การประชุมรัฐสภาในวันสุดท้าย เพื่อพิจารณาร่าง พ.ร.ป.การเลือกตั้ง ส.ส.ที่ล่มลงอีกครั้ง เท่ากับเป็นการลงมติไม่ไว้วางใจ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ของเสียงข้างมากของสองสภา แต่จะมีผลกระทบต่อการเมืองมากน้อยแค่ไหน จะเกิดแตกแยกภายในพรรคแกนนำและพรรคร่วมรัฐบาลหรือไม่

เป็นผลสืบเนื่องมาจากระบบรัฐสภาที่พิกลพิการ ไม่ได้ยึดหลักการระบบรัฐสภาของประเทศประชาธิปไตยที่พัฒนาทั่วโลก ที่ให้นายกรัฐมนตรีต้องเป็น ส.ส.และเป็นผู้นำพรรคเสียงข้างมาก เนื่องจากรัฐบาลระบบรัฐสภาจะตั้งขึ้นได้โดยเสียงข้างมากในสภา แต่นายกรัฐมนตรีไทย ไม่ได้เป็นแม้แต่สมาชิกพรรคใด

เป็นผลิตผลของระบบการเลือกตั้ง ที่เปิดช่องอ้าซ่าให้เกิดพรรคการเมืองขึ้นเกือบ 80 พรรค และได้รับเลือกตั้งเป็น ส.ส.ถึง 26 พรรค น่าจะมากที่สุดในโลก จำนวน ส.ส.กลายเป็นเบี้ยหัวแตก จึงต้องตั้งรัฐบาลผสมร้อยพ่อพันแม่ แต่ไม่มีเสียงข้างมากที่มั่นคงยั่งยืน เพราะพรรคส่วนใหญ่มี ส.ส.เพียงพรรคละคนสองคน

มีการเปิดโปงโดยบุคคลที่อยู่ในวงการ ระบุว่ามีการ “แจกกล้วย” ให้เงินเดือน ส.ส.พรรคเล็กพรรคน้อยบางคน เดือนละ 1 แสนบาท ทำให้รัฐบาลที่ง่อนแง่นสามารถประคองตัวอยู่ได้ แต่เสี่ยงต่อการถูกกล่าวหา กระทำผิด ป.อาญามาตรา 149 ห้าม ส.ส.เรียก รับ หรือยอมจะรับผลประโยชน์ เพื่อแลกกับการกระทำบางอย่าง

เป็นความผิดทางอาญาร้ายแรง มีโทษจำคุกตั้งแต่ 5 ปี ถึง 20 ปี หรือจำคุกตลอดชีวิต หรือประหารชีวิต ไม่ใช่ เรื่องเล่นๆ แม้แต่ “ผู้ให้” สินบน ส.ส.ก็อาจเข้าข่ายความผิด ป.อาญามาตรา 244 ห้ามผู้ใดให้เงิน ส.ส. เพื่อจูงใจให้กระทำการหรือไม่กระทำการใด แม้แต่ผู้มีอำนาจก็ไม่มีอำนาจออก “ใบสั่ง” ส.ส.

ถ้าหากผู้มีอำนาจเป็น “คนนอก” ไม่ใช่สมาชิกพรรค จะกลายเป็นผู้ต้องห้าม ไม่ให้ “จุ้น” หรือเข้าควบคุม ครอบงำ หรือชี้นำกิจกรรมพรรค มีโทษจำคุกตั้งแต่ 5 ปี ถึง 10 ปี ส่วนพรรคที่ยอมให้ “คนนอกครอบงำ” หรือชี้นำ อาจถูกยุบ เห็นได้ชัดว่าพรรคการเมืองในระบบรัฐสภาต้องมีระเบียบวินัยอย่างเคร่งครัด

...

มิฉะนั้นอาจถูกกล่าวหาโทษทางอาญา หรือร้องให้ยุบพรรค จึงจะเป็นระบบพรรคที่เข้มแข็ง ตั้งรัฐบาลที่เข้มแข็ง สามารถบริหารประเทศตามนโยบาย หรือ คำสัญญาต่อประชาชน มิฉะนั้นก็จะเป็นแค่สัญญาลมๆแล้งๆ เช่น สัญญาว่าจะ ทำให้แผ่นดินหรือประเทศดีขึ้นในไม่ช้า แต่ 8 ปีแล้ว ไม่ได้คืนความสุขให้ประชาชน.