สร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจ

“นิวเคลียร์-ปรมาณู” และ “กัมมันตภาพรังสี” แค่ได้ยินชื่อคนส่วนใหญ่คงนึกถึงภาพของการทำลายล้าง การก่อสงคราม ที่คร่าชีวิตผู้คนไปเป็นจำนวนมากในอดีต

และคงมีไม่กี่คนที่จะนึกหรือเชื่อว่าสิ่งที่ก่อให้เกิดโทษมหันต์ในอดีต จะสามารถก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงที่เป็นประโยชน์ต่อโลกและมวลมนุษยชาติอย่างมากมายมหาศาลในวันนี้

ประเทศไทยมีการนำพลังงานนิวเคลียร์มาใช้ในการพัฒนาประเทศด้านต่างๆมากมาย จนปัจจุบันนิวเคลียร์ได้เข้าไปมีบทบาทในชีวิตประจำวันมากขึ้นทุกวัน

“ในช่วง 1 ทศวรรษที่ผ่านมา พลังงานนิวเคลียร์ถูกนำมาใช้ประโยชน์ด้านต่างๆ เช่น สิ่งแวดล้อม เกษตร อุตสาหกรรม การแพทย์ จนสามารถสร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจและสังคมได้มากกว่า 70,000 ล้านบาท หรือเฉลี่ยปีละประมาณ 5,800-6,000 ล้านบาท นอกจากนี้ยังมีผลงานวิจัยทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีนิวเคลียร์มากกว่า 700 เรื่อง มีการนำไปใช้ประโยชน์ในด้านต่างๆมากกว่า 200 เรื่อง สามารถนำมาต่อยอดเป็นงานบริการเพื่อประโยชน์สาธารณะมากกว่า 30 งานบริการ เช่น งานบริการฉายรังสีอัญมณี งานบริการฉายรังสี งานตรวจวิเคราะห์ทางจุลชีววิทยา งานบริการตรวจวัดกัมมันตภาพรังสี สินค้าส่งออก/นำเข้าฯ” ดร.พรเทพ นิศามณีพงษ์ ผอ.สถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์แห่งชาติ (สทน.) กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี หนึ่งในหน่วยงานของประเทศที่รับผิดชอบเรื่องนิวเคลียร์ ระบุถึงการนำพลังงานนิวเคลียร์มาใช้พัฒนาประเทศ

...

ที่สำคัญพลังงานนิวเคลียร์ยังถูกนำไปใช้ในงานบริการที่สร้างประโยชน์ด้านเศรษฐกิจในระดับประเทศ โดยส่งเสริมภาคธุรกิจและการสร้างรายได้ให้กับประเทศ อาทิ งานบริการตรวจการปนเปื้อนและรักษาคุณภาพสินค้าส่งออกโดยฉายรังสีในอาหารและผลิตผลทางการเกษตร เพื่อฆ่าเชื้อโรคและเพื่อยืดอายุผลิตภัณฑ์ฯ รวมทั้งสนับสนุนให้เกิดการส่งออกผลไม้และผลิตภัณฑ์สินค้าเกษตรที่มีคุณภาพ ไปยังสหรัฐอเมริกา สหภาพยุโรป และประเทศออสเตรเลีย เพื่อให้สินค้ามีมาตรฐานด้านความปลอดภัย และไม่ถูกปฏิเสธการนำเข้าจากประเทศคู่ค้า โดยสามารถเพิ่มรายได้ให้กับผู้ประกอบการชาวไทยได้มากกว่า 2,000 ล้านบาทต่อปี

“ที่ผ่านมาหลายประเทศสั่งห้ามนำเข้าผลไม้สดจากประเทศไทย เนื่องจากไม่มั่นใจในคุณภาพที่อาจมีการปนเปื้อนของแมลงศัตรูพืชที่ติดไปกับผลไม้ รัฐบาลไทยจึงมีความพยายามในการปรับปรุงผลไม้สดให้ได้มาตรฐานปราศจากแมลงศัตรูพืชต่างๆ สทน.ได้ฉายรังสีแกมมาผลไม้ ในปริมาณที่ไม่ก่ออันตรายต่อผู้บริโภค ไม่ก่อมะเร็ง แต่สามารถทำลายไข่แมลงและควบคุมการเจริญแพร่พันธุ์ของแมลงได้อย่างมีประสิทธิภาพจึงปลอดภัยต่อผู้บริโภคอย่างแน่นอน จนปัจจุบันประเทศไทยสามารถส่งออกผลไม้สดไปยังสหรัฐฯ และประเทศอื่นๆได้หลายชนิด” ผอ.สทน.กล่าว

นอกจากนี้ สทน. ยังเป็นหน่วยงานรัฐที่สามารถผลิต เภสัชภัณฑ์ทางรังสี เพื่อใช้วินิจฉัยโรค เช่น มะเร็งต่อมไร้ท่อ ตรวจการทำงานของไต และรักษาโรค อาทิ มะเร็งต่อมไทรอยด์ โรครูมาตอยด์เรื้อรัง บรรเทาอาการปวดจากมะเร็งแพร่กระจาย ฯลฯ โดยแต่ละปีมีผู้ป่วยใช้ยาที่ผลิตโดย สทน. มากกว่า 30,000 ราย ทำให้ไทยลดการนำเข้าเภสัช-ภัณฑ์รังสีจากต่างประเทศสามารถประหยัดเงินได้กว่า 300 ล้านบาท

“ในอนาคตอันใกล้นี้ สทน.มีแผนเพิ่มศักยภาพการฉายรังสีอาหารและผลิตผลทางการเกษตร ขณะนี้อยู่ในขั้นตอนการก่อสร้างและติดตั้งเครื่องฉายรังสีขนาด 3 และ 10 เมกะอิเล็กตรอนโวลต์ คาดว่าจะดำเนินการฉายรังสีผลิตภัณฑ์ต่างๆได้ในปี 2562 ในส่วนของการผลิตเภสัชภัณฑ์รังสีให้มีปริมาณเพิ่มมากขึ้น เพื่อรองรับปริมาณผู้ป่วยมะเร็งและเนื้องอก โดยการก่อสร้างและติดตั้งเครื่องไซโคลตรอน 30 เมกะอิเล็กตรอนโวลต์ คาดว่าจะเริ่มผลิตเภสัช-ภัณฑ์รังสีได้ในปี 2563 และสามารถลดการนำเข้าเภสัชภัณฑ์รังสีได้มากกว่าปีละ 200 ล้านบาท และประชาชนสามารถเข้าถึงการรักษาด้วยเภสัชภัณฑ์รังสีเพิ่มขึ้นปีละกว่า 20,000 ราย” ดร.พรเทพ กล่าวในที่สุด

ที่สำคัญคือการพัฒนาพลังงานนิวเคลียร์ของประเทศ กำลังจะถูกพัฒนาให้ก้าวหน้าขึ้นอีก โดยสทน.จับมือกับ 14 มหาวิทยาลัยจัดตั้ง “ศูนย์ปฏิบัติการวิจัยและพัฒนาพลาสมาและพลังงานฟิวชันแห่งชาติ (Fusion National Lab)” เพื่อศึกษาเรื่องนิวเคลียร์ฟิวชันอย่างเป็นระบบ เพราะประเทศไทยตั้งเป้าพัฒนาเทคโนโลยีนิวเคลียร์ฟิวชันให้เป็นแหล่งพลังงานสะอาดเพื่ออนาคต โดยบรรจุอยู่ในแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาด้านพลังงานนิวเคลียร์ปี 2560-2569 ของคณะกรรมการพลังงานนิวเคลียร์เพื่อสันติ และแผนยุทธศาสตร์ 20 ปี ของกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ เพื่อสร้างองค์ความรู้และบุคลากรเตรียมความพร้อมรองรับเทคโนโลยีสำคัญของโลกในอนาคต

โดย “ฟิวชัน-พลาสมา” เป็นเทรนด์เทคโนโลยีด้านพลังงานที่ประเทศมหาอำนาจทั่วโลกกำลังศึกษา เพราะเป็นพลังงานอีกรูปแบบหนึ่ง มีความสะอาด ปลอดภัย ไม่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม

และนี่คือสิ่งที่มีการมองว่าน่าจะเป็นจุดเริ่มต้นที่จะสามารถผลักดันประเทศไทยให้นำไปสู่ความทันสมัยในด้านต่างๆ และถือเป็นส่วนหนึ่งของจุดเปลี่ยนที่จะพัฒนาประเทศให้ก้าวเข้าสู่ระดับความเป็นสากล

“ทีมข่าววิทยาศาสตร์” มองว่า ถึงวันนี้นิวเคลียร์ ไม่ได้เป็นพลังแห่งการทำลายล้างเท่านั้นอีกต่อไปแล้ว เพราะหากถูกนำมาค้นคว้าวิจัยในทางสร้างสรรค์

สิ่งที่เคยมีแต่โทษมหันต์ก็จะกลับมีคุณอนันต์ ในการสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น รวมถึงสร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจให้ประเทศ เพื่อประโยชน์สุขของมวลมนุษยชาติ.

ทีมข่าววิทยาศาสตร์