สมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) หลายคน วิจารณ์การขอแก้ไขรัฐธรรมนูญ 2 ประเด็นสำคัญที่เสนอโดยพรรคเพื่อไทย ได้แก่ มาตรา 159 ให้นายกรัฐมนตรีมาจาก ส.ส. และได้รับความเห็นชอบจากสภาผู้แทนราษฎร ประเด็นที่สองแก้ไขมาตรา 272 ตัดอำนาจ ส.ว.ในการเลือกนายกรัฐมนตรีเพื่อสืบทอดอำนาจรัฐประหาร

ส.ว.บางคนฟันธงว่าถ้าเสนอตัดอำนาจ ส.ว. ร่างแก้ไขก็ต้องตกไปเพราะ ส.ว.ไม่ให้ผ่าน ส.ว.อีกคนหนึ่งคือนายวันชัย สอนศิริ ไม่ได้วิจารณ์การแก้ไขรัฐธรรมนูญ แต่วิจารณ์ ส.ส.ฝ่ายค้าน ชอบพูดถึง ส.ว.ในทางร้าย เป็นอุปสรรคขวากหนามประชาธิปไตย บางพรรคหวังเอา ส.ว.ตอนโหวตนายกฯ เสร็จแล้วจะให้ค่าหรือไม่

ส.ว.อีกท่านหนึ่งคือ นายมณเฑียร บุญตัน บอกว่ายังไม่เห็นร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ ใหม่ แต่ครั้งที่แล้วตนโหวตตัดอำนาจ ส.ว.ในการเลือกนายกฯ และลงมติสนับสนุนการแก้ไขรัฐธรรมนูญทุกฉบับ ส.ว.จะเลือกนายกฯอย่างไรก็ตาม แต่ตนจะไม่ทำหน้าที่ตาม ม.272 คือจะงดออกเสียง เพื่อไม่ให้วุฒิสภาถูกประณามมากไปกว่านี้

สะท้อนถึงจิตสำนึก และความรับผิดชอบต่อหน้าที่ แม้ ส.ว.จะไม่ได้มาจากการเลือกตั้งของประชาชน แต่ก็ต้องรับผิดชอบต่อประเทศชาติ และประชาชนต้องปฏิบัติหน้าที่ให้ถูกต้องตามหลักการประชาธิปไตย และตามรัฐธรรมนูญที่ว่า “ประเทศไทยมีการปกครองระบอบประชา ธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข”

ถามว่าถ้า ส.ว.ที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง เลือกนายกรัฐมนตรีจะถูกต้องหรือขัดต่อหลักการประชาธิปไตย ขอให้ดูประเทศประชาธิปไตยเป็นตัวอย่าง อังกฤษมีสมาชิกสภาขุนนางที่ไม่ได้มาจากเลือกตั้ง ไม่มีสิทธิเลือกนายกรัฐมนตรี เป็นอำนาจของ ส.ส.ฝ่ายเดียว ส่วน ส.ว.อเมริกันมีสิทธิเลือกรัฐมนตรี ผู้พิพากษา ฯลฯ เพราะเป็น ส.ว.เลือกตั้ง

บทถาวรของรัฐธรรมนูญ 2560 ให้มี ส.ว.เพียง 200 คน มาจากการเลือกกันเองของกลุ่มผู้เชี่ยวชาญอาชีพต่างๆ แต่ไม่มีสิทธิเลือกนายกฯ แต่บทเฉพาะกาลเพิ่ม ส.ว.เป็น 250 คน และมีสิทธิเลือกนายกฯ เห็นได้ชัดว่าเพิ่มขึ้นทั้งจำนวน ส.ว. และอำนาจ วัตถุประสงค์สำคัญ คือสืบทอดอำนาจ คณะรัฐประหาร

...

ขณะที่การเลือกตั้งใกล้เข้ามา เหลือเพียงไม่กี่เดือนข้างหน้า ทุกพรรคต่างเตรียมพร้อมเพื่อการเลือกตั้ง รวมทั้ง “กลุ่ม 3 ป.” มีเสียงซุบซิบกันว่าอาจมีการแบ่ง ส.ว.ให้ ป.ผู้พี่ และ ป.ผู้น้อง คนละเท่าไหร่ เพื่อวัตถุประสงค์สำคัญคือการเลือกนายกฯ ที่อาจไม่เป็นเอกภาพเหมือนครั้งก่อน หวังว่า ส.ว.ทุกท่านจะไม่ลืมคำเตือนของ ส.ว. มณเฑียร.