รศ.นพ.สถาพร มานัสสถิต ประธานชมรมลำไส้เล็ก ลำไส้ใหญ่ สมาคมแพทย์ระบบทางเดินอาหารแห่งประเทศไทย กล่าวว่า กลุ่มโรคลำไส้อักเสบเรื้อรัง หรือ Inflammatory Bowel Disease : IBD พบผู้ป่วยในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เพิ่มมากขึ้น ในทุกช่วงอายุ โดยอายุที่มักเริ่มมีอาการคือ 20-40 ปี ซึ่งสถานการณ์ในไทยมีแนวโน้มอุบัติการณ์ของโรคเพิ่มขึ้น ทั้งนี้ โรค IBD มีอาการคล้ายกับโรคระบบทางเดินอาหารอื่น เช่น โรคกระเพาะ โรคริดสีดวงทวาร หรือโรคลำไส้แปรปรวน จึงมักทำให้ผู้ป่วยไม่เฉลียวใจ ว่าอาการปวดท้อง ท้องเสีย หรือถ่ายเป็นเลือด ที่เกิดขึ้นเป็นอาการของ IBD ทำให้ได้รับการรักษาที่ไม่ตรงกับโรค

ผศ.นพ.จุลจักร ลิ่มศรีวิไล แพทย์ผู้เชี่ยวชาญ ด้านโรคลำไส้อักเสบเรื้อรัง กล่าวว่า โรคลำไส้อักเสบเรื้อรังเกิดจากภูมิคุ้มกันของผู้ป่วยทำงานมากผิดปกติ จึงทำให้เกิดการอักเสบขึ้นคล้ายกับโรคพุ่มพวง แต่ต่างกันที่โรค IBD จะเกิดการอักเสบที่ระบบทางเดินอาหารเป็นหลัก หากไม่ได้รับการรักษาอย่างถูกต้อง อาจเกิดภาวะแทรกซ้อน เช่น ลำไส้ตีบตัน ลำไส้ทะลุ และมีโอกาสเสี่ยงเป็นมะเร็ง หรืออาจเกิดโรคแทรกซ้อนถึงขั้นเสียชีวิตได้.