ข่าว “เขย่าขวด” สุดสัปดาห์นี้ การเมืองเข้าสู่โหมดเลือกตั้ง ไม่ว่าจะเป็นบรรดาพรรคการเมืองต่างๆ ที่เริ่มออกหาเสียงชิงพื้นที่ในจังหวัดต่างๆ
ยังมีการออกจากพรรค หนึ่งไปสู่อีกพรรคหนึ่งตามที่ต้องการที่ย้ำหัวตะปูอีกดอกคือ การที่ กกต. ออกระเบียบให้รัฐบาลรักษาการไปดำเนินการให้ถูกต้องเพื่อให้เกิดความทัดเทียมกัน
พูดง่ายๆคือไม่เอารัดเอาเปรียบกัน
ด้วยองค์ประกอบเหล่านี้จึงเป็นบรรยากาศที่พอจะนำมาประมวลได้ว่า การเลือกตั้งกำลังจะเกิดขึ้นไม่ช้าไม่นานนี้
เผอิญที่ว่าความเคลื่อนไหวต่างๆ ที่เกิดขึ้นนั้นไปสอดคล้องกับการเมืองที่เป็นจริงที่กำลังจะมีการชี้ขาด กรณีวาระการอยู่ในตำแหน่ง 8 ปี ของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ พอดิบพอดี
ก็เลยมีการชี้เป้าไปที่ “ยุบสภา” เพื่อเป็นทางออก
แต่ประเด็นนี้ได้รับการปฏิเสธจาก พล.อ.ประยุทธ์ ผ่านทางโฆษกรัฐบาลว่าไม่มีการ “ยุบสภา” อย่างเด็ดขาด
รอฟังศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย... เท่านั้น
นั่นทำให้ฝ่ายที่ไม่ชอบ พล.อ.ประยุทธ์ ผิดหวังไปตามๆ กัน เนื่องจากไม่สมปรารถนา เพราะหากยุบสภาก็ต้องพ้นจากตำแหน่งไปโดยปริยาย
สุดท้ายก็ต้องหันมากดดันศาลรัฐธรรมนูญ เพื่อให้ตีความออกมาว่า “บิ๊กตู่” อยู่ในตำแหน่งครบ 8 ปีแล้ว
เพราะจะให้ “ลาออก” ไม่มีทางเป็นไปได้อยู่แล้ว
แนวทางการพิจารณาของศาลรัฐ ธรรมนูญเท่าที่สดับตรับฟังมานั้นมีอยู่ 2 ประเด็นใหญ่ๆที่จะชี้ว่าอยู่ในตำแหน่งแล้วกี่ปี
1.ก่อน–หลังรัฐธรรมนูญปี 60 ประกาศใช้
2.เป็นนายกฯ มีที่มาในลักษณะไหน
เนื่องจาก พล.อ.ประยุทธ์ แม้จะอยู่ในตำแหน่งครบ 8 ปีแล้วก็ตาม แต่การได้มานั้นมีอยู่ 2 ส่วนคือ จากความเป็นหัวหน้า คสช. ในระยะแรก และมาจากการโหวตของสภาตามรัฐธรรมนูญปี 50
...
หากนับจากการโหวตของสภาก็ยังไม่ครบ 8 ปี
ฝ่ายที่เห็นว่าครบ 8 ปีแล้ว ในวันที่ 24 ส.ค.65 นั้น นับจากการดำรงตำแหน่งนายกฯตั้งแต่เริ่มต้นจนถึงปัจจุบันก็ครบ 8 ปีแล้ว
ยึดโยงว่าเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญระบุว่า เมื่ออยู่ในตำแหน่งครบ 8 ปี ไม่ว่าจะมาจากส่วนไหนก็ตาม
ถือว่าอยู่ครบ 8 ปีแล้ว...
เพราะรัฐธรรมนูญไม่ได้ระบุว่าเป็นนายกฯจากรัฐธรรมนูญฉบับไหนแต่เมื่อเป็นนายกฯมาแล้วครบปีก็ต้องเป็นไปตามนั้น
ไม่มีทางเป็นอื่นไปได้...
แน่นอนว่าสถานการณ์ต่างๆที่เกิดขึ้นในขณะนี้ย่อมเป็นแรงกดดันต่อศาลรัฐธรรมนูญที่หนักหนาไม่น้อย
แต่เมื่อมีภารกิจที่จะต้องวินิจฉัย เพื่อแก้ไขปัญหาก็ต้องทำหน้าที่ให้ดีที่สุดด้วยเหตุด้วยผลและข้อกฎหมาย
คำตอบที่ออกมาจึงต้องชี้แจงให้ชัดเจน
พูดง่ายๆว่า เป็นเหตุผลที่น่าเชื่อถือและอ้างอิงได้
ต้องไม่ลืมว่าผลการตัดสินที่จะออกมาท่ามกลางความขัดแย้งระหว่างมวลชน 2 ฝ่าย ไม่ว่าผลจะออกมาด้านไหน
ก็ต้องมีฝ่ายที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วย
จึงมีความจำเป็นที่จะต้องมีคำชี้แจงที่ออกมาแล้วเป็นเหตุเป็นผล สามารถรับฟังได้ ซึ่งหลายกรณีศาลรัฐธรรมนูญเคยมีประสบการณ์มาแล้ว
สุดท้ายทุกอย่างก็ผ่านไปได้ด้วยดี!
“ลิขิต จงสกุล”