ประเทศไทยนอกจากอาจมีพรรคมากที่สุด ยังอาจมีการร้องให้ยุบพรรคมากที่สุดในโลกด้วย เพราะเป็นวิธีการเอาชนะเลือกตั้ง โดยไม่ต้องออก แรงต่อสู้มาก เพียงแต่ใช้วิธี “เตะตัดขา” ร้องเรียนคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ขอให้ส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย ก็อาจยุบพรรคคู่แข่งได้

ล่าสุดได้แก่การที่นายศรีสุวรรณ จรรยา นักร้องเจ้าประจำ เลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย ยื่นเรื่องให้ กกต. ตรวจสอบกรณีที่มี “คนนอก” 3 คน ได้แก่ นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าคณะก้าวหน้า นายปิยบุตร แสงกนกกุล เลขาธิการคณะก้าวหน้า และ น.ส.พรรณิการ์ วานิช กรรมการคณะก้าวหน้า ทำการรณรงค์หาเสียงช่วยพรรคก้าวไกล เข้าข่ายความผิดยุบพรรคหรือไม่

นายศรีสุวรรณ อาจหมายถึง พ.ร.ป.พรรคการเมือง มาตรา 28 ที่ห้ามมิให้พรรคยินยอมให้บุคคลอื่น ซึ่งมิใช่สมาชิกพรรค กระทำการควบคุม ครอบงำ หรือชี้นำกิจกรรมของพรรค ในลักษณะที่ทำให้พรรคการเมือง หรือสมาชิกพรรค ขาดความเป็นอิสระ ถ้า กกต. เห็นว่าทั้ง 3 คน เป็น “คนนอก” จะยื่นยุบพรรคต่อ

นั่นก็คือยื่นต่อศาลรัฐธรรมนูญให้วินิจฉัย ความผิดยุบพรรคเป็นข้อกล่าวหายอดนิยม เมื่อเร็วๆนี้ กกต. ก็แก้ไขระเบียบใหม่ ให้สามารถยุบพรรคได้รวดเร็วที่สุด ทั้งๆที่อำนาจหน้าที่ที่สำคัญของ กกต. ไม่ใช่แค่การจ้องยุบพรรค

ถ้าตรวจดูอำนาจหน้าที่ของ กกต. ตามที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ จะเห็นได้ชัดว่าอำนาจหน้าที่ที่สำคัญที่สุด คือการควบคุมดูแลการเลือกตั้งให้เป็นไปโดยสุจริตและเที่ยงธรรม กกต. หรือผู้ร้องเรียนจึงน่าจะเน้นการตรวจ สอบการซื้อสิทธิขายเสียง การใช้อำนาจรัฐ หรือการใช้อิทธิพลคุกคามมากกว่ายุบพรรค

กฎหมายเลือกตั้งถือว่าการซื้อสิทธิขายเสียง การใช้อำนาจรัฐเอื้อการเลือกตั้ง และการใช้อิทธิพลคุกคาม เป็นความผิดที่ร้ายแรง ทำให้การเลือกตั้งไม่สุจริตและเที่ยงธรรมมากกว่า เช่น ซื้อเสียงต้องโทษจำคุกตั้งแต่ 1 ถึง 10 ปี เพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง 20 ปี ส่วนการให้คนนอกช่วยหาเสียงไม่น่าจะเป็นความผิด

...

เพราะประชาชนทุกคนมีสิทธิและเสรีภาพในการพูด การแสดงความคิดเห็นหรือการสนับสนุนพรรคใดพรรคหนึ่ง ประเทศประชาธิปไตยทั่วโลกต่างยึดหลักเสรีภาพ เรื่องที่บรรดานักร้องหรือ กกต. สนใจในขณะนี้ คือการติดตามการหาเสียงของพรรคต่างๆ มีการสัญญาจะใช้ภาษีซื้อเสียงหรือไม่.