"มั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน"

1 ปี 4 เดือน ขับเคลื่อนประเทศ-ระบบสุขภาพ

รัฐบาลภายใต้การนำของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้มีการวางโรดแม็ปสร้างประเทศให้เข้มแข็ง เพื่อทำให้ประเทศสามารถขับเคลื่อนต่อได้อย่างยั่งยืน ภายในระยะเวลา 1 ปี 4 เดือน นับตั้งแต่วันที่ 15 ก.ย.2560 ซึ่งทุกหน่วยงาน ไม่ว่าจะเป็นภาครัฐหรือเอกชน ต้องร่วมมือกันขับเคลื่อนอย่างเอาจริงเอาจัง

กระทรวงสาธารณสุข ในฐานะผู้คุมบังเหียนระบบสุขภาพในการดูแลประชาชน ตั้งแต่การวางแผนเพื่อมีบุตรจนถึงตาย จึงถือเป็นอีกหนึ่งฟันเฟืองที่สำคัญในการร่วมขับเคลื่อนประเทศให้เดินหน้าได้อย่าง “มั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน”

เพื่อทำให้ประชาชนทุกกลุ่มวัยได้รับการบริการที่ดี และเท่าเทียม ช่วยลดความเหลื่อมล้ำในสังคม ทำให้ผู้ป่วยหลุดพ้นจากความทุกทรมาน ทั้งทางกายและทางใจ เพราะยาชูกำลังที่ดีในยามเจ็บป่วย นอกจากครอบครัวแล้ว การได้รับการดูแลรักษาที่ดี จากสถานพยาบาลก็เป็นอีกสิ่งที่ประชาชนอยากได้รับ แต่เพราะประชาชนที่เข้ามารับการรักษาในโรงพยาบาลมีจำนวนมาก ทำให้เกิดสารพัดปัญหาตามมา ทั้งการรอคิวนาน ความ แออัดในโรงพยาบาล เป็นต้น

...

ที่ผ่านมาปัญหาในระบบสาธารณสุขนับวันยิ่งทวีความรุนแรงมากขึ้น จนกลายเป็นเนื้อร้ายที่ต้องได้รับการแก้ไขอย่างเร่งด่วน เพราะหากสุขภาพร่างกายของประชาชนไม่แข็งแรง ก็จะกลายเป็นกับดักสำคัญที่จะชะลอการขับเคลื่อนประเทศ ทั้งนี้ การขับเคลื่อนที่ดี ต้องเริ่มตั้งแต่เด็ก โดยการทำให้เด็กมีพัฒนาการที่ดีสมวัย เพื่อจะเป็นกำลังสำคัญในการช่วยให้ประเทศก้าวเข้าสู่ประเทศไทย 4.0 ได้

กระทรวงสาธารณสุข จึงถือเป็นต้นน้ำที่สำคัญในการสร้างคนไทยที่มีคุณภาพตั้งแต่เป็นทารกอยู่ในครรภ์ของมารดา

นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร รมว.สาธารณสุข เปิดเผยถึงแนวทางการขับเคลื่อนกระทรวงสาธารณสุข ว่า แผนยุทธศาสตร์ที่จะขับเคลื่อนระบบสุขภาพในปี 2561 มีด้วยกัน 6 เรื่องใหญ่

1.การสร้างเสริมสุขภาพ ป้องกันโรค และการคุ้มครองผู้บริโภค โดยเน้นให้ทุกคนรู้จักดูแลสุขภาพของตัวเอง เพราะไม่มีใครเป็นหมอได้ดีกว่าตัวเอง หากทำได้สำเร็จก็จะทำให้การเจ็บป่วยน้อยลง ลดความแออัดในโรงพยาบาลลงได้ ส่วน การป้องกันโรคจะเน้นการกำจัดวัณโรค เนื่องจากองค์การอนามัยโลกระบุว่าไทยเป็น 1 ใน 14 ประเทศที่พบวัณโรคสูงถึง 17.6 ต่อแสนประชากร ดังนั้น ต้องเร่งควบคุม โดยเฉพาะในเรือนจำที่พบสูงกว่ากลุ่มประชาชนทั่วไปถึง 10 เท่า ซึ่งทุกคนต้องช่วยกัน โดยคาดว่าภายใน 3-5 ปี จะสามารถลด จำนวนลงได้ และในการดูแลสุขภาพต้องมีการบูรณาการการทำงานร่วมกันของกระทรวงต่างๆ ซึ่งได้มีการตั้งคณะ กรรมการการพัฒนาคุณภาพชีวิตระดับอำเภอ (พชอ.) และอยู่ระหว่างเสนอเข้าสู่ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.)

2.การเพิ่มทีมแพทย์เวชศาสตร์ครอบครัวหรือทีมหมอครอบครัว ซึ่งเริ่มดำเนินการตั้งแต่ปี 2559 ถึงปัจจุบัน และพบว่าได้รับการตอบรับที่ดี ช่วยลดค่าใช้จ่ายจากการเดินทาง ช่วยลดความแออัดในโรงพยาบาล และในปี 2561 จะเป็นรูปธรรมมากขึ้น โดยตั้งเป้าสร้างทีมหมอครอบครัวให้ได้ 1,000 ทีม จากที่ขณะนี้มีอยู่แล้วเกือบ 500 ทีม หากทำสำเร็จใน 10 ปี จะลดค่าใช้จ่ายลงได้มาก

3.การพัฒนาคน ทำให้บุคลากรด้านสาธารณสุขอยู่ในระบบราชการนานขึ้น มีความสุขกับการทำงาน เพราะหากบุคลากรมีความสุขประชาชนก็จะสุขภาพดีไปด้วย ทั้งต้องเพิ่มอัตรากำลังคน โดยเฉพาะใน 3 สาขาที่ขาดแคลนแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ ได้แก่ 1.สาขาแพทย์เวชศาสตร์ครอบครัวที่มีความต้องการกว่า 6,500 คน แต่ขณะนี้มีไม่ถึง 1,000 คน 2.สาขาเวชศาสตร์ฉุกเฉิน เพราะเมื่อเกิดภาวะ ฉุกเฉินประชาชนต้องได้รับการดูแลที่ดีที่สุด และ 3.สาขาระบาดวิทยา เพราะเราต้องเตรียมพร้อม เนื่องจากโรคระบาดสามารถเกิดขึ้นได้ตลอดเวลา เหมือนทหารถึงไม่มีสงครามก็ต้องมีทหารไว้ตลอดเพื่อป้องกันความเสี่ยง

4.การเงินการคลัง ที่ผ่านมาหลายโรงพยาบาลขาดทุน ต่อไปโรงพยาบาลต้องมีระบบเตือนว่าถึงจุดที่ต้องลงไปช่วยก็ต้องเร่งหารือกัน เพราะหากมีการบริหารจัดการที่ดีก็จะลดการขาดทุนลงได้ นอกจากนี้ ยังจะดึงระบบบริการผ่าตัดแบบวันเดียวเสร็จมาใช้ โดยในปี 2561 จะร่วมกับสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ศึกษาให้ชัดเจนว่าโรคใดบ้างที่ผ่าตัดวันเดียวสามารถกลับบ้านได้เลย

5.สร้างโรงพยาบาลที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ทั้งเรื่องอาหาร ผักและผลไม้ที่ต้องเป็นออแกนิกและที่สำคัญโรงพยาบาลต้องสะอาด เก่าได้แต่ต้องไม่สกปรก

6.การใช้ยาอย่างสมเหตุสมผล โดยเฉพาะการใช้ยาปฏิชีวนะ ที่มีการใช้โดยไม่จำเป็น และเป็นตัวการทำให้ เกิดปัญหาเชื้อดื้อยา ที่ทั่วโลกกำลังตื่นตัวกับปัญหาเชื้อดื้อยาปฏิชีวนะนี้ ดังนั้น เราต้องเร่งวางระบบ เพราะหากลด การใช้ยาที่ไม่จำเป็นลงได้ก็เท่ากับช่วยลดค่าใช้จ่ายประเทศลงด้วย

โดยหากทั้ง 6 เรื่องกระทรวงสาธารณสุขสามารถทำออกมาเป็นรูปธรรมได้ ก็จะช่วยให้ประชาชนเข้าถึงระบบบริการอย่างเท่าเทียม ซึ่งสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ทำให้ประเทศเกิดความ “มั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน”

ทีมข่าวสาธารณสุข มองว่า การวางแผนขับเคลื่อนระบบสาธารณสุขของประเทศทั้ง 6 เรื่อง ถือเป็นเรื่องที่สำคัญ เพราะประเทศจะพัฒนาได้ต้องเริ่มที่ “คนต้องมีคุณภาพ” ดังนั้น การวางแผนยุทธศาสตร์ในการดูแลคนทุกกลุ่มวัยอย่างครบวงจรและรอบด้าน ตั้งแต่การสร้างเสริมสุขภาพ ป้องกันโรค และการคุ้มครองผู้บริโภค ตลอดจนการวาง ระบบสร้างความยั่งยืนด้านงบประมาณนั้น จึงถือเป็นอีกฟันเฟืองที่จะทำให้ระบบสุขภาพ “มั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน”

แต่สิ่งหนึ่งที่เราอยากขอฝากคือ ต้องขับเคลื่อนอย่างจริงจังและจริงใจ และที่สำคัญคือ ต้องมีความต่อเนื่องในการสานต่อยุทธศาสตร์เพื่อไม่ให้ทุกอย่างที่ทำต้องสูญเปล่า

เพราะ “อโรคยา ปรมาลาภา” “ความไม่มีโรค เป็นลาภอันประเสริฐ”.

ทีมข่าวสาธารณสุข