ถ้าเอาประโยชน์ของประเทศเป็นตัวตั้งก่อนที่จะตัดสินใจดำเนินการโครงการต่างๆก็ต้องถกเถียงกันบ้างทะเลาะกันบ้าง

นั่นย่อมเป็นเรื่องที่ดีเพื่อให้ได้ข้อสรุปที่ดีที่สุด

ก่อนจะได้ทองก็ต้องร่อนเพื่อแยกกรวดเอาทรายออกจนเหลือแต่เนื้อทองล้วนๆนั่นจึงจะได้ของดีและมีค่า

“แลนด์บริดจ์” โครงการใหญ่ที่รัฐบาลกำลังโปรโมตเพื่อเชิญชวนให้บริษัทยักษ์ใหญ่ในแต่ละประเทศเข้ามาลงทุนเบื้องต้นวางงบประมาณเอาไว้ที่วงเงิน 1 ล้านล้านบาท รายไหนประมูลได้ก็ควักจ่ายมามีเงื่อนไขว่าจะทำประโยชน์ได้ภายใน 50 ปี

จากนั้นก็จะเป็นของไทยทั้งหมด

คงพอจะมองเห็นภาพว่า “แลนด์บริดจ์” ที่ว่านั้นคืออะไรจะทำกันตรงไหนเชื่อมต่อระหว่างระนองกับชุมพร

เป็นการขนส่งสินค้าที่ขนส่งทางเรือทุกอย่างผ่านจากจุดหนึ่งไปยังอีกจุดหนึ่งในพื้นที่ที่แคบที่สุดระหว่างอ่าวไทยกับมหาสมุทรอินเดีย

นั่นจะทำให้ไทยเป็นจุดเชื่อมต่อทางบกที่ประกอบไปด้วยมอเตอร์เวย์ รถไฟทางคู่เพื่อขนส่งสินค้าจากฝั่งหนึ่งไปอีกฝั่งหนึ่งทำให้ร่นระยะทางและเวลาดีกว่าต้องไปผ่านช่องแคบมะละกา

ที่สำคัญจะทำให้ไทยเป็นศูนย์กลางการขนส่งสินค้าจุดใหม่ของโลก ที่คาดหวังว่าจะสร้างความเจริญให้กับภาคใต้ของไทยสร้างเมืองใหม่สร้างงานใหม่ให้เกิดขึ้นส่งผลต่อเศรษฐกิจโดยตรง

ปัญหาที่ถกเถียงกันวันนี้ก็คือ โครงการไทยจะได้อะไรจะเป็นไปตามที่ สนข. (สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและการจราจร) ศึกษาหรือไม่

อีกด้านหนึ่งก็มีความเห็นที่ตรงกันข้ามคือโครงการนี้ไม่คุ้มค่าไม่เป็นไปตามที่ สนข.ศึกษาจึงไม่ต้องการให้รัฐบาลดำเนินการต่อไป

แต่ที่กำลังเป็นปัญหาขึ้นมาก็คือ กมธ.ศึกษาเรื่องนี้เกิดความขัดแย้งโดย กมธ. 4 คน จาก “ก้าวไกล” ได้ยื่นใบลาออกก่อนที่จะมีการลงมติผลสรุปเพื่อส่งให้รัฐบาล อ้างว่า สนข.ให้ข้อมูลไม่ครบไม่รอบด้านพอ

...

เลยถูกมองว่าเล่นเกมการเมืองเพราะ กมธ.คนอื่นๆจากพรรคอื่นไม่เห็นมีปัญหาและเผยว่า สนข.ได้ให้ข้อมูลทุกอย่างครบถ้วน

นอกจากนั้นยังมีความเคลื่อนไหวในพื้นที่จากชุมพรอ้างว่าไม่เห็นด้วยและต้องการให้รัฐบาลเสนอข้อมูลให้มากกว่านี้

ผมว่าความเคลื่อนไหวเหล่านี้ล้วนเป็นเรื่องที่มีประโยชน์ประกอบการตัดสินใจของรัฐบาลดีกว่าจะเกิดปัญหาในภายหลังที่โครงการเดินหน้าไปแล้วแต่เกิดปัญหาจากเสียงคัดค้านทำให้เกิดความล่าช้าจนเป็นอุปสรรคอย่างหนึ่ง

ว่าไปแล้วโครงการนี้คนส่วนใหญ่ค่อนข้างจะเห็นด้วยเพราะมั่นใจประเทศและประชาชนจะได้ประโยชน์

การเริ่มต้นบรรยากาศก็จะเป็นอย่างนี้ไม่ใช่เรื่องแปลกแต่อย่างใด

อีกทั้งวันนี้รัฐบาลก็เดินหน้าเชิญชวนหลายจุดหลายประเทศให้มาลงทุนก็มีความคืบหน้าที่คู่ขนานกันไป

การที่บริษัทต่างชาติที่สนใจเข้ามาลงทุนนั้นไม่ต้องห่วงเขาหรอกเพราะการตัดสินใจลงทุนโครงการใหญ่ขนาดนี้ซึ่งต้องใช้งบประมาณสูงย่อมจะมีการศึกษาอย่างดีอยู่แล้ว

ว่าลงทุนแล้วจะคุ้มค่าหรือไม่ก่อนที่จะตัดสินใจ

ประเด็นสำคัญก็คือประเทศเองนั่นแหละต้องตัดสินใจบนพื้นฐานเพื่อได้ประโยชน์สูงสุดและคุ้มค่า...

นั่นแหละคือประเด็นหลัก!

“สายล่อฟ้า”

คลิกอ่านคอลัมน์ "กล้าได้กล้าเสีย" เพิ่มเติม