ทุกครั้งที่เกิดความขัดแย้งทางการเมือง มักจะมีข่าวลือเรื่องรัฐประหาร ในฐานะที่เป็นทางออกหนึ่ง โดยอ้างว่าประเทศถึงทางตัน ไม่สามารถหาทางออกได้โดยสันติ ตามวิถีทางรัฐธรรมนูญ ในวิกฤติการเมืองครั้งนี้ นอกจากจะมีข่าวลือเรื่องรัฐประหารแล้ว ยังมีบางกลุ่มเรียกร้องให้ “ปฏิวัติ” ซึ่งก็คือรัฐประหารนั่นเอง
มีคำตอบจาก พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี จะไม่มีรัฐประหาร ส่วน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีกลาโหม ตอบว่าเรื่องเหล่านี้ต้องระมัดระวังสถานการณ์ไม่ให้บานปลาย “แต่ไม่ได้หมายความว่าจะมีหรือไม่มีการปฏิวัติ เพียงแต่ไม่มีใครอยากทำ” ไม่ได้ยืนยันการยึดอำนาจโดยเด็ดขาด
นักวิชาการบางคนระบุว่า 88 ปีที่ผ่านมา หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง ประเทศไทยมีการใช้กำลังทหารยึดอำนาจ ล้มรัฐบาลที่มาจากเลือกตั้งแล้วถึง 19 ครั้ง อยู่ในอันดับต้นๆของโลก และอาจเป็นอันดับที่ 1 ของเอเชีย มองย้อนหลังกลับไปดูในบรรดารัฐประหารสิบกว่าครั้ง ที่ครั้งใดที่สร้างคุณูปการแก่ประเทศชาติ
เป็นคุณูปการที่ถูกจารึกไว้ในประวัติศาสตร์ เป็นผลงานที่จดจำจนชั่วลูกชั่วหลาน สามารถขจัดความขัดแย้ง สร้างความสมานฉันท์ได้ ดูเหมือนจะหายากเต็มที รัฐประหารส่วนใหญ่อาจทำให้เกิดความสงบได้ชั่วครั้งชั่วคราว รัฐประหารบางครั้งบานปลาย กลายเป็นความรุนแรงรอบใหม่ เช่น รัฐประหาร รสช. กับพฤษภาทมิฬ 2535
รัฐประหาร 22 พฤษภาคม 2557 โดยคณะ คสช.อ้างว่าเข้ามาเพื่อรักษาความสงบเรียบร้อย ขจัดความขัดแย้งในสังคม สร้างความสมานฉันท์ปรองดอง และสัญญาว่าจะ “ปฏิรูป” ประเทศในทุกด้าน ตามข้อเรียกร้องของ กปปส.ที่ชุมนุมยืดเยื้อและชูคำขวัญ “ปฏิรูปก่อนเลือกตั้ง” ให้ไทยเป็นประชาธิปไตยแท้
...
แต่ผลที่ได้รับก็คือรัฐธรรมนูญ เจ้าปัญหา รัฐบาล การเมือง และเศรษฐกิจของประเทศ และประชาชนอย่างที่เห็นๆกันอยู่ ความสงบของบ้านเมือง กลายเป็นความสงบชั่วคราว แต่เกิดความขัดแย้งทางการเมืองร้อนแรงกว่าเดิม จากการลุกขึ้น มาทวงถามสิทธิเสรีภาพ ประชาธิปไตยของกลุ่มคนรุ่นใหม่
แต่กลับมีบางฝ่ายพูดถึง และเรียกร้องให้แก้ไขปัญหาการเมืองแบบเก่าๆ ที่ไม่เคยแก้ปัญหาอย่างแท้จริง ซํ้ายังทำให้ประชาธิปไตยล้มลุกคลุกคลานไม่รู้จบสิ้น แทนที่จะเรียกร้องให้ผ่าทางตันอย่างสันติวิธี ตามวิถีทางรัฐธรรมนูญ ขอวิงวอนอย่าให้ประวัติศาสตร์ซํ้ารอย การต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย กลายเป็นเพื่อเผด็จการ.