนินงาน ทั้งการคัดกรอง การตรวจวินิจฉัย และดูแลรักษาหญิงตั้งครรภ์ สามี หรือคู่เพศสัมพันธ์ และทารก เพื่อทำให้บรรลุเป้าหมายขององค์การอนามัยโลก ว่าด้วยการกำจัดการติดเชื้อซิฟิลิสจากแม่สู่ลูก สถาบันชีววัตถุ กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ได้เตรียมความพร้อมสำหรับการประเมินคุณภาพและประสิทธิภาพทั้งก่อนและหลังจำหน่ายน้ำยาตรวจวินิจฉัยภายในประเทศ ซึ่งพร้อมให้บริการภายในปี 2562 เพื่อให้ผู้ใช้มั่นใจว่าชุดตรวจวินิจฉัยมีคุณภาพและสามารถนำไปใช้ทดสอบในหญิงตั้งครรภ์ตามแผนการกำจัดโรคซิฟิลิสจากแม่สู่ลูก เพื่อนำไปสู่การควบคุมการแพร่กระจายและติดตามผลการรักษาโรคในประเทศไทยได้อย่างมีประสิทธิภาพ
ซึ่งเชื่อว่าประเทศไทยจะสามารถบรรลุวัตถุประสงค์ตามเป้าหมายขององค์การอนามัยโลกได้แน่นอน.

