ขึงขังมาตรการซีลชายแดน วาระแห่งชาติกำจัดแก๊งคอลเซ็นเตอร์ สแกมเมอร์ “บิ๊กอ้วน” ภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกฯ และ รมว.กลาโหม ควง “บิ๊กเสริฐ” ประเสริฐ จันทรรวงทอง รองนายกฯ และ รมว.ดีอี รวมทั้ง สรวงศ์ เทียนทอง รมว.การท่องเที่ยวและกีฬา สส.สระแก้ว ลงพื้นที่อรัญประเทศ จ.สระแก้ว ฝั่งชายแดนกัมพูชา

เตรียมลุยใช้มาตรฐานเดียวกับที่ใช้กับชายแดนประเทศเมียนมา แม้ตอนนี้ยังไม่เห็นผลชัดเจน แต่มีเสียงชื่นชมท่าทีรัฐบาลไทย โดยเฉพาะ “รองฯอ้วน” ที่เด็ดขาดเอาจริงเอาจัง

ไม่มีรอมชอม อะลุ่มอล่วยกับแก๊งอาชญากรข้ามชาติที่เซาะกร่อนบ่อนทำลายประเทศไทย และคนไทย

“รัฐบาลคิกออฟเรื่องซีลชายแดน หวังว่าจะใช้เวลา 6 เดือนเห็นผล จะเป็นมาตรการเริ่มต้นสกัดกั้นยาเสพติด ป้องกันการค้ามนุษย์ แก๊งคอลเซ็นเตอร์ นายกฯสั่งการเรื่องนี้ว่า 6 เดือนต้องเห็นผล”

ผู้บังคับบัญชาระดับสูงของทุกหน่วยที่เฉยชาหรือไม่ปฏิบัติตามอย่างแข็งขันต้องดึงออกมาก่อน

หากยังคงมาตรการเฉียบขาดคงเส้นคงวา บูรณาการครบทุกส่วนแก้ไขทุกจุดหย่อนยาน ก็มองเห็นโอกาสขจัดปัญหานี้ได้ภายในสิ้นปีตามที่ขีดเส้นไว้

รอดูท่าทีบุคคลสำคัญอย่าง ส.ท.ร.ประเทศไทย นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯ ที่มีความสนิทสนมใกล้ชิดกับทั้งผู้นำฝั่งเมียนมาและกัมพูชา

จะร่วมด้วยช่วยแก้ปัญหาผนึกกำลังกับรัฐบาลที่นำโดย “นายกฯอิ๊งค์” น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี จนเห็นผลเป็นรูปธรรม เพิ่มแต้มการทำงานของรัฐบาลเพื่อไทย ตามที่ประกาศยกระดับปัญหาเป็นวาระแห่งชาติ

แม้จะมีปัญหาภายในรัฐบาล โดยเฉพาะพรรคร่วมรัฐบาลที่ยังไม่ค่อยเป็นเอกภาพ

แต่หากใช้ปัญหาเป็นเข็มทิศนำทางเดินไปอย่างถูกต้อง ท้ายที่สุดทุกคนทุกฝ่ายก็ต้องเดินตาม

...

ส่วนปัญหาการเมืองที่ยังขึงพืดตั้งท่าจะห้ำหั่นกันเรื่องของการแก้รัฐธรรมนูญ ก็สืบเนื่องมาจากความเห็นต่างภายในรัฐบาล ระหว่างพรรคหลักกับพรรครอง “เพื่อไทย-ภูมิใจไทย”

ไม่ใช่เรื่องระหว่างรัฐบาลกับฝ่ายค้าน เพราะ “เพื่อไทย-ประชาชน” แนวทางคล้ายกัน

มือกฎหมายประจำรัฐบาล “ชูศักดิ์ ศิรินิล” รมต.ประจำสำนักนายกฯ ยังเป็นห่วงการประชุมรัฐสภาวันที่ 13–14 ก.พ. อาจมีรายการวอล์กเอาต์หรือบอยคอตการประชุม

หลังจากค่าย “เซราะกราว” ภูมิใจไทยยังคงมีจุดยืนเป็นกระต่ายขาเดียวเหมือนเดิม

“เสี่ยหนู” อนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกฯ และ รมว.มหาดไทย หัวหน้าพรรคภูมิใจไทยส่งสัญญาณชัดเจน ไม่ขอเสี่ยงสังฆกรรมกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญที่ยังมีข้อสงสัยในกระบวนการ

มองว่าวาระพิจารณาแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 256 นำไปสู่การตั้ง ส.ส.ร. เพื่อแก้ไขทั้งฉบับ ภูมิใจไทยข้องใจ ไม่สบายใจว่าก่อนการเดินหน้าของรัฐสภาจำเป็นต้องทำประชามติก่อนหรือไม่

กังวลว่าหากเดินหน้านับหนึ่งแล้วจะเป็นความสุ่มเสี่ยงต่อการขัดรัฐธรรมนูญ

ต่างจากพรรคเพื่อไทยและพรรคประชาชน ที่พยายามให้เดินหน้านับหนึ่งพิจารณาไปก่อน

เมื่อกระบวนการขับเคลื่อนไปแล้ว ถือว่าเรื่องเกิดขึ้นแล้ว จึงสามารถยื่นศาลรัฐธรรมนูญตีความสอบถาม แต่ถ้าไม่ดำเนินการใดๆแล้วไปยื่นศาลรัฐธรรมนูญอาจเกิดปัญหาเดิม คือเรื่องยังไม่เกิดไม่รับวินิจฉัย

ประเด็นสำคัญคือยังเห็นต่างกันว่าการแก้มาตรา 256 เป็นการแก้ทั้งฉบับหรือรายมาตรา

“เดอะอ๋อย” จาตุรนต์ ฉายแสง สส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย ออกมาย้ำการตัดสินใจของประธานรัฐสภาที่บรรจุร่างแก้ไขมาตรา 256 โดยไม่รอการทำประชามติก่อน เพราะมาตรา 256 ไม่มีเนื้อหาเกี่ยวกับการร่างใหม่ทั้งฉบับ

จึงไม่มีอำนาจที่จะไปบอกให้ กกต.จัดทำประชามติ

แต่หากมีการเข้าชื่อเพื่อส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่ารัฐสภาสามารถพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 256 ได้หรือไม่ และจะต้องทำประชามติเมื่อใดนั้น

ก็ดีเหมือนกันจะได้ทำให้หมดข้อสงสัยและมีข้อยุติในเรื่องการทำประชามติเมื่อใดเสียที

อาการเขม่นกัน ไม่ยอมกันท่ามกลางวาระซ่อนเร้น คนการเมืองก็ได้แต่ออกอาการหงุดหงิดรำคาญ โดยเฉพาะพรรคแกนนำอย่างเพื่อไทยที่ต้องการเดินหน้าขับเคลื่อนสร้างผลงานทำแต้ม

จะลงมืออะไรสักอย่างมักมีเหตุให้ติดขัดล่าช้า เพราะการคัดง้าง ต่อรองผลประโยชน์

ถึงชั่วโมงนี้หลายอย่างต้องเสี่ยงลงมือทำ อะไรจะดีเลวได้หรือเสีย ก็ขอให้ได้ทำ ไม่ใช่รีรอแทงกั๊กขัดลำกันอยู่

แต่ดูเหมือนว่าจะต้องจมอยู่กับสถานการณ์นี้ต่อไป หนีไม่ออกจริงๆ.


ทีมข่าวการเมือง

คลิกอ่านคอลัมน์ “วิเคราะห์การเมือง” เพิ่มเติม