ไทยสมกับเป็นดินแดนที่มีการทุจริตรุ่งเรืองเฟื่องฟู มีคดีทุจริตคอร์รัปชันใหญ่ๆส่งท้ายปีเก่า 2565 ถึง 2 คดี และต้องยืดเยื้อต่อไปตลอดปีใหม่ 2566 แน่นอน นั่นคือคดี “ตู้ห่าว” ที่บานปลายเป็นคดีที่ตำรวจถูกกล่าวหา ทำให้นายชูวิทย์ กมลวิศิษฎ์ สามารถขุดคุ้ยนำหลักฐานใหม่ๆ มาตีแสกหน้าเจ้าหน้าที่รัฐไทยได้แทบจะทุกวัน

คดีที่สอง กรณีที่เจ้าหน้าที่ฝ่ายปราบปรามและตำรวจบุกเข้าจับกุมอธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช พร้อมด้วยเงินสดกว่า 5 ล้านบาท ที่ซุกไว้ ในห้องทำงาน เจ้าหน้าที่ระบุว่าเป็นเงินซื้อขายตำแหน่ง เป็น “ส่วย” ที่เรียกเก็บจากผู้ใต้บังคับบัญชาคนละ 2 ถึง 5 แสน เพื่อรักษาเก้าอี้ไม่ให้ถูกย้ายสู่ถิ่นกันดาร

หรือมิฉะนั้น ก็อาจเป็นเงินซื้อตำแหน่งผู้อำนวยการอุทยาน ที่สามารถหารายได้โดยมิชอบได้ ส่วนใหญ่เป็นอุทยานทางทะเลที่มีนักท่องเที่ยวมากๆ คดีนี้ทำให้ประชาชนสงสัยมีการทุจริตในหน่วยงานที่มีอำนาจหน้าที่ในการพิทักษ์ทรัพยากรธรรมชาติได้อย่างไร เพราะไม่น่าจะมีโครงการก่อสร้างใหญ่ๆที่อาจมีค่าหัวคิวมหาศาล

เกี่ยวกับคดีนี้ นายวราวุธ ศิลปอาชา รมว.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) ชี้แจงว่า ทส.ปฏิเสธความรับผิดชอบไม่ได้ จะต้องสอบสวนข้อเท็จจริงจาก ผอ.อุทยานทั้งหมด 16 คน ที่กลายเป็นข่าวถูกนายรีดไถเงินและต้องดำเนินการทางวินัย แต่โทษทางวินัยอย่างเดียวอาจไม่ตรงกับเจ้าหน้าที่ผู้จับกุม

เจ้าหน้าที่ผู้ร่วมกันจับกุม ชี้แจงว่าจะตั้งข้อหาอธิบดี ฐานเป็นเจ้าพนักงานเรียกรับสินบน นั่นก็คือเป็นความผิดตาม ป.อาญามาตรา 149 ซึ่งต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 5 ปีถึง 10 ปี หรือจำคุกตลอดชีวิต หรือประหารชีวิต “ผู้ให้” คือลูกน้องใต้บังคับบัญชาอาจถูกดำเนินคดีข้อหาติดสินบนเจ้าพนักงานด้วย

...

การทุจริตที่เฟื่องฟูอยู่ในขณะนี้ ไม่ได้มีเฉพาะในวงการราชการ แต่ลามไปถึงวงการเมือง เช่น กรณีที่มีการกล่าวหา บางพรรคการเมือง “ดูด” ส.ส.จากพรรคอื่นเข้าของตน หรือกล่าวหาว่าพรรคการเมืองบางพรรคต้องแจก “กล้วย” ให้ ส.ส.พรรคอื่น เพื่อให้ลงมติสนับสนุนรัฐบาลเข้าข่ายความผิดมาตรา 149 หรือไม่?

แต่ไม่มีใครสนใจที่จะตรวจสอบพรรคการเมืองที่ชอบแจกกล้วย หรือที่ชอบดูด ส.ส.พรรคอื่นก็ไม่สะทกสะท้าน ส.ส.ที่ถูกดูดเข้าพรรค หรือ ส.ส.ที่ถูกแจกกล้วยก็ไม่สะทกสะท้าน อาจถือเป็นเรื่องปกติของการเมืองในยุคประชาธิปไตยครึ่งใบ แม้ จะมีบทลงโทษสูงสุดถึงประหารชีวิต ก็ไม่ สะทกสะท้าน เพราะกฎหมายไม่ศักดิ์สิทธิ์จริง.