ในหนังสือ “วัฒนธรรมบันเทิงในชาติไทย พ.ศ.2491-2500” (สำนักพิมพ์มติชน พ.ศ.2550) งานวิจัยภัทรวดี ภูชฎาภิรมย์ ผมเลือกอ่านเรื่องลิเก ทบทวนความหลังครั้งที่แอบฟังจากวิทยุเถ้าแก่โป๊ะข้างบ้าน

ลิเกเป็นที่นิยมตั้งแต่ปี 2471 ถึงปี 2491 รัฐบาลเริ่มจัดประกวดลิเกทางวิทยุ ชิงถ้วยทองคำหนัก 5 บาท แถมประกาศนียบัตรจากนายกฯสองครั้ง ครั้งแรกปี 2494 ครั้งที่ 2 ปี 2500

เป้าหมาย “ทันสมัย” และ “คุณภาพ” ตามคำนิยามของรัฐบาล จอมพล ป. สนุก มีคติเตือนใจ มีศีลธรรม วัฒนธรรม วีรธรรม ให้มีความรักชาติบ้านเมือง

พวกลิเกรู้ “วีรธรรม” และ “ความรักชาติ” นั้น เน้นที่การต่อต้านคอมมิวนิสต์

จะเป็นเพราะรางวัลหรือเพราะเป้าหมายต้านคอมมิวนิสต์ก็ไม่แน่ ทำให้ลิเกเป็นที่นิยมแพร่หลายในหมู่ชาวบ้าน แม้จะถูกทักว่า ทำให้ลิเกขาดความสนุกลงไปบ้าง

ลิเกหลายคณะที่มีชื่อเสียง ฉลาด เค้ามูลคดี, หอมหวล, สุชิน เทวะผลิน เรื่องที่ถูกใจรัฐบาล คนขายชาติ คณะสราญรมย์ ไทยต้องเป็นไทย ของคณะวิทิตบันเทิง รักชาติยิ่งชีพ คณะ ส.เกตุทอง ผู้กู้อิสรภาพ คณะศรีสว่างศิลป์

เรื่องนเรศวรตัดสินพระทัย ของคณะสิวาลัย เนื้อหาพระนเรศวรตัดสินใจทิ้งคนรักมากู้อิสรภาพให้บ้านเมือง โด่งดังเป็นที่กล่าวขวัญถึงกันมาก

ตัวอย่าง ลิเกเริ่มปลูกฝังความรักชาติกันตั้งแต่การออกแขก

แขก (ร้อง) เฮ่ เฮ้ เฮ เฮ้...วันนี้สิวาลัย มาผ่อนฤทัยให้ท่านเปรมปรีดิ์ รักชาติศาสน์กษัตริย์อีกธรรมนูญรัฐเอาไว้ด้วยดี พลีชีพเพื่อ ชาติประเทศ สงวนขอบเขตของชาติเรานี้ ศัตรูจะต้องพินาศ ไม่กล้าสามารถเข้ามาย่ำยี

(ลง) ฮะ เร้ วังก้า เราชาวประชา ล้วนสามัคคี คุณภัทรวดี ผู้ทำวิจัย ให้ข้อสังเกตความสำเร็จของนโยบายต่อต้านคอมมิวนิสต์ของลิเก ไม่เพียงทำให้ชาวบ้านที่ไม่เคยรู้จักคอมมิวนิสต์ได้รู้จักคอมมิวนิสต์กว้างขวางยิ่งขึ้น ลิเกวิทยุก็ได้รับความนิยมแพร่หลายกว่าเดิม

...

ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช เขียนกลอนไว้ ผู้วิจัยบอกชื่อพลาดิสัย สิทธิธัญกิจ รวบรวม ไม่ระบุตีพิมพ์ในสื่อเครือสยามรัฐ ฉบับไหน...ลองอ่านกันดู

แต่เช้ามืดไม่ทันตะวันโด่ง ก็ออกแขกโหมโรงแต่ก่อนไก่ หลังจับเรื่องร้อยเฉื่อยเล่นเรื่อยไป พระเอกส่งเสียงใสไปทุกทิศ ประชาชนได้แต่นั่งฟังยี่เก จนชักเขวสับสนวิกลจริต บ้างก็ทำท่าจะยอมคอมมิวนิสต์ บ้างก็ฟิตก็ตึงตังนั่งขบฟัน แม้แต่ตัวคอมมิวนิสต์จิตไขว้เขว พอได้ฟังยี่เกก็นึกพรั่น ไม่รู้ว่าท่านจะมาท่าไหนกัน ไหงต่อต้านแบบนั้นดูชอบกล

เนื้อหากลอนของอาจารย์หม่อมท่าน...ดูจะยังยั้งมือไว้ไมตรี ไม่ตอบโต้แบบโกรธขึ้งตึงตัง อาจารย์ท่านอาจกลัวเจอข้อคอมมิวนิสต์ไปด้วยล่ะกระมัง

เพราะถ้าเทียบกับประโยคของฝ่ายซ้าย ปลุกผีคอมมิวนิสต์ กลอนของอาจารย์ แค่สะกิดสะเกา

ตอนผมเรียน ป.4 อายุ 11-12 ราว พ.ศ.2500 เคยดูลิเกดัง ที่วัดธรรมนิมิต หลังโรงพยาบาลแม่กลอง...คณะบุญสม ณ อยุธยา จำได้แต่ว่าเขาเล่นเขาร้องเขารำได้นิ่มนวลดี

มารู้ต่อมาหัวหน้าคณะแปลงร่างเป็นนักร้อง ร้องเพลง บัวตูมบัวบาน เพลงดาวลูกไก่ ฯลฯ ดังมาก รู้จักกันในชื่อพร ภิรมย์

เพิ่งมารู้ตอนนี้ เป็นลิเกต้านคอมมิวนิสต์มือระดับรางวัลถ้วยทอง

ผมเพ่งสายตาอ่านเรื่องลิเกการเมือง ตั้งใจให้นายกฯประยุทธ์ท่านอ่าน...วัฒนธรรมบันเทิงของไทยมีมากมาย ลิเก โขน หนัง ฯลฯ ไปถึงละคร ผู้นำรุ่นเก่าๆหรือรุ่นใหม่ อย่างเกาหลี เขาเอามาใช้ช่วยเศรษฐกิจบ้านเมือง

สมัยจอมพล ป.ไม่แค่ใช้ลิเกต้านคอมมิวนิสต์เท่านั้น ละครท่านก็เอาไปใช้ปลุกใจให้รักชาติ ละครเรื่องอานุภาพพ่อขุนรามคำแหง เขาลือกันถึงวันนี้ ใครไปดูแล้วรักชาติจนน้ำตาไหลได้ทั่วทุกตัวคน.

กิเลน ประลองเชิง