การอภิปรายงบประมาณรายจ่ายประจำปี ที่ยืดเยื้อยาวนาน 3 วัน 3 คืนทำให้คนไทยได้ความรู้มากมาย เกี่ยวกับปัญหาการบริหารประเทศ รวมทั้งปัญหาความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งอภิปรายโดยนายรอมฎอน ปันจอร์ สส.พรรคก้าวไกล เริ่มต้นด้วยการเล่าว่าเดือนมกราคมปีนี้ ครบ 20 ปีของไฟใต้

สส.รอมฎอนกล่าวว่า 20 ปีที่ผ่าน มา เกิดเหตุความไม่สงบกว่า 22,296 ครั้ง มีผู้เสียชีวิตกว่า 7,000 คน บาดเจ็บกว่า 20,000 คน รัฐบาลใช้งบประมาณไป 5.4 แสนล้านบาท และยังมีงบนอกแผนบูรณาการ อยู่ที่ กอ.รมน. 3,535 ล้านบาท อาจเกี่ยวข้องกับ “บุคลากรผี” มีชื่ออยู่ใน กอ.รมน. แต่ไม่ได้ทำงานจริง

จึงขอให้นายกรัฐมนตรีสั่งกำชับไปยัง กอ.รมน.ส่วนหน้า ว่าการกระทำเช่นนั้นบั่นทอนสันติภาพ ไม่รู้เป็นไบโพลาร์หรือไม่ เดี๋ยวอยากคุย เดี๋ยวอยากปิดปาก นายกรัฐมนตรีชี้แจงว่าการดูแลพี่น้องภาคใต้ ขอแยกเป็น “ความมั่นคงและความมั่งคั่ง” จังหวัดชายแดนใต้มีของดีอยู่มาก หากนำขึ้นมาโปรโมต เชื่อว่าจะนำเงินเข้าประเทศได้เยอะ

ปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ ไม่ใช่เรื่องความมั่นคงและความมั่งคั่งเท่านั้น แต่เป็นปัญหาที่ซับซ้อน นักวิชาการที่ศึกษาปัญหาไฟใต้ ระบุว่าเป็นปัญหาความขัดแย้งทางการเมือง ที่เกี่ยวเนื่องกับมิติวัฒนธรรม ต้องแก้ไขด้วยสันติวิธี ประชาชนในพื้นที่บางส่วนไม่พอใจการยึดครองดินแดนที่เรียกว่า “ปาตานี” ของรัฐสยาม

ไฟใต้ไม่ใช่เพิ่งเกิดเมื่อปี 2547 แต่เกิดขึ้นมาช้านาน แต่ปะทุรุนแรงขึ้นในปี 2547 ในช่วงรัฐบาลพรรคไทยรักไทย ที่มองว่าการก่อเหตุรุนแรงเป็นฝีมือของ “โจรกระจอก” จึงส่งตำรวจปราบปราม ทำให้สถานการณ์ลุกลาม เกิดเหตุการณ์ร้ายแรง เช่น การล้อมปราบที่กรือเซะ และตากใบ

รัฐบาลจึงประกาศใช้ “พระราชกำหนด” หรือ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ใช้กำลังปราบปรามรุนแรง แต่ไม่สามารถดับไฟใต้ จึงต้องเปิดเจรจากับตัวแทนกลุ่มผู้ก่อความไม่สงบ โดยมีมาเลเซียเป็นผู้อำนวยความสะดวก แม้สถานการณ์จะยังไม่สงบ แต่ลดความรุนแรงลงไป แต่ทุกฝ่ายเชื่อว่าสันติวิธีเท่านั้นที่จะนำสู่สันติสุข

...

หวังว่าสถานการณ์จะไม่เป็นอย่างที่ สส.รอมฎอนสงสัย เป็นไบโพลาร์หรือเปล่า เพราะ “เดี๋ยวอยากคุย เดี๋ยวอยากปิดปาก” พ.ร.ก.ฉุกเฉินไม่ได้กระทบแค่ชายแดนภาคใต้ แต่ปิดปากคนทั้งประเทศ เมื่อรัฐบาลอำนาจนิยมประกาศใช้ทั่วประเทศ เพื่อควบคุมการระบาดของโควิด กลายเป็นกฎหมายสลายการชุมนุมทางการเมือง.

คลิกอ่านคอลัมน์ "บทบรรณาธิการ" เพิ่มเติม