การลุกฮือขึ้นมาประท้วงบางครั้ง บานปลายกลายเป็นจลาจลที่ลุกลามไปยังเมืองใหญ่ๆในสหรัฐอเมริกา ย่างเข้าสัปดาห์ที่ 3 แล้ว และยังไม่มีทีท่าว่าจะยุติยังลามไปถึงประเทศประชาธิปไตยใหญ่ๆทั่วโลก ทั้งอังกฤษ ฝรั่งเศส อิตาลี และแคนาดา ที่นายกรัฐมนตรี (หนุ่ม) ทรูโดออกมาประท้วงด้วย ต้องถือว่าเพราะ “น้ำผึ้งหยดเดียว”

มูลเหตุของการประท้วงคือ การเสียชีวิตของจอร์จ ฟลอยด์ หนุ่มอเมริกันผิวสีเชื้อสายแอฟริกา ที่ถูกตำรวจผิวขาวจับมัดมือไพล่หลัง และใช้เข่ากดคอจนสิ้นใจ ฝูงชนที่หลั่งไหลออกมาชุมนุมประท้วง จึงประกาศเพื่อความยุติธรรม พร้อมด้วยป้ายคำขวัญ “ไม่มีความยุติธรรม ไม่มีความสงบสุข” อะไรคือยุติธรรม

น่าจะหมายถึงต้องการให้ดำเนิน คดีนายตำรวจผิวขาวด้วยข้อหาฆ่าคนตาย หรือ “สามัญฆาตกรรม” ไม่ใช่ “วิสามัญฆาตกรรม” ที่ชอบอ้าง เมื่อเร็วๆนี้ก็เกิดเรื่องแบบเดียวกันที่อีสานของไทย เจ้าหน้าที่รัฐบุกไป “อุ้ม” สองพี่น้องสงสัยเสพยาบ้า นำตัวไป “สอบสวน” ในเวลาค่ำคืน คนหนึ่งเสียชีวิตอีกคนสาหัส แต่เรื่องเงียบหาย

ในสหรัฐอเมริกาขณะนี้ต้องเผชิญกับ “ไวรัส” พร้อมกันถึงสองตัว ตัวแรกคือ โควิด-19 ตัวที่สองได้แก่ ลัทธิเหยียดผิว ที่ฝังลึกในสังคมอเมริกัน เพราะเคยซื้อขายคนผิวสีเป็นทาส ประธานาธิบดีอับราฮัม ลินคอล์น ผู้ประกาศเลิกทาส ถูกมือปืนผิวขาวล้างแค้นด้วยการลอบสังหารในโรงละคร การเลิกทาสผ่านมากว่าร้อยปีแต่การเหยียดผิวยังอยู่

การชุมนุมประท้วงที่ปะทุขึ้นระลอกแรกในสหรัฐอเมริกา มีทั้งชุมนุมโดยสงบและไม่สงบ มีบางฝ่ายแสดงความโกรธแค้นด้วยการเผา บางฝ่ายฉวยโอกาสปล้น กลายเป็นจลาจลในหลายเมือง แต่ในระยะหลังๆ การชุมนุมส่วนใหญ่เป็นไปด้วยความสงบ เปรียบเทียบกับการชุมนุมทาง การเมืองของไทย มักจะไม่สงบและนองเลือด

...

ส่วนเหตุผลของการประท้วง ที่เรียกว่าเพื่อความยุติธรรมนั้น เป็นไปตามหลักการประชาธิปไตย โดยเฉพาะบทที่ว่าด้วยสิทธิและเสรีภาพของประชาชนธรรมนูญไทยเขียนไว้ชัดในมาตรา 4 ว่า “ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ สิทธิ เสรีภาพ และความเสมอภาคของบุคคล ย่อมได้รับความคุ้มครอง” และมาตรา 28 การจับกุมต้องมีหมายจับ

แนวความคิดเรื่องสิทธิ เสรีภาพ ประชาธิปไตย และศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ รัฐธรรมนูญไทย ได้แนวความคิดมาจากโลกตะวันตก แต่ต่างกันในภาคปฏิบัติสังคมประชาธิปไตยตะวันตกลุกขึ้นต่อต้านในหลายประเทศทั่วโลก เมื่อมีการทำลายศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ แต่กลายเป็นแค่วาทกรรมเท่ๆที่จารึกในรัฐธรรมนูญไทย.