หากย้อนกลับไปในอดีตที่บรรดาข้าราชการหลายคนต้องมีความผิดในคดี “จำนำข้าว” แล้ว ทั้งๆที่เป็นนโยบายของรัฐบาลในยุคสมัยนั้น

จนมาถึงนโยบายในยุคสมัยนี้คือ “ดิจิทัลวอลเล็ต” ซึ่งจะออกเป็น พ.ร.บ.กู้เงิน 5 แสนล้านบาท เพื่อใช้ในการดำเนินโครงการ

ถามใจบรรดาข้าราชการซึ่งมีหน้าที่เป็นผู้ปฏิบัติ คงไม่มีใครอยากทำอีกแล้วเพราะต้อง “ติดคุก” หัวโต แต่คนสั่งการหรือคนบงการรอดพ้นไปอย่างสบายใจเฉิบ

นี่กำลังจะซํ้ารอยเดิมอีกแล้วหรือ?

นั่นเป็นปฏิกริยาที่กำลังเกิดขึ้น หลังจากที่ “กฤษฎีกา” ได้ส่งคำตอบให้รัฐบาลว่าด้วยเรื่องเงินกู้ที่รัฐบาลชุดนี้เลือกที่จะนำมาดำเนินการ

“กฤษฎีกา” เป็นที่ปรึกษารัฐบาลในด้านกฎหมาย ไม่ใช่ด้านเศรษฐกิจ ดังนั้นคำแนะนำต่างๆ จึงว่าด้วยข้อกฎหมายเป็นหลัก ว่าอันไหนทำได้อันไหนทำไม่ได้ เพราะถ้าทำแล้วว่าจะผิดกฎหมาย ซึ่งมีบทลงโทษ คงไม่ต้องนำรายละเอียดมาอธิบาย เพราะมีการชี้แจงแถลงไขกันไปแล้ว

อย่าว่าแต่ข้าราชการที่ต้องเกี่ยวข้องเท่านั้น บรรดานักการเมืองที่มีส่วนร่วมในการดำเนินการนโยบายนี้ก็คงผวาไม่ต่างกัน

แต่เมื่อเป็นนโยบายที่มีผลผูกพันกับประชาชน เพราะไปหาเสียงเอาไว้เมื่อตอนเลือกตั้งรัฐบาลก็ต้องพยายามที่จะเดินหน้าเพื่อให้บรรลุเป้าหมาย เพราะมิฉะนั้นจะเกิดปัญหาในด้านคะแนนนิยม

สถานการณ์ในขณะนี้ก็คือ โครงการนี้จะเดินหน้าต่อไปหรือพับเก็บใส่กระเป๋า ก็ต้องรอให้คณะกรรมการดิจิทัลชุดใหญ่พิจารณาตัดสิน

คณะกรรมการชุดนี้มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน พร้อมกรรมการที่เป็นรัฐมนตรีและข้าราชการจากหน่วยงานต่างๆ

พูดได้ว่าคนสำคัญๆทั้งนั้น

แน่นอนว่าการพิจารณาเรื่องนี้ต้องนำคำชี้แนะของ “กฤษฎีกา” มาเป็น “ตุ๊กตา” แล้วไล่ไปว่าผลจะเป็นอย่างไร

...

ว่ากันจริงๆเดินหน้าต่อไปได้ยาก เนื่องจากมีเงื่อนไขและข้อผูกมัดที่เกี่ยวข้องกับข้อกฎหมาย และข้อเท็จจริงที่ยากต่อการปฏิบัติ

มิฉะนั้นจะต้อง “ติดคุกหัวโต” กันแน่!

อีกทั้งวงเงินกู้นั้นมีจำนวนสูง แต่ผลที่ออกมาน้อย ถือว่าไม่คุ้มค่าอีกด้วย หากจะเดินหน้าต่อก็ต้องใช้วิธีการอื่น

นั่นคือยุติการออก พ.ร.บ.เงินกู้ แต่หันกลับมาใช้งบประมาณประจำปีแทน ปีนี้ไม่ทันก็ต้องข้ามไปใช้งบปี 2568 แทน

พูดง่ายๆว่ายืดเวลาออกไป แต่ไม่มีความเสี่ยง และสามารถจัดงบได้ด้วยการเกลี่ยงบจากส่วนอื่นมาดำเนินการแทน อีกทั้งต้องลดเป้าแจกเงินให้ไปลงในกลุ่มที่มีความจำเป็นจริงๆและจะใช้จ่ายเงินอย่างแน่นอน ซึ่งก็เป็นมวลชนของ “เพื่อไทย” อยู่แล้ว

เรื่องนี้สามารถชี้แจงทำความเข้าใจกันได้ ไม่เสียหน้า ไม่เสียมวลชนและไม่ต้องโกหกกันด้วย เนื่องจากเคยประกาศว่าจะไม่ “กู้เงิน” มาดำเนินการ

เพียงแต่จะหาวิธีการดำเนินการอย่างใดเท่านั้น

ซึ่งบอร์ดดิจิทัลสามารถที่จะหาวิธีการได้ อย่างเช่นการตั้งคณะอนุกรรมการเพื่อศึกษาเรื่องนี้ ใช้เวลาสักระยะหนึ่ง อาจจะอ้างว่าได้เปิดรับฟังความเห็นมาอย่างกว้างขวาง จนได้ข้อสรุปอย่างนี้

ไม่เสียหายแต่เสียฟอร์ม (ใหญ่) เท่านั้นเอง!

“สายล่อฟ้า”

คลิกอ่านคอลัมน์ "กล้าได้กล้าเสีย" เพิ่มเติม