ผมเขียนวิเคราะห์การเมืองไทยในฉบับเช้าวันจันทร์ที่ 14 มิ.ย. ฟันธงล่วงหน้าว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา จะเป็นนายกฯไปจนครบเทอม 4 ปี ไม่มีการยุบสภา ไม่มีการลาออก และจะเป็นนายกฯอีกสมัยในการเลือกตั้ง 2 ปีข้างหน้าอีก 4 ปี รวม 6 ปี ใครไม่ชอบก็ทำใจไว้ก็แล้วกัน หลังจากที่มีนักวิชาการออกมาวิเคราะห์ จะมีการยุบสภากลางปีหน้าและหลังเที่ยงวันจันทร์ที่ 14 มิ.ย. พล.อ.ประยุทธ์ ก็ไปประกาศในวุฒิสภาเสียงดังฟังชัดว่า “ผมยืนยันอยู่จนครบ จะได้เลิกพูดเสียที” แล้วก็ตั้งคำถามท้าทาย ส.ว. ในวุฒิสภาที่แต่งตั้งมากับมือว่า “ในที่นี้มีใครไม่เชื่อมั่นผมหรือไม่ ขอให้ยกมือ” ปรากฏว่า เงียบกริบกันทั้งวุฒิสภา ไม่กล้าแม้แต่ขยับมือ กลัวลุงตู่เห็น การเมืองไทยปัจจุบันก็เป็นอย่างนี้ ไม่มีอะไรซับซ้อนเลยจริงๆ

แต่ที่จะซับซ้อนและยากลำบากต่อไปในอนาคต ก็คือ เศรษฐกิจและชีวิตความเป็นอยู่ของคนไทยเกือบ 70 ล้านคน ที่ยังมองไม่เห็นแสงสว่างแห่งอนาคต ไม่ว่าในช่วงการระบาดของโควิด­–19 ในเวลานี้ หรือหลังจากที่การระบาดผ่านไปแล้ว 7 ปีกว่าของรัฐบาลลุงตู่ คนไทยยากจนลงไปเรื่อยๆ เดือน “สิงหาคม” นี้ ธนาคารโลก จะส่งทีมลงพื้นที่สำรวจเศรษฐกิจคนไทย เพื่อเก็บข้อมูลประเมินว่า สถานการณ์แพร่ระบาดของโควิด–19 มีผลกระทบต่อรายได้คนไทย หรือ ทำให้คนไทยยากจนมากขึ้นหรือน้อยลง จำนวนเท่าใด

คุณพงศ์นคร โภชากรณ์ ผู้เชี่ยวชาญเศรษฐกิจมหภาค สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง กระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า ที่ผ่านมาธนาคารโลกได้ประเมินว่า นับตั้งแต่เกิดการระบาดโควิด–19 ทำให้คนไทยยากจนเพิ่มขึ้น 1.5 ล้านคน จากคนยากจน 4.3 ล้านคน ในปี 2562 เพิ่มขึ้นเป็น 5.8 ล้านคน ในปี 2563–2564 แต่ตัวเลขที่ประเมินนี้ ยังไม่นับการระบาดรอบที่ 3 ในปีนี้จนถึงปัจจุบัน จึงต้องสำรวจใหม่อีกรอบ

...

ธนาคารโลกใช้คำนิยาม “คนยากจนไทย” ตาม สภาพัฒน์ซึ่งใช้ “รายได้” เป็นตัวกำหนด “ความยากจน” โดย “คนยากจนไทย” เป็น ผู้มีรายได้ตํ่ากว่า 2,763 บาทต่อคนต่อเดือน หรือ ปีละไม่เกิน 33,156 บาท คนยากจนกลุ่มนี้มีอยู่ 5.8 ล้านคนในปัจจุบัน

แต่คำนิยาม “คนยากจน” ของ กระทรวงการคลัง ผ่าน บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ หรือ “บัตรคนจน” มีรายได้ ไม่เกินปีละ 100,000 บาท หรือ ไม่เกิน 8,333 บาทต่อคนต่อเดือน ซึ่งปัจจุบันคนยากจนในคำนิยามของกระทรวงการคลังมีอยู่ 13.7-13.8 ล้านคน

ข้อมูล “คนจนไทยแลนด์” ของ ธนาคารโลก สภาพัฒน์ และ กระทรวงการคลัง ยังไม่ชัดเจนเท่ากับข้อมูลของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้โพสต์ลงในเฟซบุ๊กเมื่อวันจันทร์หลังจากประชุมกับฝ่ายเศรษฐกิจ เปิดเผยถึง หนี้สินของประชาชนรายย่อยที่มีอยู่มากถึง 138 ล้านบัญชี และไม่มีรายได้เพียงพอที่จะใช้หนี้ ซึ่งต้องแก้ปัญหาโดยเร่งด่วนก่อนจะเป็นหนี้เสีย

นายกฯได้แบ่งหนี้ออกเป็น 6 กลุ่ม ดังนี้ 1.หนี้ กยศ. (กู้ยืมเพื่อการศึกษา) 3.6 ล้านคน 2.ผู้คํ้าประกัน 2.8 ล้านคน 3.หนี้ครู/ข้าราชการ 2.8 ล้านบัญชี 4.หนี้เช่าซื้อรถยนต์และมอเตอร์ไซค์ 27.7 ล้านบัญชี 5.หนี้บัตรเครดิตและสินเชื่อบุคคล 49.9 ล้านบัญชี 6.หนี้สินอื่นๆของประชาชน 51.2 ล้านบัญชี รวมเบ็ดเสร็จ 138 ล้านบัญชี เป็นมูลค่ากี่ล้านล้านบาท นายกฯไม่ได้บอก แต่หนี้สินเหล่านี้ผมคิดว่าน่าจะรวมอยู่ใน “หนี้ครัวเรือนของไทย” ที่ สภาพัฒน์ แถลงไปเมื่อเดือน ก่อนว่า ไตรมาส 4 ปี 2563 หนี้ครัวเรือนไทยมีมูลค่า 14.02 ล้านล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 89.3% ของจีดีพีไทย น่าตกใจไหม

ถ้าโควิดไม่จบลงง่ายๆ สภาพัฒน์ ระบุว่า แรงงานเอสเอ็มอีและการท่องเที่ยวหลายสิบล้านคนจะตกงานมากขึ้น แม้แต่ นักศึกษาจบใหม่ปีนี้ราว 490,000 คน ก็จะไม่มีงานทำ

จำเพลงซึ้งๆเมื่อ 7 ปีก่อนได้ไหม...ขอเวลาอีกไม่นาน แผ่นดินที่งดงามจะกลับคืนมา.

“ลม เปลี่ยนทิศ”