รัฐธรรมนูญระบุว่าประเทศไทย มีการปกครองระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข อำนาจอธิปไตยเป็นของปวงชนชาวไทยพระมหากษัตริย์ทรงใช้อำนาจทั้งทางรัฐสภา คณะรัฐมนตรีและศาล ตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ รัฐสภา คณะรัฐมนตรี องค์กรอิสระและหน่วยงานของรัฐ ต่างปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญกฎหมายและนิติธรรม
นักรัฐศาสตร์บางคนระบุว่า รัฐสภามีอำนาจมากที่สุดในบรรดา 3 อำนาจ เพราะรัฐสภานอกจากจะมาจากการเลือกตั้งของประชาชนมีอำนาจนิติบัญญัติ แต่รัฐสภายังคุมอำนาจบริหารด้วย เพราะเป็นผู้เลือกนายกรัฐมนตรี เป็นหัวหน้าฝ่ายบริหารควบคุมการบริหารราชการแผ่นดิน ในอดีตที่ประเทศไม่มีรัฐสภา มักจะมีการชุมนุมเรียกร้อง
เช่นเมื่อปี 2516 ประเทศไทยว่างเว้นทั้งรัฐธรรมนูญและรัฐสภานับสิบๆปี จึงมีกลุ่มนักศึกษาประชาชนออกมาเรียกร้อง ถูกปราบปรามนองเลือด แต่ได้มาซึ่งรัฐ ธรรมนูญและรัฐสภา ประเทศไทยขณะนี้ มีพร้อมทั้งสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภา แต่ยังมีที่ขู่ว่าอาจจะออกมาเล่นการเมืองบนท้องถนนไม่ทราบว่าเพื่ออะไร แต่บอกว่า “ความจริงมีหนึ่งเดียว”
ขณะนี้ทั้งสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภา ต่างปฏิบัติหน้าที่ด้วยความสงบ มีทั้งเสนอร่างกฎหมาย การตั้งกระทู้ถามนายกฯและรัฐมนตรีเกี่ยวกับปัญหาของประเทศ การเสนอญัตติเกี่ยวกับปัญหาต่างๆของประเทศ บางพรรคเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญ ให้เป็นประชาธิปไตย เพียงแต่ยังไม่ได้เสนอญัตติ เพื่อเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจ นายกฯหรือรัฐมนตรี
นอกจากรัฐสภาแล้ว การเมืองไทยยังมีองค์กรตรวจสอบที่ก้าวหน้าเรียกกันว่า “นักร้อง” มีสิทธิเสรีภาพยื่นคำร้ององค์กรอิสระ และศาลรัฐธรรมนูญให้ปัดเป่าทุกข์ร้อนประชาชน โดยไม่ต้องลงท้องถนน ซึ่งเสี่ยงนำไปสู่รัฐประหาร อาจทำให้ประเทศเสียหายร้ายแรง และเคยถอดถอนนายก
รัฐมนตรีและร้องยุบพรรคการเมือง
...
การยื่นคำร้องต่อองค์กรอิสระ เป็นสิทธิและเสรีภาพของประชาชน ในการตรวจสอบและถ่วงดุลรัฐบาล โดยไม่ต้องเสี่ยงต่อการนำไปสู่ความรุนแรง เพราะเป็นการร้องให้ตรวจสอบโดยสันติวิธี ไม่ต้องปลุกระดมมวลชนออกมาชุมนุมนับหมื่นนับแสน ไม่ต้องเสี่ยงต่อความรุนแรง ไม่เสี่ยงต่อการเสียประชาธิปไตย
ยิ่งกว่านั้น บุคคลหรือองค์กรที่ตั้งตัวเป็น “นักร้อง” ยังไม่เสี่ยงต่อการตอบโต้อย่างรุนแรง จากบุคคลหรือองค์กรที่ถูกร้อง แต่ละฝ่ายสามารถตอบโต้กันได้ ด้วยการยึดความจริงเป็นที่พึ่ง เป็นวัฒนธรรมการเมืองที่ค่อนข้างใหม่ สำหรับประเทศไทยเป็นการปลูกฝังวัฒนธรรมการรับฟังความเห็นต่าง โดยใช้ความจริงเป็นอาวุธให้ประชาชนเป็นผู้ตัดสิน.
คลิกอ่านคอลัมน์ “บทบรรณาธิการ” เพิ่มเติม