ท่ามกลางข่าวร้ายอาจมีข่าวดี ท่ามกลางวิกฤติอาจมีโอกาส ศูนย์วิจัยและพัฒนานวัตกรรม ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) คาดการณ์ว่าราคาสินค้าเกษตรในเดือนเมษายนนี้ จะปรับตัวสูงขึ้น ได้แก่ ข้าวเปลือกเจ้า ราคาอยู่ที่ 8,637–8,690 บาท/ตัน ข้าวเปลือกหอมมะลิ ราคาอยู่ที่ 14,023–14,589 บาท
นายสมเกียรติ กิมาวหา ผู้ช่วยผู้จัดการ ธ.ก.ส.ชี้แจงว่า เหตุที่ราคาสินค้าเกษตรมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น เนื่องจากความ ต้องการข้าวในตลาดโลกเพิ่มขึ้น เพราะการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด–19 มีคำสั่งซื้อข้าวจากประเทศที่มีการระบาด เพื่อสำรองไว้บริโภค และเพิ่มความมั่นคงด้านอาหาร เช่น สหรัฐอเมริกา สิงคโปร์ และ สหภาพยุโรป
สอดคล้องกับรายงานข่าวหน้าเศรษฐกิจ “ไทยรัฐ” ที่ระบุว่า สิงคโปร์กับนิวซีแลนด์เตรียมชักจูงไทย เวียดนาม และอินเดีย ซึ่งเป็นประเทศผู้ผลิตและส่งออกข้าวรายใหญ่ของโลก ให้ทำข้อตกลงจะไม่ห้ามส่งออก หรือจำกัดการส่งออกข้าวในช่วงโควิด–19 ระบาด เพราะอาจทำให้สิงคโปร์ขาดแคลนข้าวบริโภคในยามวิกฤติ
โควิด–19 เป็นเจ้าตัวร้ายที่คุกคาม และทำลายชีวิตของประชากรทั่วโลกนับหมื่นนับแสน แต่ก็ยังให้คุณเล็กๆน้อยๆแก่ประเทศไทย โดยเฉพาะชาวนาผู้ผลิตข้าวเปลือกเจ้า และข้าวเปลือกหอมมะลิ ที่อาจขายได้ราคาที่ถือว่าดี เกือบเท่ากับยุครับจำนำข้าว แต่เป็นไปตามกลไกตลาด เพราะชาวโลกต้องการข้าวไทย
แต่น่าเสียดายที่ชาวนาไทยอาจไม่ได้รับอานิสงส์ขายข้าวได้ราคากันโดยถ้วนหน้า เนื่องจากฤดูกาลผลิต 2562–2563 นี้ ประเทศไทยประสบภัยแล้งรุนแรงที่สุด ในรอบหลายปี จึงผลิตข้าวได้น้อยลง ข้อมูลจากสมาคมผู้ส่งออกข้าวไทยระบุว่า ขณะนี้ภาคเอกชนมีข้าวในสต๊อกไม่ต่ำกว่า 4 ล้านตันข้าวสารมีข้าวนาปรังอีก 5 ล้านตัน
...
ประเทศไทยจึงมีข้าวเพื่อการบริโภคอย่างเหลือเฟือ คนไทยจึงไม่ต้องแห่กักตุนข้าวสารจนวุ่นวาย เหมือนกับกรณีหน้ากากอนามัยกับไข่ไก่ ผู้เชี่ยวชาญเรื่องไข่ไก่ยืนยันว่าประเทศไทยมีไข่ไก่เพียงพอ เพราะผลิตได้วันละ 40–41 ล้านฟอง แต่บริโภคภายในประเทศแค่ 38–39 ล้านฟองต่อวัน ผู้กักตุนไข่ไก่และหน้ากากอนามัยคือผู้มีเจตนาร้าย
คนไทยไม่ควรต้องกังวลว่าจะเกิดการขาดแคลน เรื่องข้าวปลาอาหารและสิ่งจำเป็นอื่นๆในขณะที่อยู่ภายใต้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ประเทศไทยเป็นผู้ส่งออกข้าว และอาหารรายใหญ่ของโลก ไทยเป็นแชมป์ผู้ส่งออกข้าวมากที่สุดของโลก แต่ถูกอินเดียและเวียดนามแย่งไปในช่วงรับจำนำข้าว ไม่ทราบว่าคราวนี้ข้าวขึ้นราคาจะอยู่ได้นานแค่ไหน.