สงครามภาษีปะทะกันระหว่างสหรัฐฯกับจีน เมื่อช้างสารชนกัน หญ้าแพรกก็แหลกลาญ
ศ.กิตติคุณ ดร.สุรชาติ บำรุงสุข นักวิชาการด้านความมั่นคง ฉายภาพให้เห็นสถานการณ์สงครามภาษีที่กำลังกลายเป็นสงครามจัดดุลอำนาจของโลก ทั้งภูมิรัฐศาสตร์การเมืองระหว่างประเทศ และภูมิเศรษฐกิจการเมืองระหว่างประเทศ
ในฐานะที่เป็นผู้เขียนหนังสือ “ทรัมป์นิยม จากอนุรักษนิยม สู่ประชานิยมปีกขวา” วิเคราะห์บทบาทของนายโดนัลด์ ทรัมป์ ในฐานะตัวแทนสำคัญของกระแสประชานิยมปีกขวา เน้นฟื้นฟูผลประโยชน์ของชาติ จังหวะที่เขียนหนังสือเล่มนี้ ขณะนั้นมั่นใจนายโดนัลด์ ทรัมป์ ชนะการเลือกตั้งเป็นประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา
โดย ศ.กิตติคุณ ดร.สุรชาติ บอกถึงความเปลี่ยนแปลงชุดใหญ่ในเวทีโลก เดิมหลายช่วงอายุเราอยู่กับ “ระเบียบโลกที่เป็นระเบียบ” จัดโครงสร้างของความสัมพันธ์ระหว่างรัฐกับมหาอำนาจแบบหนึ่ง นโยบายสหรัฐฯไม่มีลักษณะของการโดดเดี่ยวตัวเอง หรือตัดตัวเองออกจากพันธะในเวทีโลก
เมื่อโดนัลด์ ทรัมป์ ขึ้นได้เห็นชุดความคิดอีกแบบหนึ่ง โดยเฉพาะชุดความคิดการเมืองแบบ “ทรัมป์ลิซึ่ม” หรือ “ทรัมป์นิยม” หนึ่งในประเด็นที่หาเสียงคือ “การตั้งกำแพงภาษี” ทรัมป์ไม่ได้ทำอะไรเกินกว่าที่ประกาศเมื่อเปิดประเด็นตั้งกำแพงภาษี แต่เราคาดไม่ถึง คือความหนักหน่วงของนโยบายทรัมป์ 2

...
ในรอบนี้เริ่มไม่แน่ใจว่าสหรัฐฯยังเป็นคนคุมระเบียบโลกหรือไม่ เมื่อตีความจากบทบาททรัมป์ครั้งนี้ มันเริ่มไม่มีกติกา จึงมีคำถามตามมาว่าระเบียบโลกชุดนี้จะเป็นอย่างไร
วันนี้ทุกประเทศมีโอกาสหายใจอยู่ 90 วัน นับเป็น 90 วันที่ค่อยๆผ่อนเชือกที่รัดคอทุกประเทศออกนิดหนึ่ง โดยไม่รู้ว่าอีก 3 เดือนที่ทุกประเทศต้องหาทางออก รวมถึงไทยจะเป็นอย่างไร ยกเว้นจีน ยังไม่รู้กำแพงภาษีจะสูงขึ้นอีกเท่าไหร่
ในเมื่อรัฐอำนาจใหญ่ 2 ขั้วปะทะกัน
สหรัฐฯเผชิญแรงกดดันจากทั่วโลก ท่ามกลางสภาพภายในของสหรัฐฯ เจอประท้วง ตลาดหุ้นตก รวมถึงถ้ากำแพงภาษียังไปเรื่อยๆ ชีวิตคนสหรัฐฯยังเจอปัญหาค่าครองชีพขยับตัวขึ้น จะสูงไปสู่จุดใดจนคนสหรัฐฯรู้สึกทนไม่ไหว
แม้มีการประท้วง แต่คนตะวันตกไม่กลัวเรื่องประท้วง การประท้วงใหญ่ในสังคมสหรัฐฯไม่ใช่เรื่องแปลก ยุคต่อต้านสงครามเวียดนามก็มีประท้วงใหญ่ แต่ไม่ใช่ประท้วงใหญ่แล้วการเมืองต้องล้มต้องเปลี่ยน ไม่ใช่ครั้งนี้ต้องยอมรับภาวะค่าครองชีพเป็นแรงกดดันชีวิตคนสหรัฐฯ ตลาดเงิน ตลาดทุนตก ภายใต้เงื่อนไขประท้วงใหญ่ เชื่อว่าในระยะสั้นทรัมป์ไม่เปลี่ยนนโยบาย ถ้าเปลี่ยนย่อมแพ้ทางการเมือง
สงครามภาษีนำไปสู่ประเด็นใหญ่คือเศรษฐกิจโลกผันผวน โดยราคาทองคำเป็นดัชนีชี้วัดที่น่าสนใจ คาดการณ์ทองคำ 1 บาทอาจเกือบแตะ 6 หมื่นบาท เพราะทุกคนหนีไปหาสินทรัพย์ที่ปลอดภัย
เงื่อนไขเศรษฐกิจโลกจากผลพวงความมั่นคงต่างๆ เศรษฐกิจโลกเปราะบางอยู่แล้ว เมื่อเจอเงื่อนไข สงครามภาษี สงครามการค้า ทำให้เศรษฐกิจโลกเข้าสู่ภาวะถดถอยแน่ๆ
นักรัฐศาสตร์ทุกคนถูกสอนในประวัติศาสตร์ทางการทูต ตกลงจะเห็นโลกเดินไปบนเส้นทางเดียวกับช่วงวิกฤติเศรษฐกิจครั้งใหญ่ของโลกช่วงปี 1929-1930 หรือไม่
ปัญหาใหญ่เช่นนี้รัฐบาลต้องเตรียมตัว
“วันนี้ถ้าพูดกันในบริบทของประเทศไทย สงกรานต์ปีนี้ไม่สดใส หลายคนกลับบ้านด้วยความรู้สึกที่แบกชีวิตหลังสงกรานต์
ไม่รู้สภาพเศรษฐกิจเช่นนี้ นำไปสู่การหยุดจ้างงานหรือไม่ นำไปสู่อะไรหรือไม่ ในสภาพของสังคมไทย รวมถึงสภาวะของสังคมโลก เหมือนสภาพที่เคยเกิดขึ้นตอนวิกฤติโควิดมาแล้ว”
แม้รัฐบาลขยับตัวช้า หลังจากโดนัลด์ ทรัมป์ประกาศ เมื่อเทียบกับการขยับตัวของเวียดนาม สิงคโปร์ โดยเฉพาะผู้นำสิงคโปร์เน้นสื่อสารทางการเมืองถึงประชาชนที่ไม่มีช่องว่าง โดยใส่เสื้อธรรมดา ไม่ใส่เสื้อนอก ผูกเนกไท รวมถึงประธานอาเซียนที่นายกฯมาเลเซียเป็น เสนอมีเวทีคุย 5 ประเทศ กลับไม่มีไทย
ไม่รู้ทำไมเป็นอย่างนั้น ทั้งที่นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯ เป็นที่ปรึกษาประธานอาเซียน เมื่อเป็นเช่นนี้ภาครัฐของไทยต้องเตรียมตัว แค่ น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกฯ ประชุมกับ ครม.เศรษฐกิจยังไม่พอ
ในภาวะอย่างนี้เป็น ไปได้หรือไม่ที่นายกฯเปิดทำเนียบรัฐบาล เรียก 10 อุตสาหกรรมแรกที่ถูกกระทบ อาจบวกอีก 10 อุตสาหกรรมถัดไปหรือบวก 5 อุตสาหกรรม
อยากเห็นนายกฯตระหนักในมิติทางการเมือง นั่งหัวโต๊ะคุยกับผู้ประกอบการไทย ด้านหนึ่งให้กำลังใจผู้ประกอบการ และเป็นการส่งสัญญาณว่าผู้นำไทยมีทิศทางต้องการผลักดันนโยบายเหล่านั้นจริง
“ต้องลดงานทั้งหมดที่ไม่มีนัยสำคัญกับนโยบาย หันมาทำงานเชิงนโยบายมากขึ้น หากไม่ทำจะกลายเป็นหัวหน้าของข้าราชการประจำ ทำงานรูทีนไปตามระเบียบ จะไม่เกิดอะไรเลย
นายกฯควรตระหนักว่าตัวเองเป็นหัวหน้างานนโยบายของประเทศ และอีกมุมหนึ่งภาษีที่ทรัมป์ประกาศ นายกฯควรทำความเข้าใจ มันเป็นโจทย์ของผู้นำทุกประเทศทั่วโลก
อย่าคิดว่าข้อสอบที่อาจารย์ทรัมป์ออกทำง่ายแล้วจบ ข้อสอบชุดนี้ยาว ใหญ่ เป็นโจทย์ที่โหดร้าย มันมีนัยกับอนาคตทางเศรษฐกิจของประเทศ”
สอบผ่านเป็นโอกาส สอบตกอาจกลายเป็นวิกฤติ
ครม.เศรษฐกิจ 10-20 อุตสาหกรรม กลไกรัฐที่เกี่ยวข้องผนึกพลัง เพื่อเป็นข้อมูลเชิงนโยบายให้ทีมเจรจาของไทยไว้พูดคุยกับนายโดนัลด์ ทรัมป์ ศ.กิตติคุณ ดร.สุรชาติ บอกว่า ใช่ ต้องต่อรองเจรจากับทรัมป์ ด้วยชุดความคิดและบุคลิกของทรัมป์ เหมือน “เกมที่เล่นผ่านการดีล” ทรัมป์เป็นเจ้าพ่อแห่งการดีล เขาเขียนหนังสือเรื่องการดีล โดยมีความเชื่อโดยพื้นฐานทางความคิดว่า ทุกอย่างได้มาด้วยการดีล
ข้อดีในมุมหนึ่งของการดีล อาจไม่ได้มีนัยว่าฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งได้ทั้งหมด แต่ขึ้นอยู่ที่ขีดความสามารถและทักษะของคนที่เข้าไปดีลกับทรัมป์ ดีลระหว่างประเทศในโจทย์ที่สหรัฐฯตั้งมันไม่ง่าย และยังต้องดูข้อสอบที่ทรัมป์ออกให้ “สี จิ้นผิง” ประธานาธิบดีของจีนทำ จะทำอย่างไร โยนข้อสอบทิ้งเดินออกจากห้องสอบ โดยไม่แคร์ หรือจีนจะดีลกับสหรัฐฯรูปแบบไหน
ฉะนั้นทีมเจรจาของไทยต้องเล่นเกมต่อรองให้เป็น
“ทีมเจรจาเป็นเรื่องใหญ่ ในทีมต้องมี รมว.ต่างประเทศ รมว.พาณิชย์ แต่ไม่เห็นบทบาทเลย เกิดอะไรขึ้นกับ รมว.ต่างประเทศหลังส่งอุยกูร์กลับจีน
ไม่อยากใช้คำว่า 90 วันอันตราย ขอเรียกว่า 90 วันแห่งความท้าทาย ต้องคิด ไม่ใช่นั่งเล่นๆ สบายๆ
พูดง่ายๆนับจากวันที่ 2 เม.ย. ทรัมป์ประกาศ ตรงกับวันที่ 3 เม.ย.ของไทย การเป็นรัฐบาลไม่ใช่ความสุขแล้ว ใครเป็นผู้นำประเทศเป็นทุกขลาภ ต้องย้ำเลย”
สมรภูมิการเมืองโลกผันผวน การเมืองไทยตกอยู่ในสภาพ “พ่อมหาจำเริญ” ตามที่นายทักษิณระบุ ปัญหานี้มีผลกระทบต่อการเจรจากับนายโดนัลด์ ทรัมป์ อย่างไร ศ.กิตติคุณ ดร.สุรชาติ บอกว่า การเมืองภายในเป็นพื้นฐานของตัวอำนาจ โดยเงื่อนไขทางการเมืองรัฐบาลไม่ได้งอนแง่น แต่รัฐบาลมีปัญหา
ขึ้นอยู่ที่เงื่อนไขและทักษะจัดการปัญหาภายในการเมืองไทยอย่างไร ดีลการเมืองภายในมันง่าย มีผลประโยชน์ส่วนตัวเยอะ ถ้าทุกอย่างเคลียร์กันได้ลงตัวก็ง่าย ขึ้นอยู่ที่ปัญหาการเมืองไทย
รอบนี้ดีลจบเมื่อไหร่ ภาวการณ์ดีลจบจะได้เห็นอะไร
ตกลงเหตุการณ์ในสภาก่อนปิดสมัยประชุมที่เราเห็น มันคือการละครการเมืองชุดหนึ่งหรือกระบวนการดีล ที่เราเห็นทีละส่วน โจทย์พวกนี้รอความคลี่คลายของตัวการเมืองเอง ในวันที่คลี่คลายที่สามารถจบดีลได้หรือไม่ ต้องเดิมพันด้วย...
...อนาคตของพรรคเพื่อไทย
อนาคตของนายกฯแพทองธาร.
ทีมการเมือง
คลิกอ่านคอลัมน์ “วิเคราะห์การเมือง” เพิ่มเติม