ในที่สุดก็ได้ฤกษ์งามยามดี นายศรีสุวรรณ จรรยา เลขาธิการสมาคมองค์กร พิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย ยื่นเรื่องต่อ กกต.และผู้ตรวจการแผ่นดิน ให้ร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญ เพื่อวินิจฉัยว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่อยู่ในตำแหน่งครบ 8 ปี ในวันที่ 23 สิงหาคม จะถูกห้ามดำรงตำแหน่งต่อตามรัฐธรรมนูญหรือไม่

ขณะเดียวกัน พรรคร่วมฝ่ายค้าน ซึ่งมีพรรคเพื่อไทยเป็นแกนนำ ก็เตรียมยื่นเรื่องต่อประธานรัฐสภา เพื่อให้เสนอให้ศาลรัฐธรรมนูญตัดสินปัญหาเดียวกัน ในวันที่ 16 สิงหาคม ขณะที่นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ชี้แจ้งว่าไม่มีใครพูดว่ากังวล แต่ไม่ใช่มีความเชื่อมั่น เรื่องนี้อาจเป็นปัญหาข้อกฎหมาย

รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายกฎหมาย กล่าวว่าถ้ามันไม่ถูกเพราะนับวันเข้ารับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีตั้งแต่ปี 2557 ก็ให้เป็นไปตามนั้น พูดอีกอย่างก็คือถ้าตีความกฎหมายอย่างตรงไปตรงมา ไม่มีเจตนารมณ์ศรีธนญชัยแอบแฝง ไม่ต้องการสืบทอดอำนาจอย่างไม่รู้จบ ครบ 8 ปีแล้วก็ยังไม่ยอมรับ ถ้ายอมรับทุกอย่างจะไม่มีปัญหา

เกี่ยวกับปัญหานี้ มีรัฐธรรมนูญเกี่ยวข้องอยู่ 3 มาตรา มาตรา 158 วรรคสี่ ระบุว่านายกรัฐมนตรีจะดำรงตำแหน่ง รวมกันแล้วเกิน 8 ปีไม่ได้ ไม่ว่าจะดำรงตำแหน่งติดต่อกันหรือไม่ และยังมีมาตรา 264 ขยายความอีกต่อว่า ให้คณะรัฐมนตรีที่บริหารประเทศ มาก่อนประกาศใช้รัฐธรรมนูญ 2560 เป็น ครม.ต่อไป

เห็นได้ชัดว่ารัฐธรรมนูญ 2 ฉบับ อันได้แก่ฉบับชั่วคราว 2557 และฉบับ 2560 ต่างยอมรับว่า พล.อ.ประยุทธ์ เป็นนายกฯติดต่อกันมา ตั้งแต่วันที่ 23 สิงหาคม 2557 จนถึงปัจจุบันจะครบ 8 ปี ในวันที่ 23 สิงหาคมนี้ และยังมีรัฐธรรมนูญมาตรา 170 ระบุถึงเหตุที่ความเป็นรัฐมนตรีของนายกรัฐมนตรีสิ้นสุดลงเฉพาะตัว

มาตรา 170 ระบุถึงเหตุที่ทำให้ความเป็นรัฐมนตรีสิ้นสุดลงเฉพาะตัวไว้หลายประการ เช่นตาย ลาออก และสภา ผู้แทนราษฎรมีมติไม่ไว้วางใจ และยังระบุด้วยว่านอกจากเหตุต่างๆข้างต้นแล้ว “ความเป็นรัฐมนตรีของนายกรัฐมนตรี สิ้นสุดลงเมื่อครบกำหนดเวลา ตามมาตรา 158 วรรคสี่ด้วย”

...

ไม่ต้องให้ศาลใดๆตีความ คนทั่วไปก็อาจรู้ได้ว่านายกฯพ้นตำแหน่ง ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 170 เพราะถึงแก่ อสัญกรรม ลาออก หรือสภาผู้แทนราษฎรลงมติไม่ไว้วางใจ รวมทั้งความเห็นรัฐมนตรี ของนายกฯสิ้นสุดลง “เมื่อครบกำหนดเวลาตามมาตรา 158 วรรคสี่” จะไม่มีปัญหาใดๆถ้าตีความตรงไปตรงมา.