ดาราจักรหรือกาแล็กซีทางช้างเผือกของเรานั้นเป็นสมาชิกของกลุ่มกาแล็กซีในท้องถิ่นเดียวกัน (Local Group Galaxy) ซึ่งสืบพบว่ามีจำนวนกว่า 40 กาแล็กซี แต่กาแล็กซีเพื่อนบ้านหรือบางครั้งเรียกว่าบริวารที่อยู่ใกล้ทางช้างเผือกของเรามากที่สุดก็คือ กลุ่มเมฆแมกเจลแลนใหญ่ (Large Magellanic Cloud-LMC) และกลุ่มเมฆแมกเจลแลนเล็ก (Small Magellanic Clouds)
การสอดส่องดูกาแล็กซีเพื่อนบ้านเหล่านี้ไม่ยาก เพราะเรามีกล้องโทรทรรศน์ขนาดใหญ่วีแอลที (Very Large Telescope) เป็นตัวช่วย ซึ่งเมื่อเร็วๆ นี้ อุปกรณ์อัจฉริยะชื่อ มิวส์ (Multi Unit Spectroscopic Explorer-MUSE) ที่ติดตั้งอยู่บนกล้องโทรทรรศน์ดังกล่าว ได้ตรวจดูกลุ่มเมฆแมกเจลแลนใหญ่ที่ห่างจากโลก 160,000 ปีแสง ก็พบแสงส่องสว่างแลดูคล้ายฟองอากาศขนาดใหญ่ตรงบริเวณที่ตั้งชื่อว่า HII region LHA 120-N 180B อยู่ในกลุ่มดาวภูเขา (Mensa)
เมื่อส่องลึกเข้าไปข้างในก็พบว่าเนบิวลานี้มีดาวฤกษ์อายุน้อยที่มีมวลมากกว่าดวงอาทิตย์ 12 เท่าอาศัยอยู่ มันถูกล้อมรอบด้วยก๊าซหรือของเหลวที่มีวัตถุเล็กๆ ก่อตัวขึ้นในนั้น เรียกว่าเฮอร์บิก-ฮาโร 1177 (Herbig-Haro 1177) หรือ HH 1177 ฉีดพุ่งออกมาระหว่างการปะทะกันของฝุ่น เมฆก๊าซ และดาวฤกษ์อายุน้อย ซึ่งนี่เป็นครั้งแรกที่พบเห็นเฮอร์บิก-ฮาโรพุ่งออกมาจากกลุ่มแสงที่น่าตื่นตะลึงนั้น.
ภาพ Credit : ESO, A McLeod et al.