เรื่องราวของ การบุกรุกที่ดินของรัฐ และ ความขัดแย้งทางกฎหมาย เป็นเรื่องที่กลืนไม่เข้าคายไม่ออก คาราคาซัง จนถูกนำไปตีความทางการเมือง ชนวนความขัดแย้ง ระหว่าง เพื่อไทยกับภูมิใจไทย ขึ้นอยู่กับมุมมองของแต่ละคน แต่แก่นแท้ของปัญหาคือ การบังคับใช้กฎหมาย ทำอย่างไรจะไม่ให้เกิดความบกพร่องขึ้นในภายหลัง โดยยึดเจตนารมณ์ของกฎหมายเป็นหลัก มากกว่าการตีความข้อกฎหมาย ที่จะทำให้เกิดความผิดพลาดขึ้นได้
ยกตัวอย่างเรื่องของ ที่ดินอัลไพน์ ที่สืบทอดมาหลายรัฐบาล จนกระทั่งอดีต รมช.มหาดไทย ชาดา ไทยเศรษฐ์ ลงนามเพิกถอนการครอบครองที่ดินของเอกชนและให้ตกเป็นที่ธรณีสงฆ์ตามเดิม ซึ่งจะมีการซื้อขายไม่ได้ตามกฎหมาย ต่อมารองปลัดมหาดไทย ชำนาญวิทย์ เตรัตน์ ได้ลงนามในการเพิกถอนการ จดทะเบียนและนิติกรรมต่างๆบนที่ดินอัลไพน์ เมื่อวันที่ 16 ม.ค.ที่ผ่านมานี้เองเพื่อให้มีผลบังคับตามคำสั่งการเพิกถอนที่ดินดังกล่าวให้กลับมาเป็นที่ธรณีสงฆ์ ทำให้มีผู้ได้รับผลกระทบจากการเพิกถอนรายการจดทะเบียนที่ดิน และโฉนดที่ดินดังกล่าว
ตามขั้นตอนต่อจากนี้ไปเป็นขั้นตอนของการใช้สิทธิยื่นคำฟ้องและขอทุเลาการบังคับคำสั่งทางปกครองต่อศาล หรือยอมให้ กรมที่ดิน ชดเชยค่าสินไหมทดแทน ตาม พ.ร.บ.ความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่รัฐ ซึ่งเมื่อ คำนวณค่าเสียหายในคดีแพ่ง แล้ว จากผู้เสียหายที่มีจำนวน 533 ราย และผู้รับจำนองอีก 30 ราย มีมูลค่าสูงถึง 7,700 ล้านบาท ที่กรมที่ดินจะต้องชดใช้
ข้อต่อสู้ที่ว่าการทำนิติกรรมตั้งแต่สมัยที่เสนาะ เทียนทอง เป็น รมว.มหาดไทย เป็นการขัดกับศีลธรรมอันดี เป็นผลให้นิติกรรมเป็นโมฆะก็เป็นอีกเรื่อง แล้วก็โยงไปจนถึงขั้นที่ว่าการเรียกร้องค่าเสียหายเป็นหน้าที่ของวัด กรณีที่นำที่ดินไปแสวงหาผลประโยชน์ มาจบตรงที่ว่าใครจะกล้าใช้อำนาจสั่งจ่ายค่าชดเชยตั้งมากมายขนาดนั้น
...
อีกตัวอย่างเรื่อง ที่ดินเขากระโดง กลายเป็นข้อพิพาทระหว่างหน่วยงานรัฐ กรมที่ดิน และการรถไฟแห่งประเทศไทย ยังอยู่ในระหว่างการบังคับใช้ตามคำสั่งศาลเช่นกัน ถ้าต้องมีการเพิกถอนที่ดินเขากระโดงคืนให้กับ การรถไฟฯ เท่ากับว่า กรมที่ดิน ก็ต้องเสียค่าชดเชยให้กับผู้ที่ครอบครองก่อนที่คำพิพากษาดังกล่าวออกมา ซึ่งเป็นจำนวนเงินมหาศาล น่าจะมากกว่าที่ดินอัลไพน์ด้วยซ้ำไป
หรือกรณีความเห็นต่างระหว่างองค์กรในกระบวนการยุติธรรม กรณี ป.ป.ช.มีมติชี้มูลความผิดการที่เจ้าหน้าที่รัฐ (เจ้าพนักงานที่ดินสีคิ้ว) ออกโฉนดในเขตที่ดินรัฐ เป็นเขต ส.ป.ก.ให้กับกลุ่มบริษัทเอกชน ที่มีชื่อประยุทธ มหากิจศิริ เป็นผู้ถูกกล่าวหาด้วย ป.ป.ช.ชี้มูลความผิดส่งสำนวนความผิดให้อัยการสูงสุด ปรากฏว่าอัยการสูงสุดสั่งไม่ฟ้อง ทำให้ ป.ป.ช.ต้องนำ
กรณีนี้กลับมาทบทวนเพื่อจะส่งฟ้องด้วยตัวเอง เพราะเห็นว่า การนำที่ดิน ส.ป.ก.ไปทำสนามกอล์ฟ ถือว่าเป็นการร่วมกันกระทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา ม.151 และ 157 จนบัดนี้ยังไร้ทางออกที่ชัดเจน.
หมัดเหล็ก
mudlek@thairath.co.th
คลิกอ่านคอลัมน์ “คาบลูกคาบดอก” เพิ่มเติม