“ยุบสภา”...อะไรก็เกิดขึ้นได้ มีเสียงพูดกันมากขึ้นเรื่อง “ยุบสภา” แม้จะมีเงื่อนไขหลายอย่างเป็นองค์ประกอบที่เกื้อหนุนโดยเฉพาะล่าสุดคือปัญหาขัดแย้งในพรรคร่วมรัฐบาล

การแก้ไขรัฐธรรมนูญคือประเด็นหลักที่ 3 พรรค คือ ประชาธิปัตย์ ภูมิใจไทย และชาติไทยพัฒนา ซึ่งมีจุดยืนต่างกับพลังประชารัฐ

ยิ่งมีการไปเชื่อมต่อกับภาคเพื่อผลักดันไม่ว่าจะเป็น

ฝ่ายค้าน นอกสภา และภาคประชาชน ซึ่งมีความเคลื่อนไหวที่จะต่อสู้ร่วมกัน

เท่ากับปล่อยให้พลังประชารัฐต้องโดดเดี่ยว ประกาศจะแก้ไขพรรคเดียวไม่สนใจพรรคการเมืองอื่นๆ

แต่ที่รัฐบาลปฏิเสธไม่ได้คือความรับผิดชอบ เพราะเป็น “นโยบาย” เร่งด่วน จึงถูกเร่งเร้าให้ประกาศนำหน้าในเรื่องนี้

แม้บรรดาแกนนำสำคัญของรัฐบาลจะไม่พูดถึงเรื่องนี้อย่างเป็นรูปธรรม แต่ก็เพราะมันไม่สามารถหลุดบ่วงนี้ไปได้

“อนุทิน ชาญวีรกูล” หัวหน้าพรรคภูมิใจไทย ประกาศอย่างชัดเจนว่าอะไรที่เป็นทางเลือกย่อมเป็นประโยชน์ต่อประชาชนอย่าไปปิดกั้นทางเลือก

“ภูมิใจไทย” พร้อมเลือกตั้งอยู่แล้ว

นั่นแสดงถึงความพร้อมที่จะเลือกตั้งหากมีการ “ยุบสภา” ซึ่งเป็นเรื่องที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ จะต้องตัดสินใจเอง

ปกติการเมืองประเทศไทยนั้นรัฐบาลส่วนใหญ่มักจะได้บริหารประเทศในช่วงเวลาสั้นๆ มีน้อยที่จะอยู่จนครบเทอม

ยิ่งเหลือเวลาอีกเพียงไม่มากนักมักจะ “ยุบสภา” แล้วไปเลือกตั้งกันใหม่ เพราะเสถียรภาพชักง่อนแง่นอยู่ต่อไปก็ไร้ประโยชน์

พรรคร่วมรัฐบาลนั้นแม้ยังพอใจที่จะบริหารประเทศต่อไป เพราะบางพรรคยังไม่พร้อมที่จะเลือกตั้ง

พลังประชารัฐพรรคหนึ่งแหละที่ยังไม่พร้อม

...

ที่สำคัญก็คือ “3 ป.” ยังไม่มั่นใจหาก “ยุบสภา” แล้วจะชนะการเลือกตั้งกลับมาเป็นรัฐบาลกุมอำนาจต่อไปได้หรือไม่

แต่ดูเหมือนว่าสถานการณ์การเมืองที่เป็นจริงจะเป็น

ตัวเร้าให้ พล.อ.ประยุทธ์จะต้องตัดสินใจอย่างใดอย่างหนึ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้

โดยเฉพาะความเคลื่อนไหวนอกสภา ซึ่งมิใช่แค่กลุ่มนักศึกษาอย่างที่ผ่านมาเท่านั้น แต่เริ่มมีการประสานกันหลายกลุ่ม

เป้าประเด็นคือนายกฯออกไป

ประสานกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญซึ่งน่าจะมีพลังมากกว่าการเคลื่อนไหวของกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งอย่างที่ผ่านมา

ว่าไปแล้วน่าจะเป็นเรื่องที่จัดการยากขึ้นกว่าปัจจุบันอย่างแน่นอน

หากรัฐบาลยังไม่มั่นใจก็จะอยู่กันอย่างนี้ต่อไป เพียงแต่จะรับมือได้นานแค่ไหนกับแรงกดดันรอบด้าน

ดูแล้วกลุ่มอำนาจในรัฐบาลปัจจุบันคงต่อสู้ในทุกรูปแบบ ทั้งในสภาและนอกสภาเพื่อเอาชนะให้ได้

เพราะแต่ละฝ่ายต่างก็เดินมาถึงจุดที่ประนีประนอมกันต่อไปไม่ได้แล้ว.

“สายล่อฟ้า”