
นายกลุงตู่แจงชัด ม.44 ยังคงอยู่ แต่วันเลือกตั้งยังกำหนดไม่ได้ พิชัยโวย ยิ่งช้าเศรษฐกิจยิ่งแย่
สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จออกพระที่นั่งอนันตสมาคม โปรดเกล้าฯพระราชทานรัฐธรรมนูญฉบับผ่านประชามติ ตามโบราณราชประเพณี มีพระราชดำรัสให้ปวงชนชาวไทยมีความสมัครสมานสามัคคี ปฏิบัติตามและพิทักษ์รักษารัฐธรรมนูญ คงไว้ซึ่งระบอบประชาธิปไตย นำมาซึ่งความผาสุกแห่งอาณาประชาราษฎร์ นายกฯชูเป็น รธน.ฉบับมหาชน ผ่านประชามติท่วมท้น ย้ำ ครม.-คสช.ยังต้องอยู่ทำภารกิจจนกว่าจะมีรัฐบาลใหม่ ยอมรับวันเลือกตั้งยังระบุชัดไม่ได้ แจงคำสั่งและประกาศ คสช.ยังมีผลบังคับใช้ ส่วนมาตรา 44 ยังคงมีอยู่เช่นเดิม “มีชัย” โวพยายามทำให้มีเลือกตั้งเร็ว เพราะอยากกลับบ้านนอนแล้ว แต่ยอมรับทำไม่ง่าย “สุรชัย” หวั่น สนช.แห่ลาออกส่งผลกระทบพิจารณา ก.ม.ลูก
6 เม.ย.2560 รัฐธรรมนูญฉบับประชามติมีผลบังคับใช้แล้ว สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 10 เสด็จ ณ พระที่นั่งอนันตสมาคม โปรดเกล้าโปรดกระหม่อม พระราชทานรัฐธรรมนูญตามโบราณราชประเพณี โรดแม็ปของรัฐบาลคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) รวมทั้งการยกร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญ หรือกฎหมายลูก ของคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) เดินหน้าขับเคลื่อนต่ออย่างเต็มกำลัง
...
ร.10 เสด็จฯพระที่นั่งอนันตสมาคม
เมื่อวันที่ 6 เม.ย. เวลา 15.00 น. สมเด็จพระเจ้า อยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร เสด็จพระราชดำเนินโดยรถยนต์พระที่นั่งออกจากพระที่นั่งอัมพรสถาน ไปยังพระที่นั่งอนันตสมาคม พระราชวังดุสิต ออก ณ พระที่นั่งอนันตสมาคม ทรงยืนหน้าพระราชอาสน์ หน้าพระที่นั่งพุดตานกาญจนสิงหาสน์ ภายใต้นพปฎลมหาเศวตฉัตร แวดล้อมด้วยเครื่องประกอบพระราชอิสริยยศ มหาดเล็กรัวกรับ ชาวม่านเปิดพระวิสูตร ชาวพนักงานประโคมกระทั่ง แตร มโหระทึก ทหารกองเกียรติยศถวายความเคารพ วงดุริยางค์บรรเลงเพลงสรรเสริญพระบารมี พระบรมวงศานุวงศ์ องคมนตรี คณะรัฐมนตรี คณะทูต สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ ประธานศาลฎีกา ประธานองค์กรอิสระ ข้าราชการฝ่ายทหารและพลเรือน เฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท ตามตำแหน่งเป็นมหาสมาคม
ทรงลงพระปรมาภิไธย รธน.ใหม่
เมื่อสุดเสียงประโคมแล้ว ทรงพระกรุณา โปรดเกล้าฯ ให้ราชเลขานุการในพระองค์สมเด็จ พระเจ้าอยู่หัว เชิญรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 ทูลเกล้าฯถวายสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงลงพระปรมาภิไธยแล้ว พระราชทานแก่นายกรัฐมนตรี เจ้าพนักงานอาลักษณ์ กองอาลักษณ์และ เครื่องราชอิสริยาภรณ์ สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี ประทับพระราชลัญจกรแล้วเชิญไปประดิษฐานบนพานทองที่เสาบัวหน้ามหาสมาคม ทรงพระกรุณา โปรดเกล้าฯ ให้อาลักษณ์ กองอาลักษณ์และเครื่อง ราชอิสริยาภรณ์ สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี อ่านกระแสพระราชปรารภประกาศใช้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 ว่า “ขอพระราชทานกราบบังคมทูลพระกรุณาทรงทราบฝ่าละออง ธุลีพระบาท ประกาศกระแสพระราชปรารภประกาศใช้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย สมเด็จพระเจ้า อยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร ทรงพระ กรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อม ให้ประกาศว่า นายกรัฐมนตรีได้นำความกราบบังคมทูลว่า นับแต่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาประชาธิปก พระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมพระราชทานรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรสยาม พุทธศักราช 2475 เป็นต้นมา การปกครองของประเทศไทยได้ดำรงเจตนารมณ์ยึดมั่นในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขต่อเนื่องมาโดยตลอด”
แจงต้นเหตุวิกฤติที่มาแก้ รธน.
แม้ได้มีการยกเลิก แก้ไขเพิ่มเติม และประกาศใช้รัฐธรรมนูญ เพื่อจัดระเบียบการปกครองให้เหมาะสมหลายครั้ง แต่การปกครองก็มิได้มีเสถียรภาพหรือราบรื่น เรียบร้อยเพราะยังคงประสบปัญหาและข้อขัดแย้งต่างๆ บางครั้งเป็นวิกฤติทางรัฐธรรมนูญที่หาทางออกไม่ได้ เหตุส่วนหนึ่งเกิดจากการที่มีผู้ไม่นำพา หรือไม่นับถือยำเกรงกฎเกณฑ์การปกครองบ้านเมือง ทุจริตฉ้อฉลหรือบิดเบือนอำนาจ หรือขาดความตระหนักสำนึกรับผิดชอบต่อประเทศชาติ และประชาชน จนทำให้การบังคับใช้กฎหมายไม่เป็นผล ซึ่งจำต้องป้องกันและแก้ไขด้วยการปฏิรูป การศึกษาและการบังคับใช้กฎหมาย และเสริมสร้างความเข้มแข็ง ของระบบคุณธรรมและจริยธรรม แต่เหตุอีกส่วนหนึ่ง เกิดจากกฎเกณฑ์การเมืองการปกครองที่ยังไม่เหมาะ สมแก่สภาวการณ์บ้านเมือง และกาลสมัย ให้ความสำคัญแก่รูปแบบและวิธีการยิ่งกว่าหลักการพื้นฐานในระบอบประชาธิปไตย หรือไม่อาจนำกฎเกณฑ์ที่ มีอยู่มาใช้แก่พฤติกรรมของบุคคลและสถานการณ์ในยามวิกฤติที่มีรูปแบบ และวิธีการแตกต่างไปจากเดิมให้ได้ผล
ตั้ง กรธ.ร่าง รธน.ขจัดปัญหาทุจริต
รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2557 แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 1) พุทธศักราช 2558 จึงได้บัญญัติให้มีคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญมีหน้าที่ร่างรัฐธรรมนูญเพื่อใช้เป็นหลักในการปกครอง และเป็นแนวทางในการจัดทำกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญและกฎหมายอื่น โดยได้กำหนดกลไกเพื่อจัดระเบียบและสร้างความเข้มแข็งแก่การปกครองประเทศขึ้นใหม่ด้วยการจัดโครงสร้างของหน้าที่และอำนาจขององค์กรต่างๆ ตามรัฐธรรมนูญ และสัมพันธภาพระหว่างฝ่ายนิติบัญญัติกับฝ่ายบริหารให้เหมาะสม การให้สถาบันศาลและองค์กรอิสระอื่น ซึ่งมีหน้าที่ตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐสามารถปฏิบัติหน้าที่ได้อย่างมีประสิทธิภาพ สุจริต เที่ยงธรรม และ มีส่วนในการป้องกันหรือแก้ไขวิกฤติของประเทศ ตามความจำเป็นและความเหมาะสม การรับรองปกป้อง และคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของปวงชนชาวไทยให้ชัดเจนและครอบคลุมอย่างกว้างขวางยิ่งขึ้น โดยถือว่าการมีสิทธิเสรีภาพเป็นหลัก การจำกัดตัดสิทธิเสรีภาพเป็นข้อยกเว้น แต่การใช้สิทธิเสรีภาพดังกล่าวต้องอยู่ภายใต้กฎเกณฑ์ เพื่อคุ้มครองส่วนรวม การกำหนดให้รัฐมีหน้าที่ต่อประชาชนเช่นเดียวกับการให้ ประชาชนมีหน้าที่ต่อรัฐ การวางกลไกป้องกัน ตรวจสอบ และขจัดการทุจริตและประพฤติมิชอบที่เข้มงวด เด็ดขาด เพื่อมิให้ผู้บริหารที่ปราศจากคุณธรรม จริยธรรมและธรรมาภิบาลเข้ามามีอำนาจในการปกครองบ้านเมืองหรือใช้อำนาจตามอำเภอใจ และการกำหนดมาตรการป้องกันและบริหารจัดการวิกฤตการณ์ของประเทศให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น
กำหนดกลไกสลายความขัดแย้ง
ตลอดจนได้กำหนดกลไกอื่นๆ ตามแนวทางที่รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2557 ระบุไว้ เพื่อใช้เป็นกรอบในการพัฒนาประเทศ ตามแนวนโยบายแห่งรัฐและยุทธศาสตร์ชาติซึ่งผู้เข้ามาบริหารประเทศแต่ละคณะจะได้กำหนดนโยบายและวิธีดำเนินการที่เหมาะสมต่อไป ทั้งยังสร้างกลไกในการปฏิรูปประเทศในด้านต่างๆ ที่สำคัญและจำเป็นอย่างร่วมมือร่วมใจกัน รวมตลอดทั้งการลดเงื่อนไขความขัดแย้งเพื่อให้ประเทศมีความสงบสุขบนพื้นฐานของความรู้รักสามัคคีปรองดอง การจะดำเนินการในเรื่องเหล่านี้ให้ลุล่วงไปได้ จำต้องอาศัยความร่วมมือระหว่างประชาชนทุกภาคส่วนกับหน่วยงานทั้งหลายของรัฐตามแนวทางประชารัฐภายใต้กฎเกณฑ์ตามหลักการปกครองในระบอบประชาธิปไตยและประเพณีการปกครองที่เหมาะสมกับสถานการณ์และลักษณะสังคมไทย หลักความสุจริต หลักสิทธิมนุษยชน และหลักธรรมาภิบาล อันจะทำให้สามารถขับเคลื่อนประเทศให้พัฒนาไปข้างหน้าได้อย่างเป็นขั้นตอนจนเกิดความมั่นคงมั่งคั่ง และยั่งยืนทั้งในทางการเมือง การปกครอง เศรษฐกิจ และสังคมตามระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข
แจงประชามติเห็นชอบร่าง รธน.
ในการดำเนินการดังกล่าว คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญได้สร้างความรับรู้ ความเข้าใจแก่ประชาชนในหลักการและเหตุผลของบทบัญญัติต่างๆ เป็นระยะๆ เปิดโอกาสให้ประชาชนเข้าถึงร่างรัฐธรรมนูญและความหมายโดยผ่านทางสื่อต่างๆ อย่างกว้างขวาง และให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการพัฒนาสารัตถะของร่างรัฐธรรมนูญด้วยการเสนอแนะข้อควรแก้ไขเพิ่มเติม เมื่อการจัดทำร่างรัฐธรรมนูญแล้วเสร็จ ก็ได้เผยแพร่ร่างรัฐธรรมนูญและคำอธิบายสาระสำคัญของร่างรัฐธรรมนูญโดยสรุปในลักษณะที่ประชาชนสามารถเข้าใจเนื้อหาสำคัญของร่างรัฐธรรมนูญ ได้โดยสะดวกและเป็นการทั่วไป และจัดให้มีการออกเสียงประชามติเพื่อให้ความเห็นชอบแก่ร่างรัฐธรรมนูญทั้งฉบับ
ในการนี้สภานิติบัญญัติแห่งชาติได้มีมติเสนอประเด็นเพิ่มเติมอีกประเด็นหนึ่งเพื่อให้มีการออกเสียงประชามติในคราวเดียวกันด้วย การออกเสียงประชามติ ปรากฏผลว่าประชาชนผู้มีสิทธิออกเสียงประชามติโดยคะแนนเสียงข้างมากของผู้มาออกเสียงประชามติเห็นชอบกับร่างรัฐธรรมนูญและประเด็นเพิ่มเติมดังกล่าว คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญจึง ดำเนินการแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญในส่วนที่เกี่ยวข้องให้สอดคล้องกับผลการออกเสียงประชามติในประเด็นเพิ่มเติม และได้ส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาว่าเป็น การชอบด้วยผลการออกเสียงประชามติแล้วหรือไม่ ซึ่งต่อมาศาลรัฐธรรมนูญได้วินิจฉัยให้คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมข้อความบางส่วน และคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญได้ดำเนินการแก้ไขตามคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญแล้ว นายกรัฐมนตรีจึงนำร่างรัฐธรรมนูญขึ้นทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวาย
ขอปวงชนชาวไทยผาสุกสามัคคี
ต่อมารัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ฉบับชั่วคราว พุทธศักราช 2557 แก้ไขเพิ่มเติมฉบับที่ 4 พุทธศักราช 2560 บัญญัติให้นายกรัฐมนตรีขอรับพระราชทานร่างรัฐธรรมนูญนั้นคืนมาแก้ไขเพิ่มเติมเฉพาะบางประเด็นได้ เมื่อดำเนินการแล้วเสร็จ นายกรัฐมนตรีจึงนำร่างรัฐธรรมนูญนั้นขึ้นทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายเพื่อทรงลงพระปรมาภิไธย ประกาศใช้เป็นรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยสืบไป
ทรงพระราชดำริว่าสมควรพระราชทาน พระราชานุมัติตามมติของมหาชน จึงมีพระบรมราชโองการดำรัสเหนือเกล้าเหนือกระหม่อมให้ตรารัฐธรรมนูญ แห่งราชอาณาจักรไทยฉบับนี้ขึ้นไว้ ให้ใช้แทนรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2557 ซึ่งได้ตราไว้ ณ วันที่ 22 กรกฎาคม พุทธศักราช 2557 ตั้งแต่วันประกาศ นี้เป็นต้นไป ขอปวงชนชาวไทยจงมีความสมัครสโมสร เป็นเอกฉันท์ ในอันที่จะปฏิบัติตามและพิทักษ์รักษารัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยนี้ เพื่อธำรงคงไว้ซึ่งระบอบประชาธิปไตยและอำนาจอธิปไตยของปวงชนชาวไทย และนำมาซึ่งความผาสุกสิริสวัสดิ์พิพัฒนชัยมงคล อเนกศุภผล สกลเกียรติยศสถาพรแก่อาณาประชาราษฎรทั่วสยามรัฐสีมา สมดั่งพระบรมราชปณิธานปรารถนาทุกประการ เทอญ
3 เหล่าทัพยิงปืนใหญ่ 21 นัด
หลังจากอาลักษณ์ กองอาลักษณ์และเครื่องราชอิสริยาภรณ์ สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี อ่านกระแส พระราชปรารภประกาศใช้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 จบแล้ว จากนั้นชาวพนักงานประโคมฆ้องชัย สังข์ แตร ดุริยางค์ ทหาร กองเกียรติยศถวายความเคารพ วงดุริยางค์บรรเลงเพลงมหาฤกษ์ ทหารบก ทหารเรือ ทหารอากาศ ยิงปืนใหญ่ฝ่ายละ 21 นัด และวัดทั่วราชอาณาจักรย่ำระฆังและกลอง ครั้นสุดเสียงปืนใหญ่ มหาดเล็กรัวกรับ ชาวม่านปิดพระวิสูตร ชาวพนักงานประโคมกระทั่งแตร มโหระทึก วงดุริยางค์บรรเลงเพลงสรรเสริญพระบารมี สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จพระราชดำเนินกลับ
มาตรา 5 ตัด 12 ประมุขแก้วิกฤติ
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับเนื้อหาในรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 ที่ประกาศในราชกิจจานุเบกษา พบว่าคณะกรรมการแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญฉบับประชามติ ได้แก้ไขเนื้อหาในบางมาตราต่างไปจากร่างรัฐธรรมนูญที่ผ่านประชามติ คือ มาตรา 5 ในรัฐธรรมนูญฉบับใหม่บัญญัติว่า “รัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายสูงสุดของประเทศ บทบัญญัติใดของกฎหมาย กฎ หรือข้อบังคับ หรือการกระทําใด ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ บทบัญญัติหรือการกระทํานั้นเป็นอันใช้บังคับมิได้ เมื่อไม่มีบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญนี้บังคับแก่กรณีใด ให้กระทําการนั้นหรือวินิจฉัยกรณีนั้น ไปตามประเพณีการปกครองประเทศไทยในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข” ซึ่งเป็นการตัดวรรคสองถึงวรรคหกของร่างรัฐธรรมนูญฉบับประชามติที่กำหนดให้ประธานศาลต่างๆ ประธานสภาผู้แทนราษฎร ผู้นำฝ่ายค้าน นายกรัฐมนตรีและประธานจากองค์กรอิสระต่างๆ ซึ่งมีทั้งหมด 12 คน จัดประชุมหาทางออกหากเกิดวิกฤติทางตันและไม่มีข้อกำหนดในรัฐธรรมนูญ
แก้มาตรา 16 เรื่องพระราชอำนาจ
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า มาตรา 16 ซึ่งเกี่ยวข้องกับการแต่งตั้งผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ก็มีการปรับแก้แตกต่างไปจากร่างรัฐธรรมนูญฉบับผ่านประชามติ โดยมาตราดังกล่าวของร่างรัฐธรรมนูญฉบับผ่านประชามติระบุว่า “ในเมื่อพระมหากษัตริย์จะไม่ประทับอยู่ในราชอาณาจักร หรือจะทรงบริหารพระราชภาระไม่ได้ด้วยเหตุใดก็ตาม จะได้ทรงแต่งตั้งผู้ใดผู้หนึ่งเป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ และให้ประธานรัฐสภาเป็นผู้ลงนามรับสนองพระบรมราชโองการ” ซึ่งมาตรา 16 ในรัฐธรรมนูญฉบับใหม่บัญญัติว่า “ในเมื่อพระมหากษัตริย์จะไม่ประทับอยู่ในราชอาณาจักร หรือจะทรงบริหารพระราชภาระไม่ได้ด้วยเหตุใดก็ตาม จะทรงแต่งตั้งบุคคลคนหนึ่งหรือหลายคนเป็นคณะขึ้น ให้เป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์หรือไม่ก็ได้ และในกรณีที่ทรงแต่งตั้งผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ให้ประธานรัฐสภาเป็นผู้ลงนามรับสนองพระบรมราชโองการ”
นอกจากนี้ยังได้ปรับแก้มาตรา 17 เดิมระบุว่า “ในกรณีที่พระมหากษัตริย์มิได้ทรงแต่งตั้งผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ตามมาตรา 16 หรือในกรณีที่พระมหากษัตริย์ไม่สามารถทรงแต่งตั้งผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ เพราะยังไม่ทรงบรรลุนิติภาวะหรือเพราะเหตุอื่น ให้คณะองคมนตรีเสนอชื่อผู้ใดผู้หนึ่งซึ่งสมควรดำรงตำแหน่งผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ต่อรัฐสภาเพื่อขอความเห็นชอบ เมื่อรัฐสภาให้ความเห็นชอบแล้ว ให้ประธานรัฐสภา ประกาศในพระปรมาภิไธยพระมหากษัตริย์ แต่งตั้งผู้นั้นเป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์” ส่วนมาตรา 17 ที่แก้ไขใหม่บัญญัติว่า “ในกรณีที่พระมหากษัตริย์มิได้ทรงแต่งตั้งผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ตามมาตรา 16 หรือในกรณีที่พระมหากษัตริย์ไม่สามารถทรงแต่งตั้งผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์เพราะยังไม่ทรงบรรลุนิติภาวะหรือเพราะเหตุอื่น แต่ต่อมาคณะองคมนตรีพิจารณาเห็นว่ามีความจำเป็นสมควรแต่งตั้งผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์และไม่อาจกราบบังคมทูลให้ทรงแต่งตั้งได้ทันกาล ให้คณะองคมนตรีเสนอชื่อบุคคลคนหนึ่งหรือหลายคน เป็นคณะ ตามลำดับที่โปรดเกล้าโปรดกระหม่อมกำหนดไว้ก่อนแล้วให้เป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ แล้วแจ้งประธานรัฐสภาเพื่อประกาศในพระปรมาภิไธยพระมหากษัตริย์ แต่งตั้งผู้นั้นขึ้นเป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์”
เชิญรัฐธรรมนูญสู่ทำเนียบฯ
เมื่อเวลา 16.00 น. ที่ทำเนียบรัฐบาล นายธีระพงษ์ วงศ์ศิวะวิลาส เลขาธิการคณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้เชิญรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 จากพระที่นั่งอนันตสมาคม พระราชวังดุสิต มาไว้ที่กองอาลักษณ์และเครื่องราชอิสริยาภรณ์ สำนักเลขาธิการ ครม. ทำเนียบรัฐบาล เพื่อรอขั้นตอนนำความขึ้นกราบบังคมทูล เชิญรัฐธรรมนูญทั้ง 3 ฉบับ นำไปเก็บรักษาไว้ที่สำนักราชเลขาธิการ รัฐสภา และกองอาลักษณ์และเครื่องราชอิสริยาภรณ์ฯ นายธีระพงษ์กล่าวว่า สิ่งที่ต้องเร่งดำเนินการต่อไปนี้ คือการเชิญหัวหน้าส่วนราชการเข้ามารับฟังการชี้แจงทำความเข้าใจเกี่ยวกับ รัฐธรรมนูญเพื่อนำไปชี้แจงให้ข้าราชการรับทราบ และเข้าใจ เนื่องจากรัฐธรรมนูญฉบับใหม่มีเรื่องใหม่ๆ แต่ยังไม่ได้กำหนดวันและเวลา
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ช่วงเย็นวันเดียวกัน เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษาได้เผยแพร่รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยฉบับ พ.ศ.2560 มีทั้งหมด 279 มาตรา
นายกฯชู รธน.ฉบับ 16 ล้านเสียง
ช่วงค่ำ เวลา 20.20 น. พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้า คสช. แถลงผ่านโทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจแห่งประเทศไทยว่า วันนี้เมื่อ 235 ปีที่แล้วเป็นวันสถาปนาพระบรมราชจักรีวงศ์ เริ่มต้นรัชกาลที่ 1 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ เราจึงเรียกว่า วันพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช และวันที่ระลึกมหาจักรีบรมราชวงศ์ วันเวลาได้ผ่านพ้นรัชสมัยของพระมหากษัตริย์หลายพระองค์ มาจนถึงรัชกาลที่ 10 สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว มหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร จึงใคร่ขอเชิญชวนน้อมรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณของสมเด็จพระบูรพกษัตริยาธิราชเจ้าทุกพระองค์ในพระบรมราชจักรีวงศ์ที่ปกเกล้าปกกระหม่อมชาวไทยให้ร่มเย็นเป็นสุข และรักษาเอกราชอธิปไตยยั่งยืนมาได้ จนถึงทุกวันนี้ วันเดียวกันนี้ในปีนี้ เมื่อไม่กี่ชั่วโมงที่ผ่านมา สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมพระราชทานรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยฉบับใหม่แก่ประชาชนชาวไทยเรียบร้อยแล้ว นับเป็นรัฐธรรมนูญฉบับที่ 20 ในประวัติการเมือง 85 ปีของไทย และเป็นรัฐธรรมนูญที่ได้รับความเห็นชอบในการออกเสียงประชามติถึง 16 ล้านเสียงเศษ คิดเป็นร้อยละ 61.35 จากจำนวนผู้มาใช้สิทธิออกเสียงประมาณ 30 ล้านคน หรือร้อยละ 60 ของผู้มีสิทธิทั้งหมด
ย้ำ ครม.-คสช.อยู่ยันเลือกตั้ง
พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า ผลที่เกิดขึ้นจากการนี้คือ 1.รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว พุทธศักราช 2557) ซึ่งใช้มาประมาณ 2 ปีเศษเป็นอันสิ้นสุดลง 2.ตามบทเฉพาะกาลของรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ครม.ชุดนี้จะยังคงอยู่ต่อไป เช่นเดียวกับ คสช.และ สนช. จนกว่าจะมีการเลือกตั้ง แม้แต่สภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) และคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ก็จะยังคงอยู่ต่อไปอีกระยะหนึ่ง 3.ตามรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ซึ่งเป็นกฎหมายสูงสุดในการปกครองประเทศ สิทธิเสรีภาพของพี่น้องทั้งหลายจะมีเพิ่มขึ้น แต่ต้องไม่ลืมว่าหน้าที่ของชนชาวไทยก็เพิ่มจากเดิมด้วยเช่นกัน เช่นเดียวกับรัฐซึ่งมีหน้าที่มากขึ้น แม้แต่การใช้อำนาจบริหารราชการแผ่นดิน หรือการใช้อำนาจรัฐและการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ทั้งหลายไม่ว่าทหาร ตำรวจ หรือพลเรือนก็ต้องเพิ่มความระมัดระวังให้มากขึ้นกว่าเดิม 4.มีภารกิจสำคัญ 2 เรื่อง ที่รัฐธรรมนูญฉบับใหม่บัญญัติให้ต้องทำคือการวางยุทธศาสตร์ชาติระยะยาว และการปฏิรูปประเทศในด้านต่างๆ ภารกิจนี้มีความสำคัญมาก จะต้องมีกฎหมายมารองรับเพื่อกำหนดผู้รับผิดชอบ วิธีดำเนินการ ขั้นตอนต่างๆ โดยให้ประชาชนมีส่วนร่วม รัฐบาลจะเสนอร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าวต่อสนช.ในเร็ววันนี้
วันเลือกตั้งยังไม่ชัดเจน–ม.44 ยังอยู่
พล.อ.ประยุทธ์กล่าวอีกว่า คสช.และรัฐบาล มิได้เข้ามาเพื่อต้องการอำนาจและผลประโยชน์หรืออยู่ยาวนานโดยปล่อยให้เหตุการณ์ต่างๆ ผ่านพ้นไปแต่ละวันโดยเปล่าประโยชน์ หากแต่ต้องการแก้ปัญหาเดิมๆ ที่ค้างคาอยู่จนเป็นกับดักสกัดกั้นความเจริญของชาติ แผนและขั้นตอนจากนี้ไปคือการบริหารประเทศโดยการเสริมสร้างความมั่นคงในทุกๆ ด้าน เตรียมการปฏิรูปประเทศ ยุทธศาสตร์ชาติ และสร้างความสามัคคีปรองดองของชนในชาติ การจัดทำกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญ 10 ฉบับ รัฐบาลไม่สามารถระบุได้ชัดแจ้งว่าวันเลือกตั้งจะเป็นเมื่อใด เพราะยังไม่อาจกำหนดวันเริ่มต้นของแต่ละเหตุการณ์ได้ บัดนี้เราทราบเพียงวันเริ่มต้นนับหนึ่งของเหตุการณ์แรกคือการประกาศใช้รัฐธรรมนูญ อันที่จริงไม่ว่าใครก็ไม่อาจระบุวันเวลาชัดเจนได้ นอกจากคาดเดาว่าน่าจะเป็นเมื่อนั้นเมื่อนี้ ขั้นตอนทั้งหลายไม่ได้เพิ่งมากำหนดใหม่ในวันนี้ หากแต่ทุกคนทราบมาตั้งแต่การออกเสียงประชามติแล้ว โดยไม่เคยมีการเปลี่ยนแปลง สิ่งที่เปลี่ยนแปลง คือ การเริ่มต้นนับหนึ่งของแต่ละเหตุการณ์เท่านั้น นับจากวันนี้รัฐบาลจะยังคงอยู่และปฏิบัติหน้าที่ตามปกติภายใต้รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ จนกว่าจะมีการจัดตั้งรัฐบาลใหม่ บรรดาประกาศและคำสั่งของ คสช. หรือหัวหน้า คสช.ที่ออกไปแล้วยังคงมีผลใช้บังคับ อำนาจตามมาตรา 44 ยังคงมีอยู่ ซึ่งจะใช้ภายใต้หลักเกณฑ์เดิม คือใช้เท่าที่จำเป็นเร่งด่วนเพื่อรักษาความมั่นคงและความสงบเรียบร้อยของประเทศ หรือเพื่อประโยชน์ในการปฏิรูปและแก้ปัญหาของประเทศ ซึ่งไม่อาจใช้มาตรการปกติได้ทัน
ไม่ควรมีผู้ใดทำให้เสียบรรยากาศ
พล.อ.ประยุทธ์กล่าวด้วยว่า รัฐบาลขอให้โอกาสต่อจากนี้ไปเป็นเวลาที่ทุกคน ทุกฝ่าย ทุกภาคส่วนจะได้ร่วมมือกันยิ่งขึ้นเพื่อพัฒนาประเทศตามแนวทางประชารัฐ และปฏิบัติตามบทบัญญัติและเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ ที่มุ่งจะเห็นประเทศไทยมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืนในทุกทาง ด้วยการร่วมกันสร้างความสามัคคีปรองดอง ตลอดจนรักษาความสงบเรียบร้อยสร้างบรรยากาศที่สงบ และสันติสุข เอื้ออำนวยต่อวาระแห่งชาติที่จะมาถึง นั่นคือ พระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพล อดุลยเดช ด้วยความสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณ และพระราชพิธีบรมราชาภิเษกพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวพระองค์ใหม่ แม้แต่การเตรียมการเลือกตั้งให้เป็นไปด้วยความเรียบร้อย บริสุทธิ์และยุติธรรม เพื่อแสดงถึงการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองครั้งใหญ่ภายใต้กฎเกณฑ์กติกาใหม่ จึงไม่ควรที่ผู้ใดจะทำให้เสียบรรยากาศ หรือทำให้เสียความรู้สึกและเสียความตั้งใจของประชาชนชาวไทย ขอขอบคุณพี่น้องประชาชนที่ช่วยกันประคับประคองสถานการณ์ รักษาความสงบเรียบร้อยในบ้านเมือง ขับเคลื่อนโรดแม็ปจนผ่านพ้นมาได้ด้วยดี และขอเดชะพระบารมีแห่งสมเด็จพระบูรพกษัตริยาธิราชเจ้าในพระบรมราชจักรีวงศ์ จงพิทักษ์รักษาราชอาณาจักรไทยให้สงบสุข และปกเกล้าปกกระหม่อมประชาชนชาวไทย ให้เย็นศิระเพราะพระบริบาล สืบเนื่องต่อไป ตราบกาลนาน
“วิษณุ” เผย คสช.ต้องปรับแต่ง ม.44
ที่ทำเนียบรัฐบาล นายวิษณุ เครืองาม รองนายก รัฐมนตรี กล่าวว่า หลังมีรัฐธรรมนูญใหม่ สถานภาพของแม่น้ำ 5 สายจะค่อยๆ สิ้นสุดลงไป การเปลี่ยนแปลงที่เห็นมากที่สุดคือ สิทธิเสรีภาพประชาชน ที่ผ่านมาเราไม่เคยมีหน้าที่ของรัฐ แต่ครั้งนี้มีหน้าที่ของรัฐในมาตรา 77 ของรัฐธรรมนูญ และสิทธิของประชาชนได้มีเพิ่มเติมหลายเรื่อง ส่วนการทำงานของรัฐบาลชุดปัจจุบันจะต้องมีการปรับปรุงในบางส่วนให้ตรงกับรัฐธรรมนูญ เมื่อถามว่า รัฐบาลจะนำคำสั่งตามมาตรา 44 มาปรับปรุงใหม่หรือไม่ นายวิษณุตอบว่า เป็นนโยบายของ คสช.ที่จะให้ฝ่ายกฎหมายทยอยดูว่าส่วนใดจะยกเลิก ส่วนใดนำมาควบรวมกันไม่ให้กระจัดกระจาย ส่วนใดที่จะให้อยู่ต่อหลังการเลือกตั้งให้ทิ้งไว้ ใครจะยกเลิกทีหลังต้องออกเป็น พ.ร.บ. และเมื่อ พ.ร.บ.ออกมา คำสั่งนั้นจะถูกยกเลิกไป
“มีชัย” จะทำให้ ลต.เร็วแต่รับไม่ง่าย
ที่รัฐสภา นายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีที่นายปริญญา เทวานฤมิตรกุล รองอธิการบดี มหาวิทยาลัย ธรรมศาสตร์ ระบุว่า การเลือกตั้งสามารถทำได้ในเดือน ม.ค.61 ว่า เป็นการคาดการณ์ตามระยะเวลาที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญอย่างเร็วที่สุด แต่เอาเข้าจริงจะเร็วได้อย่างนั้นหรือไม่ขึ้นอยู่กับว่า เราจะสามารถแน่ใจว่าทั้งคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) และพรรคการเมืองจะพร้อมเมื่อไร และกฎหมายที่จะออกมาในระหว่างทางจะมีปัญหาอะไรบ้าง ฉะนั้นเรื่องแบบนี้ไม่มีใครคาดการณ์ได้ล่วงหน้า แต่จะทำให้ได้เร็วที่สุดเท่าที่จะเร็วได้ แต่ไม่น่าจะเป็นปลายปีนี้ เพราะถ้านับ 8 เดือนต่อจากนี้ไป ก็ปลายปีนี้พอดี กฎหมายเพิ่งจะทำเสร็จผ่านสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะกฎหมายลูก 2 ฉบับแรก กรธ.ใช้เวลา 3 เดือนกว่าในการพิจารณา เราหวังว่าเมื่อวางพื้นฐานสำหรับ 2 ฉบับแรกแล้วจะสามารถเอาไปใช้พิจารณาฉบับอื่นได้เร็วขึ้น ไม่ต้องไปคิดใหม่ และทันทีที่รัฐธรรมนูญประกาศใช้เราก็สามารถส่งกฎหมายลูกที่พิจารณา 2 ฉบับให้ สนช.ได้เลย
ไม่อยู่ยาวอยากกลับบ้านนอน
เมื่อถามว่า ร่างกฎหมายยุทธศาสตร์ชาติและกฎหมายว่าด้วยแผนและขั้นตอนการดำเนินการปฏิรูปประเทศ จะเสร็จก่อน 120 วันหรือไม่ นายมีชัยตอบว่า เข้าใจว่าไม่น่าเกิน 2 เดือนคงเสร็จ ส่วนอาจจะมีผลผูกพันกับอายุ สปท.ก็ไม่เป็นไร เพราะเขาอาจคัดคนจาก สปท.ไปทำให้อีกรูปแบบหนึ่ง สปท.ทราบมาตั้งแต่ร่างรัฐธรรมนูญผ่านประชามติแล้ว คงไม่มีอะไรที่ต้องกังวลเพราะจบก็จบ กรธ.เมื่อทำกฎหมายลูกเสร็จก็จบเหมือนกันที่จะเหลืออยู่คือ คสช.และ สนช.ที่ต้องรอรัฐบาลใหม่ เมื่อถามว่า มีบางฝ่ายกังวลว่ากฎหมายลูกที่เกี่ยวกับการเลือกตั้งอาจตกไปในขั้นตอนของ สนช. นายมีชัยตอบว่า เป็นความทุกข์ของคนที่คิดมาก พอเมียตั้งท้องก็กลัวว่าจะแท้งหรือไม่แท้ง ทั้งที่ต้องคิดว่าลูกออกมาจะน่ารักอย่างไร แต่โอกาสที่จะไม่แท้งใครก็รับรองไม่ได้ เพียงแต่ว่าปกติก็ไปตามวิถีของมันและเราก็จะพยายามที่จะพูดคุยกับ สนช. เราทำงานประสานกันมาโดยตลอดอยู่แล้ว แต่จะไปรับประกันว่าจะไม่เกิดอะไรนั้นคงยาก และหากกฎหมายลูกไปคว่ำตอนเลย 8 เดือนไปแล้ว หาก กรธ.ต้องทำอีกก็ยังต้องอยู่ต่อ แต่อย่าให้เกินเลย เพราะ กรธ.ก็จะกลับบ้านไปนอน ในส่วนนี้ไม่มีกรอบทางกฎหมายแต่มีกรอบทางจิตใจ ว่าเราคงไม่ไปใช้เวลายาวจนเกินเหตุ เมื่อถามว่า การพิจารณากฎหมายลูกของ สนช.อาจจะมีการคว่ำส่วนหนึ่งเพราะต้องฟัง คสช.เพื่อหวังยืดอายุรัฐบาล นายมีชัยตอบว่า อย่างนี้เป็นการกล่าวหาเขา มันไม่ดี ควรคิดในทางดีดี
“สุรชัย” ชี้ สนช.ลาออกมากมีผลกระทบ
นายสุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย รองประธาน สนช. กล่าวถึงกรณีที่จะมีสมาชิก สนช.บางส่วนลาออกไปลงสมัครรับเลือกตั้งว่า ขณะนี้ สนช.บางคนอาจอยู่ระหว่างการตัดสินใจ เพราะรัฐธรรมนูญใหม่ให้เวลาตัดสินใจภายใน 90 วันหลังประกาศใช้ ส่วนการลาออกของ สนช.จะกระทบการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญหรือไม่นั้น ถ้าลาออกมากอาจจะกระทบ โดยในส่วนร่าง พ.ร.บ.คณะกรรมการการเลือกตั้ง และร่าง พ.ร.บ.พรรคการเมือง สนช. ได้ตั้งคณะกรรมการศึกษารายละเอียดล่วงหน้าแล้ว จะให้รายงานความคืบหน้าการพิจารณาให้ตนทราบทันทีหลังสงกรานต์ ส่วนร่าง พ.ร.บ.การเลือกตั้ง ส.ส.และร่าง พ.ร.บ.การได้มาซึ่ง ส.ว.นั้น กรธ.ยังไม่ส่งร่างกฎหมายมาให้ สนช. อย่างไรก็ตาม สนช.ได้กำหนดกรอบเวลาพิจารณาร่างกฎหมายลูกไว้แล้ว โดยจะใช้เวลาในชั้นกรรมาธิการไม่เกิน 45 วัน และอีก 15 วัน ให้รอบรรจุเข้าสู่ที่ประชุม สนช. และหากมีความจำเป็นอาจจะไปเก็บตัวต่างจังหวัด เพื่อพิจารณาร่างกฎหมายลูกโดยเฉพาะ เบื้องต้นวันที่ 19 พ.ค. จะมีกิจกรรมปลูกป่าเฉลิมพระเกียรติ จ.จันทบุรี ที่ สนช.จะไปร่วมกิจกรรมด้วย อาจให้คณะกรรมการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.พรรคการเมืองและร่าง พ.ร.บ.คณะกรรมการการเลือกตั้ง ไปเก็บตัวนอกสถานที่ เพื่อพิจารณาร่างกฎหมาย 2 ฉบับดังกล่าว
ปชป.ทำบุญครบรอบ 71 ปี
เมื่อเวลา 08.15 น. ที่พรรคประชาธิปัตย์ คณะผู้บริหารพรรคประชาธิปัตย์จัดพิธีทำบุญทางศาสนาในงาน “ก้าวสู่ทศวรรษที่ 8” เนื่องในวันก่อตั้งพรรคประชาธิปัตย์ ครบรอบ 71 ปี โดยมีนายชวน หลีกภัย ประธานสภาที่ปรึกษาพรรคประชาธิปัตย์ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ นายบัญญัติ บรรทัดฐาน อดีตหัวหน้าพรรค และคณะกรรมการผู้บริหารพรรค อาทิ นายจุติ ไกรฤกษ์ เลขาธิการพรรค คุณหญิงกัลยา โสภณพนิช นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ นายชำนิ ศักดิเศรษฐ์ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ รวมถึงอดีต ส.ส. อดีต ส.ก. และ ส.ข. และสมาชิกพรรคประชาธิปัตย์ ตลอดจนผู้สนับสนุนพรรคเข้าร่วมพิธีเป็นจำนวนมาก โดยในงานมีการประกอบพิธีทางศาสนา ทั้งศาสนาอิสลาม พราหมณ์และพุทธ มีพระสงฆ์มาทำพิธีเจริญพระพุทธมนต์และพิธีบวงสรวงสักการะองค์พระแม่ธรณีบีบมวยผม ที่พรรคได้บูรณะสั่งปิดทองคำเปลวแท้ใหม่ทั้งองค์ พร้อมเปลี่ยนเครื่องทรงใหม่สไบลายลูกไม้สีฟ้า ซึ่งเป็นสัญลักษณ์พรรคประชาธิปัตย์ ขณะเดียวกัน นายอนุทิน ชาญวีรกูล หัวหน้าพรรคภูมิใจไทย นายสมศักดิ์ ปริศนานันทกุล ที่ปรึกษาพรรคชาติไทยพัฒนา นายนิกร จำนง สปท. และ พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าฯ กทม. เข้าร่วมแสดงความยินดีด้วย
“มาร์ค” ลั่นพร้อมแล้วสู้ศึกเลือกตั้ง
นายอภิสิทธิ์กล่าวว่า ก้าวย่างปีที่ 71 ของพรรคประชาธิปัตย์จะทำงานตอบสนองความต้องการของประชาชน และตอบโจทย์ของประเทศ มั่นใจว่าพรรคเป็นทางเลือกให้กับประชาชน โดยยึดมั่นความซื่อสัตย์ อยากเห็นบ้านเมืองเดินไปข้างหน้าสู่ประชาธิปไตย ไม่ล้มเหลวเหมือนในอดีต โดยเฉพาะการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจจะต้องหลุดพ้นจากความเหลื่อมล้ำ ไม่ใช่ดีเฉพาะภาคธุรกิจ จะต้องลงไปแก้ปัญหาในภาคเกษตรกร ผู้ใช้แรงงาน รวมถึงวางแผนแก้ปัญหาเตรียมเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุในอนาคต สำหรับการเลือกตั้งไม่ว่าช้าหรือเร็ว พรรคมีความพร้อมทั้งในด้านนโยบายและตัวผู้สมัคร ไม่กังวลเรื่องกติกาที่มีข้อยุติในเรื่องแบ่งเขตเลือกตั้งไปแล้ว กฎหมายพรรคการเมืองตรงกับนโยบายพรรค ที่ให้ประชาชนเป็นเจ้าของพรรคการเมือง ส่วนข้อเสนอการเลือกตั้งท้องถิ่น ที่อาจมีขึ้นก่อนการเลือกตั้งใหญ่ ยังไม่ทราบกรอบเวลาแน่ชัด แต่สิ่งสำคัญคืออนาคตของท้องถิ่น ที่จะให้มีการควบรวม อบต.เป็นเทศบาล ยังไม่สอดคล้องกับภารกิจของท้องถิ่นในการเข้าถึงปัญหาของประชาชน
ปลุกเร้าขยายขนาดใหญ่กว่าเดิม
นายบัญญัติกล่าวว่า ต่อไปนี้ วันที่ 6 เม.ย.ทุกปี จะมีความสำคัญถึง 3 ข้อ คือ เป็นวันจักรีวันเกิดพรรคและวันประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ปี 2560 สำหรับการเลือกตั้งคงจะเกิดขึ้นในไม่ช้าตามโรดแม็ป 71 ปีของพรรคประชาธิปัตย์ เราดำรงอยู่ได้ด้วยความมุ่งมั่นของสมาชิกทุกคน ที่ผ่านมาพรรคเราลุ่มๆดอนๆ เล็กบ้าง ใหญ่บ้าง แต่เชื่อว่าในการเลือกตั้งครั้งต่อไป มั่นใจว่าเราไม่น่าจะเล็กอย่างที่เป็นมา
ภูมิใจไทยทำบุญก้าวสู่ปีที่ 9
อีกด้านหนึ่ง เมื่อเวลา 10.00 น. ที่ทำการพรรคภูมิใจไทย นายอนุทิน ชาญวีรกูล หัวหน้าพรรคภูมิใจไทย พร้อมด้วยแกนนำและสมาชิกพรรคภูมิใจไทย อาทิ นายชัย ชิดชอบ อดีตประธานรัฐสภา นายสรอรรถ กลิ่นประทุม ประธานที่ปรึกษาพรรค นายศุภชัย ใจสมุทร รองเลขาธิการพรรค ร่วมกันทำบุญเนื่องในโอกาสครบรอบ 8 ปี ก้าวสู่ปีที่ 9 โดยมีการประกอบพิธีสงฆ์และถวายภัตตาหารเพลแด่พระสงฆ์ จำนวน 9 รูป เพื่อความเป็นสิริมงคล บรรยากาศเป็นไปอย่างคึกคัก มีอดีต ส.ส.และอดีตผู้สมัคร ส.ส.เข้าร่วมงานอย่างคับคั่ง ขณะเดียวกันยังมีตัวแทนพรรคการเมืองต่างๆเดินทางมามอบกระเช้าดอกไม้ร่วมแสดงความยินดี ทั้งพรรคชาติไทยพัฒนา นำโดยนายวราวุธ ศิลปอาชา นายสมศักดิ์ ปริศนานันทกุล นายนิกร จำนง แกนนำพรรค
ส่วนพรรคเพื่อไทย นำโดยนายอุดมเดช รัตนเสถียร อดีต ส.ส.นนทบุรี นายวัฒนา เมืองสุข อดีต รมช.พาณิชย์ ส่วนพรรคประชาธิปัตย์ นำโดยนายกรณ์ จาติกวณิช รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ นพ.วรงค์ เดชกิจวิกรม อดีต ส.ส.พิษณุโลก นายเชน เทือกสุบรรณ อดีต ส.ส.สุราษฎร์ธานี พรรคชาติพัฒนา มีนายชลิตรัตน์ จันทรุเบกษา โฆษกพรรคเดินทางมาร่วมแสดงความยินดี
ปัดทาบทหาร-สปท.ร่วมพรรค
นายอนุทินให้สัมภาษณ์ถึงการเตรียมพร้อมการเลือกตั้งหลังรัฐธรรมนูญประกาศใช้ว่า ขอบคุณผู้ที่เกี่ยวข้องทุกท่านที่ได้คืนสู่ความเป็นประชาธิปไตย เป็นของขวัญปีใหม่ไทยให้แก่ประชาชนคนไทย ส่วนการเลือกตั้งนั้น พรรคมีความพร้อมตลอดเวลา ต้องรอดูว่าจะอนุญาตให้ดำเนินกิจกรรมการเมืองเมื่อใด ทุกภาคส่วนควรให้ความร่วมมือให้โรดแม็ปที่กำหนดไว้เข้าเป้า ไม่ล่าช้า เมื่อถามว่า ความสัมพันธ์ของพรรคภูมิใจไทยกับพรรคเพื่อไทย พรรคประชาธิปัตย์เป็นอย่างไร นายอนุทินตอบว่า เราไม่เคยมีความขัดแย้งกับใครอยู่แล้ว ส่วนที่มองว่าเราจะเป็นตัวแปรในการจัดตั้งรัฐบาล ตนไม่เคยมองอย่างนั้น เราพร้อมจะทำหน้าที่ทุกฝ่าย ไม่จำเป็นต้องตั้งเข็มไปเป็นรัฐบาลอย่างเดียว พรรคการเมืองแข็งแรงขนาดไหนก็เป็นทั้งฝ่ายค้านกับฝ่ายรัฐบาลมาแล้วทั้งนั้น ถ้าเป็นรัฐบาลที่ทำอะไรไม่ได้เลย กับเป็นฝ่ายค้านที่มีคุณภาพ ขอเป็นฝ่ายค้านดีกว่า ทำประโยชน์กับประชาชนได้มากกว่า เมื่อถามว่า ได้ทาบทาม สปท.เข้าร่วมพรรคหรือไม่ นายอนุทินตอบว่า ไม่มี เราอยู่ของเราอย่างนี้มีความสุขดีแล้ว เมื่อถามว่า มีทหารมาเข้าร่วมหรือไม่ นายอนุทินตอบว่า ไม่มี มีแต่พลทหารอนุทินเป็นทหารกองหนุนอยู่
พท.จี้เร่งเลือกตั้ง-ช้าจะเสียหาย
นายพิชัย นริพทะพันธุ์ อดีต รมว.พลังงาน แกนนำพรรคเพื่อไทย กล่าวว่า ตามที่มีพระราชพิธีประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับที่ 20 อยากให้รัฐบาล สนช. กรธ. เร่งดำเนินการให้มีการเลือกตั้งโดยเร็ว อย่าพยายามถ่วงเวลาการเลือกตั้ง เพราะไม่เป็นประโยชน์กับประเทศ หากจะลากการเลือกตั้งออกไปอีก 16 เดือน ตามที่นายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธาน กรธ.บอก ก็จะยิ่งทำให้เศรษฐกิจย่ำแย่ลงไปอีก หากรัฐบาลจะกลัวว่าพรรคเพื่อไทยจะชนะการเลือกตั้งตามกระแสข่าวเรื่องผลโพลภายในที่ทำกันไว้ การลากการเลือกตั้งจะทำให้เศรษฐกิจยิ่งแย่ และจะยิ่งทำให้พรรคเพื่อไทยชนะการเลือกตั้งมากขึ้น และผลเสียคือยิ่งลากยาวจะยิ่งทำให้ประเทศเสียหายมากยิ่งขึ้นด้วย
ไม่กลัวพรรคทหารท้าลงสนาม
นายวัฒนา เมืองสุข อดีต รมว.พาณิชย์ แกนนำพรรคเพื่อไทย กล่าวถึงการประกาศใช้รัฐธรรมนูญว่า หลังจากนี้รัฐบาลจะมีสถานะคล้ายรัฐบาลรักษาการ วันนี้หลายฝ่ายเป็นห่วงในเรื่องการใช้อำนาจตามมาตรา 44 ซึ่งจะยังคงมีอยู่หลังประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ไม่มีการตรวจสอบ เป็นอันตรายต่อระบอบประชาธิปไตย หากใช้อำนาจดังกล่าวไปจนถึงวันเลือกตั้ง รัฐบาลชุดใหม่จะไม่สามารถทำงานได้ อะไรที่ควรหรือไม่ควร ท่านต้องรู้ แต่จะเลิกใช้หรือไม่อยู่ที่จิตสำนึก จิตสำนึกนี้ก็อยู่ที่การอบรมจากทางบ้านด้วย วันนี้เป็นเรื่องดีที่ประชาชนสามารถแยกได้ว่ามีกลุ่มการเมืองอยู่ 2 กลุ่ม 1.กลุ่มต่อต้านระบอบเผด็จการ เช่น พรรคเพื่อไทย 2.กลุ่มที่เห็นด้วยกับระบอบเผด็จการ ถ้าต้องการพรรคการเมืองที่สนับสนุนระบอบประชาธิปไตย อย่างพรรคเพื่อไทย กฎหมายสำคัญที่มาจากคณะปฏิวัติจะต้องถูกยกเลิก แต่หากเห็นว่า พล.อ.ประยุทธ์ทำงานดี ก็ไม่ต้องเลือกพรรคเพื่อไทย เราพร้อมสำหรับการเลือกตั้ง ไม่กังวลว่าจะมีพรรคการเมืองจากทหาร ยิ่งมีตัวเลือกมากยิ่งเป็นผลดีต่อประชาชน พรรคเพื่อไทยกลัวเพียงการไม่รักษากติกา การใช้อำนาจระหว่างการเลือกตั้ง และการยอมรับผลการเลือกตั้งเท่านั้นเอง
“สมศักดิ์” เชื่อต่างชาติมองไทยดีขึ้น
นายสมศักดิ์ เทพสุทิน อดีตรองนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงการประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ว่า รู้สึกคล้ายกับประชาชนทั่วไปเพราะเมื่อมีรัฐธรรมนูญแล้วนั่นหมายความว่า การเลือกตั้งจะเป็นสิ่งที่ต้องเกิดขึ้นแม้ต้องใช้เวลาอีกระยะหนึ่ง ส่วนเนื้อหาเป็นอย่างไรขอไม่พูดถึง เมื่อประเทศมีกติกาก็ต้องยอมรับตามที่กำหนดไว้ การเขียนรัฐธรรมนูญเป็นไปตามอุดมคติของผู้เขียนซึ่งอาจถูกใจ และไม่ถูกใจ ถือเป็นเรื่องปกติ ทุกคนก็ต้องศึกษา เรียนรู้ และปรับใช้กันไป เชื่อว่าหลังจากที่ประเทศของเรามีรัฐธรรมนูญฉบับถาวร ต่างชาติและสังคมโลกจะมองเราในทางที่ดีขึ้น เพราะการเลือกตั้ง เป็นสิ่งการันตีว่าประเทศไทยกำลังกลับเข้าสู่ระบอบประชาธิปไตย
ม.44 แก้ปัญหาองค์กรอิสระ
นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ตามที่เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่คำสั่งพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้า คสช. อาศัยอำนาจตามมาตรา 44 มีคำสั่งฉบับที่ 23/2560 เรื่อง มาตรการแก้ไขปัญหาความต่อเนื่องของผู้ดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญ โดยระบุถึง 2 องค์กร คือ ศาลรัฐธรรมนูญ และคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน (คตง.) โดยตุลาการศาลรัฐธรรมนูญจะครบวาระใน พ.ค. 60 เราจึงให้รักษาการต่อ และให้มีการสรรหาระหว่างนั้น กำหนดให้มีวาระ 7 ปี และให้ดำรงตำแหน่งได้เพียงวาระเดียว ส่วนกรรมการ คตง.ที่จะครบวาระใน ก.ย. 60 จะให้ทำเช่นเดียวกัน รวมถึงตัวผู้ว่าการสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ที่จะมีอายุครบ 65 ปี ที่ต้องพ้นวาระตามกฎหมายให้ทำหน้าที่ต่อไปจนถึง ก.ย.60 เช่นกัน การที่มีคำสั่งดังกล่าว เนื่องจากมีความจำเป็น เพราะจะมีกรรมการในองค์กรอิสระบางแห่งพ้นวาระก่อนกฎหมายลูกจะออกมา
แอมเนสตี้จี้ยกเลิก ก.ม.คุกคามสิทธิ
ที่สำนักงานภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และแปซิฟิก แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย เผยแพร่คำกล่าว ดร.แชมพา พาเทล ผู้อำนวยสำนักงานฯว่า แม้รัฐธรรมนูญใหม่ของไทยมีเงื่อนไขที่นำไปสู่การจัดเลือกตั้งทั่วไป กำหนดแนวทางเกี่ยวกับสิทธิเสรีภาพต่างๆ แต่ก็แทบไม่มีส่วนช่วยแก้ปัญหาสิทธิมนุษยชนที่กำลังเกิดขึ้นอย่างร้ายแรงในประเทศ รัฐบาลทหารยังคงมีอำนาจอย่างกว้างขวางในการปกครองจนกว่าจะเลือกตั้ง อีกทั้งรัฐบาลใหม่ก็ได้รับอำนาจอย่างเสรีในการจำกัดสิทธิมนุษยชน คำสั่งมากมายที่บังคับใช้โดยรัฐบาลทหารมาตั้งแต่รัฐประหารปี 57 ยังคงมีผลบังคับใช้ต่อไป ทางการไทยได้ประกาศแล้วว่าจะไม่ผ่อนปรนข้อห้ามต่อกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับการเมือง ความหวังที่จะเกิดการเปลี่ยนแปลงด้านสิทธิมนุษยชนอย่างแท้จริงในอนาคตคงเป็นไปได้ยาก จึงอยากเรียกร้องรัฐบาลไทยให้เปิดหน้าประวัติศาสตร์ ใหม่ ควรยกเลิกการดำเนินคดีอาญาใดๆ ที่มีต่อนักปกป้องสิทธิมนุษยชนและผู้แสดงความเห็นต่างอย่างสงบ และให้ยกเลิกกฎหมาย คำสั่งที่คุกคามต่อเสรีภาพ โดยนำหลักเกณฑ์ที่คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) คิดจะออกเป็นกฎหมายลูกมาออกเป็นคำสั่ง
“สุรเชษฐ์” สะกดใจไม่ขอเผาบ้าน
อีกเรื่อง นพ.สุรเชษฐ์ สถิตนิรามัย อดีตกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.)ให้สัมภาษณ์กรณีกระแสข่าวได้ยื่นหนังสือลาออกจากการเป็นกสม.ว่า ยอมรับว่าจริง เมื่อถามว่า หนังสือลาออกระบุเหตุผลว่าเพราะบรรยากาศไม่เอื้อต่อการทำงาน นพ.สุรเชษฐ์ตอบว่า รอให้ฝุ่นจางหายสักนิด ตนพูดคนเดียวก็ไม่ดี ขอให้สื่อไปสืบเสาะหาจากคนภายในกสม.อย่าให้ออกจากปากตนเลย เดี๋ยวจะกลายเป็นว่าออกจากบ้านแล้วมาเผาบ้านตัวเองมันจะไม่ดี แต่บรรยากาศมันขับเคลื่อนไปข้างหน้าไม่ได้ ทั้งที่พยายามปรับเปลี่ยนการทำงานแล้ว แต่ก็มีเรื่องอื่นๆอีกเยอะ เลยจำเป็นต้องฮาราคีรีตัวเองเพื่อให้องค์กรรู้ตัวบ้างและหวังว่าการลาออกของตนไม่สูญเปล่า
“อังคณา” รับ กสม.มีปัญหาภายใน
ด้านนางอังคณา นีละไพจิตร กสม.กล่าวว่า เข้าใจหมอสุรเชษฐ์ ตัวเองก็ยังไม่รู้จะอยู่อีกนานแค่ไหน ยอมรับว่าช่วงปีกว่าต้องใช้ความอดทน หลายครั้งกดดัน ถ้าบรรยากาศเป็นมิตร ไม่มีอคติ ไม่มองคนที่คิดต่างไม่ใช่พวก รับฟังกัน งานจะไปได้มากกว่านี้ ความเป็นประชาธิปไตยในองค์กร ความมีธรรมาภิบาล การยอมรับมันก็สำคัญ มันไม่ใช่จะยึดเสียงข้างมากอย่างเดียว ที่ผ่านมาโดนเยอะ เคยแถลงในที่ประชุมหลายครั้งว่า หากใครเห็นว่าเราทำงานไม่ได้ เสนอถอดถอนต่อรัฐสภาได้ ถ้ากินเงินเดือนจากภาษีประชาชน แต่ทำงานไม่เต็มที่ก็น่าละอายใจ