ยอดผู้ติดเชื้อ ไวรัสโควิด-19 ในประเทศไทย เพิ่มขึ้นจำนวนวันละกว่า 100 คน ถ้ายังอยู่ในระดับนี้และไม่มีทีท่าว่า การแพร่ระบาดของโรคจะยุติลงเมื่อไหร่ ยอดผู้ติดเชื้อภายใน 3 เดือนคาดว่าน่าจะอยู่ที่หลักหมื่น และจำนวนผู้เสียชีวิตก็จะเพิ่มขึ้นตามมาเช่นกัน ในอัตราที่เฉลี่ยผู้ป่วย 1 พันรายต่อผู้เสียชีวิต 1 ราย ในขณะที่ยอดผู้ติดเชื้อทั่วโลก คงหนีไม่พ้นจำนวน นับล้านราย ตราบใดที่ยังไม่มีวัคซีนในการป้องกันเชื้อไวรัสชนิดนี้ ยิ่งจำนวนผู้ป่วยมากขึ้นเท่าไหร่ การรับมือของบุคลากรทางการแพทย์ในการรักษาพยาบาลก็ยิ่งจะลดประสิทธิภาพลงเท่านั้น

และตราบใดที่ยังมีการเคลื่อนย้ายของประชากร ยังมีคนที่เดินทางเข้าออกประเทศไทยทั้งจากประเทศในอาเซียนด้วยกันจากตะวันออกกลาง จากยุโรปและอเมริกา การแพร่ระบาดก็ยังไม่มีทางสิ้นสุด เนื่องจากมีการตรวจพบผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นสำหรับผู้ที่เดินทางกลับจากต่างประเทศ ในขณะที่ผู้ติดเชื้อจากสนามมวยลุมพินี และแหล่งบันเทิงย่านทองหล่อลดลง

คำถามก็คือว่า รัฐบาล จะประกาศ เคอร์ฟิว ห้ามออกจากบ้าน 24 ชั่วโมง ห้ามมีการเคลื่อนย้ายประชากร ได้เหมือนกับที่จีน ปิดเมืองอู่ฮั่น ได้หรือไม่ คำตอบก็คือ จลาจล เพราะความไม่พร้อมของภาครัฐ ในการที่จะบริหารจัดการหลังจากที่มีการประกาศเคอร์ฟิวไปแล้ว เพราะฉะนั้นที่ทำได้ก็เพียงการจำกัดเวลาในการเดินทางออกนอกเคหสถาน การจำกัดเวลาในการเปิดร้านค้าอุปโภคบริโภค หรือการปิดการคมนาคมในพื้นที่เสี่ยงบางพื้นที่เท่านั้น

ต่อมา เรื่องของงบประมาณในการเยียวยา ผู้ที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ทุกคนก็เป็นผู้ได้รับผลกระทบทั้งหมด เดือดร้อนทุกคน ในขณะที่รัฐจำกัดการเยียวยาเฉพาะบางคนบางกลุ่ม เพราะงบประมาณมีจำกัด มีคนไปขุดการใช้งบประมาณของรัฐบาลดังนี้ เดือน มี.ค. แค่เดือนเดียว รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา อนุมัติงบฉุกเฉินไปแล้ว 96,000 ล้านบาท หมดหน้าตัก

...

งบกลางปี 2563 ตั้งเอาไว้ 11 รายการ เป็นวงเงินรวม 518,000 ล้านบาท อยู่ในการดูแลของกรมบัญชีกลาง 7 รายการ 418,771 ล้านบาท แบ่งเป็นเงินทดรองช่วยเหลือผู้ประสบภัย 3,000 ล้านบาท ค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลข้าราชการ พนักงานของรัฐ 71,200 ล้านบาท เงินช่วยเหลือข้าราชการ พนักงานของรัฐ 4,940 ล้านบาท เงินเบี้ยหวัดบำเหน็จบำนาญ 265,716 ล้านบาท เงินเลื่อน เงินเดือน เงินปรับวุฒิ 10,465 ล้านบาท เงินสะสมลูกจ้างประจำ 670 ล้านบาท และเงินสำรองสมทบเงินชดเชยข้าราชการอีก 62,780 ล้านบาท ส่วนใหญ่จะเป็นรายจ่ายประจำสูงมาก

ที่เหลืออีกประมาณ 1 แสนล้าน ขึ้นอยู่กับสำนักงบประมาณ ซึ่งการสำรองจ่ายกรณีฉุกเฉิน 96,000 ล้าน เริ่มจากวันที่ 3 มี.ค. ครม.อนุมัติให้มหาดไทย 225 ล้าน ค่าจัดทำหน้ากากอนามัย ให้สาธารณสุข 1,233 ล้านเตรียมความพร้อมป้องกันโควิดระยะที่ 2 วันที่ 10 มี.ค.อนุมัติให้คลัง 20,000 ล้าน เยียวยาผลกระทบเฟส 1 วันที่ 17 มี.ค.อนุมัติ 17,310 ล้าน ป้องกันโควิด 9,002 ล้านภัยแล้งอีก 8,308 ล้าน วันที่ 24 มี.ค.ลดผลกระทบเฟส 2 เยียวยาคนละ 5,000 บาท ให้แบงก์รัฐไปจัดทำมาตรการเสริมความรู้และให้เกษตรฯไปป้องกันอหิวาต์ในหมูรวมแล้ว 45,000 ล้าน คำถามสุดท้ายระยะทางที่เหลือ รัฐบาลจะผ่าทางตันอย่างไร ต่อไป.

หมัดเหล็ก
mudlek@thairath.co.th