ต้องถือว่าเป็นคำปราศรัยที่ประสบความสำเร็จมากที่สุดของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นั่นก็คือแถลงการณ์ผ่านโทรทัศน์ทั่วประเทศ เมื่อวันพุธที่ผ่านมา มีเสียงตอบรับอย่างกว้างขวางทั้งจากสื่อและนักวิชาการบางคนมองว่าเป็นคำประกาศชัยชนะโควิด บ้างก็ว่าเป็นคำประกาศวิสัยทัศน์ใหม่ในการบริหารประเทศ

ทีมข่าวการเมืองไทยรัฐสรุปคำปราศรัยของนายกรัฐมนตรีอย่างย่นย่อและได้ใจความว่า “หลักการหรู รอดูปฏิบัติ” นักวิชาการบางคนวิจารณ์ว่า นายกรัฐมนตรีพยายามที่จะใช้อุดมการณ์ “ชาตินิยม” เพื่อชี้ให้เห็นการร่วมมือกันของผู้คนในปัจจุบัน บางคนมองว่าเป็นการเรียกศรัทธาจากแฟนคลับ เพราะรัฐบาลไม่มีผลงานที่เด่นชัด

นักวิชาการบางคนวิจารณ์ว่า เป็นการพูดเพื่อเบี่ยงเบนปัญหา เพราะโพลสาธารณะหลายแห่งสอดคล้องกันว่า คะแนนนิยมรัฐบาลตกลงทุกด้าน ทั้งยังเกิดแตกแยกในพรรคพลังประชารัฐ เศรษฐกิจก็ถดถอยอย่างรุนแรง จึงต้องเบี่ยงเบนความสนใจทั้งสามปัญหาด้วยการประดิษฐ์วาทกรรม “รวมไทยสร้างชาติ” ไม่ใช่ของใหม่

ส่วนที่เป็นวาทกรรมสวยหรู ได้แก่ คำประกาศเปลี่ยนแปลงวิธีการทำงานใหม่เป็นนิวนอร์มอล ให้ทุกภาคส่วนร่วมกันวางอนาคต มีบทบาทมากขึ้นในการกำหนดอนาคตประเทศ รัฐบาลพร้อมรับฟังความคิดเห็นประชาชน และขอเชิญชวนทุกคนให้มีส่วนร่วมสอดคล้องกับหลักการประชาธิปไตย แม้จะไม่พูดคำ “ประชาธิปไตย”

จึงมีเสียงวิจารณ์ว่า นายกรัฐมนตรีเริ่มเกิดดวงตาเห็นธรรม มองเห็นหลักการและคุณงามความดีของประชาธิปไตย แม้จะเคยเป็นหัวหน้าคณะรัฐประหารที่โค่นล้มรัฐบาลประชาธิปไตย แต่อาจไม่เนียนพอ เช่น พูดว่า “เปิดโอกาส” ให้ประชาชนมีส่วนร่วม เพราะการมีส่วนร่วมและการแสดงความคิดเห็นเป็น “สิทธิ” ของประชาชน

...

ไม่ใช่แก้ววิเศษหรือรางวัลที่รัฐบาลหรือผู้นำหยิบยื่นให้ แต่การแสดงความเห็นและการมีส่วนร่วมเป็น “สิทธิ” ตามรัฐธรรมนูญ สิ่งที่รัฐบาลพึงทำคือ การอำนวยความสะดวกและปกป้องการใช้สิทธิและเสรีภาพของประชาชน ไม่ใช่ขัดขวาง เช่น การจับกุมดำเนินคดีหรือการขู่ไม่ให้ประชาชนออกมาแสดงความเห็น โดยอ้าง พ.ร.ก.ฉุกเฉิน

นายกรัฐมนตรีประกาศว่า เป้าหมายคือความเจริญรุ่งเรืองของประเทศรอเราอยู่ เส้นทางนี้ไม่ใกล้ แต่ไม่ไกลจนเกินไป หวังว่าจะไม่เหมือนกับบทเพลงที่ว่า “แผ่นดินจะดีในไม่ช้า ขอคืนความสุขให้เธอ ประชาชน” และการเดินสู่เป้าหมายจะต้องยึดมั่นในบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญและการปกครองระบอบประชาธิปไตย.