มาผลักดันเอาตอนใกล้จะหมดอายุขัยรัฐบาลวงประชุม ครม.นัดล่าสุด ที่มี “บิ๊กตู่” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ เป็นประธาน ในช่วงท้ายๆวาระประชุม “บิ๊กป้อม” พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯ ในฐานะประธานการประชุมคณะกรรมการร่วมด้านเทคนิค (JTC) ไทย- กัมพูชา (ฝ่ายไทย)

หยิบยกเรื่องการพัฒนาพื้นที่ที่ไทยและกัมพูชาอ้างสิทธิในไหล่ทวีปทับซ้อนกัน (Overlapping Claims Area- OCA) รวมถึงการพิจารณาแต่งตั้งคณะทำงานว่าด้วยการแบ่งเขตทางทะเล และคณะทำงานเกี่ยวกับระบอบพัฒนาร่วม มาพิจารณาเป็นวาระลับ

รายงานผลหารือกับ นายซุย แซม รมว.เหมืองแร่และพลังงานกัมพูชา ประธาน JTC ฝ่ายกัมพูชา

ที่ทางกัมพูชายินดีร่วมมือกับไทย ผลักดันความร่วมมือพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษ เพื่อสำรวจแหล่งพลังงานน้ำมันและก๊าซ ในบริเวณพื้นที่ปิโตรเลียมทับซ้อนไทย-กัมพูชา (OCA)

ขณะที่ฝ่ายความมั่นคงไทยรายงานว่า ไม่มีการพูดถึงเงื่อนไขเรื่องเขตแดนที่ยังทับซ้อนกันอยู่ ยังตกลงกันไม่ได้ ถ้าคุยเรื่องเขตแดนจะไปต่อไม่ได้

โดยมี 4 เงื่อนไขสำคัญ คือ 1.รัฐบาลเห็นชอบร่วมกันและต้องประกาศใช้ ประชาชนเข้าใจ ไม่ขัดแย้งกันเอง

2.ต้องให้สภาฯให้ความเห็นชอบร่วมกันทั้ง 2 ประเทศ

3.ไม่ขัดต่อกฎหมายระหว่างประเทศ

4.ต้องใช้ประโยชน์ร่วมกัน เช่น แบ่งกันคนละครึ่ง

เรื่องนี้ นายพิชัย นริพทะพันธุ์ รองประธานยุทธศาสตร์พรรคเพื่อไทย ด้านเศรษฐกิจ อดีต รมว.พลังงาน เรียกร้องมาตลอด ให้รัฐบาลเร่งเจรจากับฝ่ายกัมพูชาให้จบ

พร้อมยก 8 เหตุผลมาประกอบไว้น่าสนใจ คือ

1.ก๊าซธรรมชาติจากแหล่งพื้นที่ทับซ้อนทางทะเล ไทย-กัมพูชา มีปริมาณมาก อาจมากกว่า หรือเท่ากับแหล่งเดิมในอ่าวไทย ที่ไทยใช้มาแล้วกว่า 30 ปี

...

2.ปริมาณก๊าซที่ได้จากอ่าวไทยและจากพม่าลดลง แต่เรานำเข้า LNG ที่มีราคาสูงกว่าแหล่งก๊าซทั้งสองแห่งนี้มาก หากเจรจากับกัมพูชาจบ เราจะมีต้นทุนพลังงานที่ถูกกว่า โดยไม่ต้องนำเข้าก๊าซเพิ่ม

3.เมื่อไทยผลิตไฟฟ้าได้ในราคาที่ถูกลง จะช่วยลดค่าใช้จ่ายประชาชน และเพิ่มความสามารถแข่งขันที่ปัจจุบันราคาค่าไฟฟ้าในไทยแพงกว่าเวียดนามมาก ทั้งที่เวียดนามมีปริมาณไฟฟ้าสำรองน้อยกว่าไทยมาก

4.อนาคตการใช้พลังงานจากฟอสซิล ทั้งก๊าซ น้ำมัน และถ่านหิน จะลดลงตามเทรนด์ของโลก ต่อไปอาจไม่มีราคาเลยก็เป็นได้

5.ก๊าซธรรมชาติในพื้นที่ทับซ้อนเป็นก๊าซเปียก (Wet Gas) นำมาเข้าโรงแยกก๊าซ นำไปทำธุรกิจปิโตรเคมีได้ ไทยมีโรงแยกก๊าซอยู่ 6 โรง มีอุตสาหกรรมปิโตรเคมีขนาดใหญ่รองรับอยู่แล้ว จะสร้างมูลค่าเพิ่มได้ 6-20 เท่า

6.รัฐยังได้ค่าภาคหลวงมาแบ่งกันระหว่างไทย-กัมพูชา และรายได้จากภาษีเข้ารัฐมหาศาล

7.ค่าภาคหลวงที่จะได้รับน่าจะได้ในอัตราส่วนที่มากกว่าเดิม

8.การสำรวจและขุดเจาะต้องใช้เวลาอย่างน้อย 2-8 ปี จึงควรเร่งเจรจาให้จบตั้งแต่ตอนนี้

ท่ามกลางวิกฤติพลังงาน รัฐบาลควรมีแนวทางทั้งระยะสั้นและระยะยาว

ช่วยประชาชนและยังพัฒนาประเทศไปด้วย.

เพลิงสุริยะ