ได้เวลาของทีมไทยแลนด์ วันที่ 17 เม.ย.นี้ นายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกฯ และ รมว.คลัง จะนำคณะผู้เจรจาเดินทางไปยังประเทศสหรัฐอเมริกา เพื่อพูดคุยต่อรองในเรื่องมาตรการภาษีสินค้านำเข้าที่ประเทศไทยถูกตั้งกำแพงภาษีจากสหรัฐฯเบื้องต้นสูงถึง 36 เปอร์เซ็นต์ แม้ยังอยู่ในห้วงชะลอมาตรการดังกล่าว 90 วัน

โดยตามโปรแกรมที่โฆษกรัฐบาลระบุ คือ นายพิชัยและคณะจะไปพูดคุยล่วงหน้ากับนักธุรกิจกลุ่มต่างๆ ทั้งเกษตร อุตสาหกรรม การลงทุนอื่นๆ ที่นครซีแอตเติล และไปกรุงวอชิงตัน ดี.ซี. วันที่ 20 เม.ย. มีนายพิชัย นริพทะพันธ์ุ รมว.พาณิชย์ ไปสมทบ เพื่อเตรียมเข้าพบผู้แทนรัฐบาลสหรัฐฯ คาดว่าจะเป็นวันที่ 21 เม.ย.นี้

จากการเตรียมการล่วงหน้าของคณะเจรจา ที่ได้ร่วมประชุมกับ น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย สภาหอการค้าไทย ผู้บริหารบริษัทนำเข้าและส่งออกกับทางสหรัฐอเมริกา รวมทั้งหารือร่วมกับคณะที่ปรึกษานโยบายนายกฯ ได้กรอบเจรจา 5 หลักการ โดยสรุปคือ

1.การเป็นพันธมิตรและหุ้นส่วนเศรษฐกิจที่เกื้อหนุนกัน โดยจะนำเข้าพืชผลการเกษตรจากสหรัฐอเมริกาเพิ่มมากขึ้น เช่น การนำเข้าข้าวโพดเพื่อนำมาผลิตอาหารสัตว์ รวมทั้งการนำเข้าถั่วเหลืองจากสหรัฐฯ

2.บริหารจัดการด้านภาษี เพื่อไม่ให้เป็นอุปสรรคนำเข้า

3.ลดการกีดกันทางการค้าที่มิใช่ภาษี (Non-Tariff Barriers)

4.มาตรการการตรวจสอบคัดกรองสินค้าป้องกันการหลบเลี่ยงภาษีของสหรัฐฯจากประเทศอื่นๆและใช้ประเทศไทยเป็นทางผ่านให้น้อยที่สุด

และ 5.การหาโอกาสการลงทุนใหม่ๆในสหรัฐฯ เช่น การลงทุนด้านการขนส่ง ในแหล่งก๊าซธรรมชาติของสหรัฐฯ ในรัฐอลาสกา รวมทั้งเข้าไปลงทุนการแปรรูปสินค้าการเกษตรในสหรัฐฯ

จากกรอบทั้งหมดเสมือนการยื่นไมตรี ยอมอ่อนข้อแทบทุกด้าน ถึงแม้จะมีเหตุผลรองรับในเรื่องความจำเป็น สำหรับการเจรจากับประเทศมหาอำนาจยักษ์ใหญ่ แต่อีกทางก็ต้องยึดหลักการสำคัญ คือ ต้องต่อรอง โดยไม่ยอมเสียเปรียบจนมากเกินไป ต้องคำนึงถึงผลกระทบกับภาพรวมเศรษฐกิจและภาคส่วนต่างๆของไทยด้วย

...

ฉะนั้นวาระนี้จึงถือเป็นภารกิจที่สำคัญยิ่งสำหรับคณะผู้เจรจา จะต้องปฏิบัติภารกิจเพื่อประเทศชาติอย่างรอบคอบที่สุด เพื่อการสร้างสมดุลผลประโยชน์แลกเปลี่ยน แม้ไม่ถึงขั้นต้องได้ประโยชน์กันอย่างเท่าเทียมแบบวิน-วิน แต่ก็ต้องไม่ให้การเจรจาครั้งนี้เมื่อจบลงแล้ว ประเทศไทยต้องตกเป็นเบี้ยล่างอย่างสุดกู่ไปเลย.

คลิกอ่านคอลัมน์ “บทบรรณาธิการ” เพิ่มเติม