เหตุผลทางกฎหมายของแต่ละฝ่ายในกรณีการ พ้นจากการเป็นนายกฯของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หลังจากดำรงตำแหน่งมาจะครบ 8 ปี ในวันที่ 23 ส.ค.นี้ มีความเห็นเป็นสองฝ่าย คือต้องหลุดจากตำแหน่งทันทีเวลาเที่ยงคืนของวันที่ 23 ส.ค.ไม่ต้องไปรอศาลรัฐธรรมนูญตีความ หรือ สามารถจะเป็นนายกฯไปได้จนถึงปี 2568 หรือ 2570 แล้วแต่กรณี เถียงกันไปก็ไม่จบ จะไปจบที่ศาล ส่วนหลังจากศาลวินิจฉัยแล้วจะจบหรือไม่จบก็เป็นอีกเรื่อง เนื่องจากประเด็นนี้เป็นเรื่องของ นิติศาสตร์และรัฐศาสตร์ เกี่ยวเนื่องกัน
ยกตัวอย่างฝั่ง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา คือ คุณพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค หัวหน้าพรรครวมไทยสร้างชาติ ที่ปรึกษานายกฯ โพสต์ข้อความบอกว่า เบื่อหน่ายมากกับเกมการเมือง ไร้สาระ เรื่องวาระ 8 ปีของนายกฯและเรื่องหาร 100 หาร 500 อ้างว่าชาวบ้านจะเป็นจะตายกับเรื่องของสภาพปากท้องและความไม่เป็นธรรมแต่นักการเมืองในสภาไม่สนใจที่จะเสนอกฎหมายหาทางออกให้ประชาชน คุณพีระพันธุ์ มองว่าเรื่องนายกฯ 8 ปี เป็นเรื่องไร้สาระไปฉิบ นอกจากนี้ยังมองว่า พรรคการเมืองหลัก พรรคการเมืองรอง แปรสภาพเป็นนักกีฬา มาเล่นเกม หัวหน้าทีมมีความสุขกับการสร้างความยิ่งใหญ่ให้กับตัวเอง และการยกยอปอปั้นจากบรรดาคนรอบข้าง ติดว่าการเมืองมีเพียงแต่ เงิน และ อำนาจ ที่เลวร้ายคือการใช้บ้านเมืองเป็นสนามเล่นเกม ซึ่งจะตีความเป็นใครไปไม่ได้นอกจาก ลุง และตบท้ายว่าเรื่องนี้เป็นความไม่ชัดเจนของการเขียนรัฐธรรมนูญ สุดท้ายจะต้องไปจบที่ศาลรัฐธรรมนูญ
ก็เผอิญว่ามีเอกสารหลุดมาจากบันทึกการประชุมของ คณะกรรมาธิการร่างรัฐธรรมนูญ ชุดของ คุณมีชัย ฤชุพันธุ์ ตั้งแต่วันที่ 7 ก.ย.2561 สรุปความการนับวาระดำรงตำแหน่งของนายกฯ ให้นับรวมวาระที่อยู่ปฏิบัติหน้าที่ก่อนที่รัฐธรรมนูญปี 2560 ใช้บังคับด้วย มีสาระสำคัญว่าการกำหนดหลักการใหม่ เพื่อให้เกิดความชัดเจน เกี่ยวกับการนับระยะเวลาการดำรงตำแหน่งนายกฯ แม้จะไม่ติดต่อกันก็ตาม แต่หากระยะเวลาทั้งหมดที่ดำรงตำแหน่งนายกฯเกิน 8 ปี ต้องห้าม ไม่ให้ดำรงตำแหน่งนายกฯ การกำหนดระยะเวลา 8 ปีไว้ ก็เพื่อไม่ให้เกิดการผูกขาดทางอำนาจทางการเมืองในระยะยาวนานเกินไป อันจะเป็นต้นเหตุวิกฤติทางการเมืองได้
...
เจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญชัดเสียยิ่งกว่าชัด
เพราะฉะนั้น จึงไม่มีข้ออ้างทั้งเรื่องของความแตกต่างระหว่าง บันทึกการประชุม กับ กฎหมายรัฐธรรมนูญ เนื่องจากบันทึกการประชุมมองเห็นว่าจะเกิดเหตุความวุ่นวายเป็นชนวนวิกฤติการเมือง จึงหาวิธีดับไฟเสียตั้งแต่ต้นเหตุ ไม่ต้องรอให้ ศาลรัฐธรรมนูญ มีคำวินิจฉัยชี้ขาดออกมาก่อน
วิกฤติประเทศจนนำไปสู่การยึดอำนาจก็เริ่มต้นจากกระบวนการยุติธรรมเป็นเหตุ
มีนักวิชาการหลายคนที่ออกมาพูดทำนองนี้ ไม่ว่าจะเป็นนักวิชาการด้านกฎหมาย เจษฎ์ โทณะวณิก ที่เป็นอดีตกรรมการยกร่างรัฐธรรมนูญอยู่ด้วยที่อยากให้ นายกฯไปพักร้อน ก่อนจะนำไปสู่การตีความจนกลายเป็นความขัดแย้งของบ้านเมือง และที่เหนือกว่ากฎหมายคือความสำนึกในจริยธรรมทางการเมือง.
หมัดเหล็ก
mudlek@thairath.co.th