ต้องถือเป็นเรื่องที่น่าตกใจและเศร้าใจ ประเทศไทยมาถึงตรงนี้ได้อย่างไร ผลการสำรวจความเห็นของกลุ่มตัวอย่างคนทั้งประเทศ พบว่าส่วนใหญ่เสื่อมความเชื่อถือองค์กรอิสระ ที่เคยได้รับความเชื่อถือในอันดับต้นๆของประเทศ ไม่ว่าจะเป็นคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ

หรือแม้แต่ศาลรัฐธรรมนูญ ซึ่งไม่ใช่องค์กรอิสระ แต่ทำหน้าที่ตรวจสอบถ่วงดุลทางการเมือง เช่นเดียวกับองค์กรอิสระ นายนพดล กรรณิกา ผู้อำนวยการสำนักวิจัยซูเปอร์โพล เปิดเผยผลการสำรวจว่า กกต.ได้รับความไว้วางใจน้อยที่สุด 41.23% ตามด้วย ป.ป.ช. 42.28% และศาลรัฐธรรมนูญได้ไป 43.47%

ทั้งสามองค์กรได้คะแนนไม่ถึงครึ่ง จึงถือว่าสอบตกยกชั้น รวมทั้งคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) มีองค์กรอิสระสอบผ่านเพียงสององค์กร คือคณะกรรมการการตรวจเงินแผ่นดิน 54% และผู้ตรวจการแผ่นดิน 55% เหตุที่ประชาชนไม่ไว้วางใจ เพราะไม่ยึดหลักนิติธรรม จริยธรรม ผู้นำองค์กรขาดคุณสมบัติที่ดี

ผลการสำรวจระบุด้วยว่าองค์กรขาดความน่าเชื่อถือ ขาดความโปร่งใส การตรวจสอบได้ขาดการมีส่วนร่วมของประชาชน และขาดความเป็นอิสระ ปราศจากการแทรกแซง สวนทางกับรัฐธรรมนูญ ม.215 ที่บัญญัติว่า “การปฏิบัติหน้าที่และการใช้อำนาจขององค์กรอิสระ ต้องเป็นไปโดยสุจริต เที่ยงธรรม กล้าหาญ และปราศจากอคติ”

ถ้าขาดความเป็นอิสระ จะปฏิบัติหน้าที่ด้วยความสุจริต เที่ยงธรรม กล้าหาญ ปราศจากอคติได้อย่างไร เพราะแสดงว่าถูกอำนาจการเมืองแทรกแซงครอบงำ อาจต้องทำตามใบสั่ง อาจทำผิดให้เป็นถูก หรือทำถูกให้เป็นผิด เรื่องแบบนี้เคยมีมาแล้วในอดีต ผู้นำบางคนเลยคุยว่าอำนาจของเรา องค์กรอิสระก็ของเรา

...

องค์กรอิสระเป็นเสาหลักหนึ่ง ของระบอบประชาธิปไตย มีอำนาจตรวจสอบการใช้อำนาจของฝ่ายบริหาร นิติบัญญัติ และตุลาการ ด้วยความเที่ยงธรรมและกล้าหาญ แต่ถ้าขาดความอิสระ เสาหลักประชาธิปไตยก็พัง ผลโพลครั้งนี้แสดงว่าเกิดวิกฤติศรัทธาร้ายแรง ในองค์กรอิสระ ต้องเร่งแก้ไขโดยด่วน

ต้องแก้ไขรัฐธรรมนูญ เพื่อแก้ไขให้ถึงต้นเหตุ คือ “ที่มา” ขององค์กรอิสระ ต้องไม่ให้การเมืองแทรกแซงโดยเด็ดขาด แต่การแก้ไขรัฐธรรมนูญมีสิทธิ์ล้มเหลวตามเคย เพราะมีอำนาจขัดขวางอยู่ พึ่งรัฐสภาอย่างเดียวไม่พอ ต้องขอพึ่งอำนาจบารมีประชาชน ด้วยการผลักดันทุกวิถีทางให้ออกเสียงประชามติ.