สถิติ “ช้างป่า” เมืองไทยเคยมีมากเป็นหมื่นเป็นแสนตัว แต่จากการปล่อยให้มีการล่ามานาน ทำให้ประชากรช้างป่าลดลงอย่างน่าใจหาย จนล่าสุดเหลืออยู่ราวๆ 2,000–3,000 ตัว ที่จำต้องออกมาหากินตามเรือกสวนเกษตรกร จนกลายเป็นปัญหาขณะนี้
สมัยหนึ่งเมื่อป่ายังเปิดเสรีก่อนปี 2464 ที่ป่าจะถูกปิดด้วย พ.ร.บ.รักษาช้างป่า รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว เพื่อคุ้มครองชีวิตช้างและงา การล่าแบบ “คล้องช้าง” สมัยนั้นยังสามารถทำได้โดยไม่ผิดกฎหมาย ด้วยเจตนาการล่าเพียงเพื่อนำมาฝึกก่อนเข้าทำงานในป่าร่วมกับคนแทนเครื่องจักรกล
ไม่ใช่ล่า “เสือดำ” แบบป่าเมืองกาญจน์ ที่หวังแล่เนื้อมาทำยาชูกำลัง และถลกหนังมาทำเครื่องประดับบ้าน.....การออกคล้องช้างป่าโดยส่วย จังหวัดสุรินทร์ก็ดี โดยหมอช้างแถบป่าละอู จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ หรือหมอช้างแถบป่าห้วยขาข้าง จังหวัดอุทัยธานี กับป่าภูเขียว จังหวัดชัยภูมิ ก็ดี
....ล้วนมีศาสตร์อาคมพลังเวทมนตร์ เป็นตำนานคล้องช้างป่าที่ขลังด้วยกันทั้งนั้น
O O O O
สัญญา สุวรรณรุจ วัย 43 ปี ทายาทรุ่นหลานปู่ทองดี หมอช้างวัย 80 ปี ชาวชัยภูมิที่ยังมีชีวิตอยู่ เคยเล่าให้หลานฟังว่า คนจะออกคล้องช้างป่าสมัยนั้น มีหมอช้างทำหน้าที่คล้องเท้าช้าง ส่วนควาญจะเป็นผู้บังคับช้างต่อล่อช้างป่า โดยก่อนออกทำงานทุกครั้งจะมีการเซ่นผีเชือกปะกำ ที่จะนำไปคล้องบังคับข้อเท้าช้างป่ามาเป็นบริวาร...“เชือกปะกำทำจากหนังควายตากแห้ง 3 ตัว มาควั่นเป็นเชือกได้ 1 เส้น มีความเหนียวและคงทนพอจะหยุดพลังช้างป่าได้ และจำเป็นต้องเลือกหนังควายตายโหง เพราะมีอำนาจศักดิ์สิทธิ์เหนือควายที่ตายตามธรรมชาติ ยิ่งถ้าเป็นหนังควายถูกฟ้าผ่าตายก็จะมีแรงพลังมากมหาศาลตามความเชื่อหมอช้าง”
...

การเซ่นผีปะกำใช้เครื่องเซ่นสำคัญ 3 อย่างได้แก่ ไก่ หัวหมู เหล้าขาว โดยไก่ที่นำมาใช้ถ้าหัวขาวสะอาดหมายความว่า การเข้าป่าเที่ยวนั้นจะปลอดภัย แต่ถ้าไม่...ให้หยุดคิดก่อนหยุดออกป่าเที่ยวนั้น เพราะไม่ปลอดภัยตามการเสี่ยงทายแน่นอน...ต่อมาให้ดูที่คางไก่ ซึ่งมีลักษณะคล้ายหงอนยื่นออกมา 3 หงอน ถ้าหงอนชี้ยื่นไปทางเดียวกันทั้งหมดนั่นหมายถึงจะโชคดี แต่ถ้าหงอนอันกลางชี้กลับไปด้านหลัง...
พึงสำรวมว่า...การเดินทางเที่ยวนั้นจะสุ่มเสี่ยงด้วยเหมือนกัน
ระหว่างพิธีเซ่นผีปะกำ คำพูดที่ใช้กันก็จะเป็นภาษาผีโดยเฉพาะ เช่น “บัญญัติ” คือเหล้าขาว “สะแอม” คือไก่ “กำพวด” หมายถึงไม้ขีด ส่วน “ขี้เถ้า” รู้กันว่าคือบุหรี่ โดยถ้าไม่ใช้ภาษาที่ว่านี้ พิธีกรรมนั้นอาจจะเสื่อมความขลังไปทันที...สุดท้ายจะเป็นการ “เสี่ยงมีด” โดยหมุนมีดบนเชือกผีปะกำ...ดูว่าปลายมีดหันไปทิศทางใด ก็ให้เลือกเดินทางไปทิศนั้นถึงจะโชคดีมีชัยในการคล้องช้าง
การออกป่าคล้องช้างแต่ละครั้งจะนานเป็นเดือน ช่วงดังกล่าวผู้เป็นเมียจะต้องดำรงชีวิตไม่ส่อเสียดเป็นหญิงกาลกิณี อยู่กับเรือนไม่ออกไปไหน ไม่สางผมจนเกินงาม ไม่แต่งหน้าทาปากทาเล็บ ไม่กล่าววาจาโกหกไม่ว่ากับใคร และต้องไม่คบชู้สู่สม...มิฉะนั้นแล้วภัยร้ายจะเกิดกับคนเป็นผัวในราวป่าทันที

O O O O
วันนี้...ทายาทหมอล่าช้างในอดีต สัญญา สุวรรณรุจ ได้ผันชีวิตมาเป็นหัวหน้าคนเลี้ยงช้างสวนนงนุชพัทยานานกว่า 20 ปี เล่าว่า ปัจจุบันที่นี่มีช้างที่ส่วนใหญ่เป็นช้างเลี้ยง ตกลูกเป็นรุ่นๆอยู่ 86 เชือก โดยช้างทุกเชือกกับควาญทุกคนจะได้รับการสู่ขวัญ ด้วยการเซ่นบูชาประจำทุกเดือนตามธรรมเนียมโบราณ...“พิธีบูชาทุกครั้งจะมีการเซ่นผีปะกำ จากศาลที่ตั้งอยู่ภายในหมู่บ้านช้าง ตามความเชื่อที่ว่า มีความศักดิ์สิทธิ์ต่อชีวิตช้างทุกเชือก ส่วนเครื่องเซ่นจะเรียกเป็นภาษาผี คือมีบัญญัติ สะแอม กำพวด และขี้เถ้า”
การดูแลช้างคนเลี้ยงทุกคนต้องหมั่นเอาใจใส่เหมือนคนรุ่นหมอช้าง เฝ้าคอยสังเกตตั้งแต่เล็บเท้าช้าง ถ้ามีเหงื่อออกตามกีบตลอดเวลาแสดงว่าช้างไม่มีไข้ หรือตาใสก็จะไม่มีอาการซึมเศร้า และเมื่อหางกับหูกระดิกถี่แสดงว่าสุขภาพสมบูรณ์...กรณีช้างล้มจะมีการนิมนต์พระสวด ก่อนฝังไว้คู่กับศาลผีปะกำ ส่วนช้างพลายต้องคอยระวัง ช่วงตกมันขมับจะบวมและถ้าน้ำมันไม่ไหลออกมาให้เห็น อาจทำให้ช้างล้มถึงตายได้
ตรงนี้เองที่ผิดกับช้างป่าซึ่งมี “น้ำมันพญา” ไหลตกลงมาเป็น “น้ำมันแดง” ตลอดเวลา บางทีก็ราดรดตามขาถึงอวัยวะเพศ เพราะความสมบูรณ์ที่ได้จากป่า...“ช้างตกมันทุกครั้งจะจำใครไม่ได้แม้แต่คนเลี้ยง สวนนงนุชฯมีพลายเบิร์ดวัย 40 ปี เป็นช้างกินดีอยู่ดีจึงมักมีอาการตกมันสูงถึงปีละ 3 ครั้ง เคยทับช้างออกลูกหลานมาแล้ว 80 เชือก ทั้งช้างในสวนและนอกสวนที่เจ้าของช้างสาวมาขออาศัยให้พลายเบิร์ดช่วยทับ......”

แม้โลกจะเปลี่ยนไปแค่ไหน ทว่าการใช้ คาถาอาคมคนเลี้ยงช้างยังคงสืบทอดต่อๆกันมาจากรุ่นสู่รุ่นด้วย “ศรัทธา”...ที่นำมาซึ่งเรื่องราวอันเป็นปาฏิหาริย์? ที่ใครไม่เชื่อก็โปรดอย่าได้... “ลบหลู่”.
รัก–ยม