การทุจริตคอร์รัปชันกลับมาเป็นข่าวอีกครั้ง นางเสาวณีย์ ไทยรุ่งโรจน์ ที่ปรึกษาสภามหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยผลการสำรวจความคิดเห็นของตัวอย่างทั่วประเทศ คนส่วนใหญ่ระบุว่าการทุจริตคอร์รัปชันเป็นปัญหาอันดับ 1 ของประเทศ ที่ต้องการให้แก้ไขมากที่สุด ตามด้วยการศึกษาและความเหลื่อมล้ำ
ต่างจากผลการสำรวจก่อนการเลือกตั้งเมื่อปี 2562 คนส่วนใหญ่มองว่าปัญหาสำคัญที่สุดของประเทศ คือปัญหาเศรษฐกิจ การคอร์รัปชันเป็นอันดับ 3 ผลการสำรวจครั้งล่าสุด กลุ่มประชาชน 95% มองว่านโยบายต่อต้านการคอร์รัปชันของพรรคการเมือง มีผลต่อการตัดสินใจลงคะแนน มีเพียง 5% ที่มองว่าไม่มีผล
เห็นได้ชัดว่าผลการสำรวจ ก่อนการเลือกตั้ง 2566 ต่างจากเมื่อหลายทศวรรษก่อน ที่บางครั้งพบว่าประชาชนส่วนใหญ่ไม่ถือว่าการคอร์รัปชันเป็นเรื่องใหญ่ รัฐบาลจะโกงกินบ้างก็ไม่เป็นไร ขอแต่เพียงแบ่งปันประชาชนบ้าง พูดอีก อย่างก็คือ “กินแบ่งอย่ากินรวบ” ในบางยุคบางสมัย การคอร์รัปชันจึงบานสะพรั่ง
การทุจริตคอร์รัปชันกลายเป็นวัฒนธรรมที่สืบทอดกันมาจากรุ่นสู่รุ่น ทั้งในวงราชการและการเมือง สาเหตุสำคัญอย่างหนึ่งคือ การซื้อขายตำแหน่ง การซื้อเสียงตั้งแต่ระดับล่างถึงระดับชาติ และทั้งในวงราชการ ข้าราชการต้องซื้อตำแหน่งเพื่อความก้าวหน้า นักการเมืองต้องซื้อเสียง เมื่อมีการลงทุนจึงถอนทุนเป็นธรรมดา
วัฒนธรรมการฉ้อราษฎร์บังหลวง ฝังรากลึกในหน่วยงานรัฐ ต้องจมปลักอยู่ในความมืด มองไม่เห็นแสงสว่าง แต่ประเทศไทยเคยมีความหวัง หลังประกาศใช้รัฐธรรมนูญ 2540 ที่ให้กำเนิดองค์กรอิสระมากมาย เพื่อตรวจสอบตั้งแต่การเข้าสู่อำนาจ การใช้อำนาจ และการรักษาอำนาจ แรกๆก็ได้ผลดี แต่กลายเป็นเสื่อม
สาเหตุสำคัญ เพราะอำนาจการเมืองเข้าแทรกแซง และครอบงำองค์กรอิสระ จนขาดความอิสระและความกล้าหาญในการปราบคอร์รัปชัน ส่วนรัฐธรรมนูญ 2560 ฉบับปัจจุบัน มีการโฆษณาชวนเชื่อ ในขณะที่รณรงค์เพื่อลงประชามติว่าเป็น “ฉบับปราบโกง” แต่กลายเป็นการส่งเสริมการคอร์รัปชันให้เฟื่องฟู
...
การปราบปรามและต่อต้านการคอร์รัปชัน ต้องเริ่มต้นด้วยการปลูกฝังค่านิยม เรื่องความซื่อสัตย์สุจริต ตั้งแต่ในครอบครัว ในโรงเรียน และมหาวิทยาลัย และจะต้องฟื้นฟูที่มาขององค์กรตรวจสอบต่างๆไม่ให้แทรกแซงและครอบงำด้วยอำนาจเถื่อน องค์กรตรวจสอบต้องมีที่มาที่เป็นอิสระ ไม่ถูกครอบงำด้วยอำนาจการเมือง.