คณะกรรมาธิการกิจการองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญ วุฒิสภาที่มี กล้านรงค์ จันทิก เป็นประธาน เชิญ สตง. ป.ป.ช.และผู้ตรวจการแผ่นดิน มาหารือเกี่ยวกับ พ.ร.ก. 3 ฉบับ คือ พ.ร.ก.ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อแก้ไขปัญหา เยียวยา และฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของไวรัสโควิด-19
พ.ร.ก.ให้ความช่วยเหลือทางการเงินแก่ผู้ประกอบวิสาหกิจที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 และ พ.ร.ก.การรักษาเสถียรภาพของระบบการเงินและความมั่นคงทางเศรษฐกิจของประเทศ
ได้ข้อสรุปดังนี้คือ 1.ขอให้นำเงินกู้มาแก้ปัญหาให้ตรงตามวัตถุประสงค์ 2.ไม่ให้มีการทุจริต โดยเชื่อว่ารัฐบาลต้องการแก้ไขปัญหา แต่ต้องยอมรับว่ากลไกของรัฐและเจ้าหน้าที่ในทางปฏิบัติอาจจะมีข้อบกพร่องเกิดการทุจริตได้ โดยเฉพาะการจัดซื้อจัดจ้าง 3.การให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วม 4.การประเมินผลสัมฤทธิ์ โดยให้ประชาชนเข้ามาร่วมตรวจสอบด้วย
ในส่วนของกรรมาธิการมีการเป็นห่วง เรื่องการจัดซื้อ ที่ต้องยกเว้นระเบียบต่างๆ และการขัดกันแห่งประโยชน์ การยักยอกทรัพย์สิน รวมไปถึง การรับผลประโยชน์ ที่คณะกรรมาธิการฯได้แจ้งให้องค์กรอิสระทุกองค์กรมีส่วนเข้าไปตรวจสอบอย่างเข้มงวด อาทิ ให้มีการจัดทำเว็บไซต์เพื่อเปิดเผยโครงการและกระบวนการร้องเรียน ที่สะดวกและรวดเร็ว ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในการตรวจสอบตามมาตรา 63 แห่งรัฐธรรมนูญ
ด้าน วรวิทย์ สุขบุญ เลขาธิการ ป.ป.ช. ระบุว่า การลงพื้นที่ปฏิบัติจริงมีความเสี่ยงและเกิดการรั่วไหลได้ โดย ป.ป.ช. มีเครื่องมือในการทำงาน 3 ข้อ ได้แก่ 1.การเสนอมาตรการต่อรัฐโดยศึกษาแผนงานและโครงการต่างๆที่จะสอดคล้องกับเรื่องของการประเมินความเสี่ยงทางนโยบายที่นำเสนอไปยัง ครม.อยู่แล้ว 2.ในช่วงการแพร่ระบาดของโควิด-19 ป.ป.ช. ได้ปักหมุดพื้นที่เสี่ยง โดยอาศัยอาสาสมัครรวบรวมข้อมูล 3.การใช้อำนาจตามมาตรา 48 พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต สามารถไต่สวนข้อเท็จจริงเป็นการเฉพาะ และมีกองทุนสร้างการมีส่วนร่วมของประชาชนในการป้องกันปราบปรามการทุจริตอีกด้วย
...
เช่นเดียวกับ ประจักษ์ บุญยัง ผู้ว่าการการตรวจเงินแผ่นดินที่ยืนยันว่า สตง. จะเข้าไปตรวจสอบการใช้เงินเพื่อให้เกิดความโปร่งใส และเกิดประโยชน์สูงสุด สถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิดที่ผ่านมา สตง.ได้ลงไปช่วยให้คำปรึกษาหลายหน่วยงานที่มีความกังวลเรื่องการใช้งบประมาณ เพื่อให้ดำเนินการได้อย่างถูกต้องและโปร่งใส รวมทั้งเรื่องการให้ความช่วยเหลือทางการเงินกับผู้ประกอบวิสาหกิจ ที่อยู่ในการดูแลของ ธปท. และ สตง. มีสถานะเป็นผู้สอบบัญชีของ ธปท. อยู่แล้ว จึงสามารถที่จะเข้าไปตรวจสอบการใช้เงินในกรณีนี้ด้วยว่าถูกต้องหรือไม่
ในส่วนของผู้ตรวจการแผ่นดิน รักษเกชา แฉ่ฉาย เลขาธิการสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน รับที่จะหาวิธีทำให้การทำงานของภาครัฐ มีประสิทธิภาพและเป็นธรรม ที่เป็นต้นทางของการป้องกันและปราบปรามการทุจริต ที่จะเร่งทำงานในเชิงรุกต่อไป ทั้งหมดนี้เป็นกระบวนการในการที่จะตรวจสอบ จับผิด และแก้โกงการใช้จ่ายงบประมาณเงินกู้ 1.9 ล้านล้านบาทเพื่อให้ถึงมือชาวบ้านเต็มเม็ดเต็มหน่วยและมีประสิทธิภาพสูงสุด ที่ต้องทำหน้าที่ให้สมราคาคุยด้วย.
หมัดเหล็ก
mudlek@thairath.co.th